xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำฯ จะบรรลุผลต้องเลิก ‘อภัยโทษสุดซอย’ ด้วย !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน



คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา


ช่วงนี้มีร่างกฎหมายปฏิรูปสำคัญ ๆ เข้ามาสู่การพิจารณาของสภาหลายฉบับ มีอยู่ 2 ฉบับที่เกี่ยวกับความผิดทางอาญาเหมือนกัน โดยเป็นเสมือน 2 ด้านของเหรียญ และผมบังเอิญได้เข้าอยู่ในคณะกรรมาธิการที่ทำหน้าที่พิจารณาร่างฯ ทั้ง สองนี้

จึงจะขอนำมาเล่าสู่กันฟังแบบง่าย ๆ

ฉบับหนึ่งมุ่งแก้ปัญหาโทษอาญาเฟ้อ

นั่นคือร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. ที่ผมเล่าสู่กันฟังไปแล้ว 2 ครั้งในรอบ 2 สัปดาห์ (“ปรับเป็นพินัย - ความผิดทางพินัย” ก้าวแรกของการแก้ปัญหาโทษทางอาญาเฟ้อ!,“ความผิดทางพินัย” เหตุผล(ของผู้ร่างฯ)ที่ไม่นิยามศัพท์ !) และจะทยอยเล่าต่อ ๆ ไป

วันนี้จะเล่าถึงร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ผมมองว่าอยู่คนละด้านของเหรียญโดยแท้ คือ…

“ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….”

เพราะเป็นมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการกระทำผิดซ้ำสำหรับบุคคลผู้กระทำความผิดทางเพศและความผิดอาญาร้ายแรงจำนวนหนึ่งที่ระบุไว้ นักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษแล้วแต่ ‘มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า’ อาจกระทำความผิดซ้ำอีก จะต้องเข้าสู่มาตรการเฝ้าระวังที่มีอยู่ 3 ระดับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี หรือสูงสุดรวมทุกมาตรการแล้วไม่เกิน 10 ปี

หนึ่งในมาตรการเฝ้าระวังนี้มีการ ‘คุมขัง’ รวมอยู่ด้วย

‘คุมขัง’ เป็นศัพท์ใหม่ที่นำมาใช้ในร่างกฎหายนี้ ไม่ใช่ ‘จำคุก’ ‘กักขัง’ หรือ ‘กักกัน’ ตามประมวลกฎหมายอาญา
‘คุมขัง’ จึงไม่ใช่โทษทางอาญา

เมื่อไม่ใช่โทษทางอาญา ร่างกฎหมายนี้จึงบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้มีผลย้อนหลังได้

แต่แม้ไม่ใช่โทษทางอาญา ก็ต้องยอมรับว่ามีความละม้ายกันอยู่ในที คือเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคล จำกัดเสรีภาพของบุคคลที่เป็นนักโทษเด็ดขาดทางอาญาที่พ้นโทษแล้วแต่ ‘มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า’ อาจจะกระทำความผิดซ้ำ


ไม่เพียงแต่เท่านั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้มีมาตรการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับนักโทษเด็ดขาดระหว่างที่ต้องโทษอยู่ในคดีความผิดทางเพศและความผิดทางอาญารุนแรงเรียกว่า…

“มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด”

ที่ระบุไว้ขัดเจนในมาตรา 19 วรรคสอง (1) คือ…

“มาตรการทางการแพทย์”

แน่นอนว่าต้องกระทำโดยคำสั่งศาลตามที่พนักงานอัยการร้องขอ แต่รายละเอียดของมาตรการมีอะไรและมีกระบวนการอย่างไรบ้างนั้น ร่างกฎหมายบัญญัติให้ไปอยู่ในกฎกระทรวง และข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

‘ฉีดไข่ฝ่อ’ หรือการทำให้อวัยวะเพศชายฝ่อ หรือการกดฮอร์โมนเพศชาย เป็นหนึ่งในมาตรการทางการแพทย์นี้

กรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้ดำเนินการโดยแพทย์ตามคำสั่งศาล


สรุปภาพรวมว่าหากร่างกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ นักโทษเด็ดขาดในคดีความผิดทางเพศและความผิดอาญาร้ายแรงที่ระบุไว้มีโอกาสได้รับมาตรการเพิ่มเติม ทั้งระหว่างถูกจำคุกและหลังจากพ้นโทษจำคุกออกมาแล้ว

กระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมราชทัณฑ์ จะเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการตามร่างกฎหมายนี้

เป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม

รัฐมนตรียุติธรรมผลักดันเต็มที่

ก่อนหน้านี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควร ทั้งเห็นด้วยเต็มที่ และเห็นด้วยแต่ท้วงติงตั้งข้อสังเกตบางประการ ทั้งในประเด็นฉีดไข่ฝ่อ คุมขังหลังพ้นโทษ และอื่น ๆ ด้านหนึ่งเพราะแม้จะเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยของสังคม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลค่อนข้างมาก และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องประสิทธิผล อีกด้านหนึ่งเห็นว่าออกจะเป็นการย้อนแย้งหรือไม่ที่เรากำลังมาสร้างมาตรการพิเศษใหม่ต่าง ๆ รวมถึง ‘คุมขัง’ หลังพ้นโทษ ทั้ง ๆ ที่มาตรการ ‘จำคุก’ เดิมมีปัญหา หลายกรณีนักโทษเด็ดขาดถูกจำคุกจริงไม่ถึง 1 ใน 3 ของคำพิพากษาก็ถูกปล่อยตัวพ้นโทษไป สมควรแก้ไขปัญหาหลักที่แท้จริงของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นบังคับโทษที่ผิดเพี้ยนเห็นตำตาในขณะนี้เสียก่อนหรืออย่างน้อยก็พร้อม ๆ กันไป

แม้แต่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ทำหน้าที่ตรวจร่างกฎหมายฉบับนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีและตามกระบวนการตรากฎหมายของประเทศไทย เมื่อตรวจแก้ร่างนี้เสร็จและส่งกลับคณะรัฐมนตรี ก็ยังตั้งข้อสังเกตมารวม 3 ประการ

ทั้งนี้ เป็นการตั้งข้อสังเกตมาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะ 11 ที่ทำหน้าที่ตรวจร่างนี้โดยตรง


กฤษฎีกาคณะ 11 เป็นคณะที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านกฎหมายอาญา มีท่านอาจารย์คณิต ณ นครเป็นประธาน

แม้ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรครบทั้ง 3 วาระ และผ่านวาระ 1 วุฒิสภาแล้ว กำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา แต่การนำข้อสังเกตของครูบาอาจารย์ด้านกฎหมายอาญาในกฤษฎีกาคณะ 11 มากล่าวถึง ณ ที่นี้ก็น่าจะมีประโยชน์ในกรณีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ จะได้รู้ว่าในมุมมองของผู้ตรวจร่างกฎหมายนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมควรต้องดำเนินมาตรการใดควบคู่กันไปเพื่อให้กฎหมายใหม่และมาตรการใหม่มีบรรลุผลอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะข้อสังเกตข้อ 3 ของกฤษฎีกาคณะ 11 สอดคล้องกับการต่อสู้ประเด็น ‘อภัยโทษสุดซอย’ ของ ส.ว. สมชาย แสวงการ ที่ยังรอคำตอบอยู่ขณะนี้ด้วย

ข้อสังเกตข้อ 3 ของกฤษฎีกาคณะ 11 มีว่า…

“ปัญหาสำคัญของการบังคับโทษทางอาญา คือ อำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่างศาลและกรมราชทัณฑ์ ในขณะที่ศาลมีอำนาจทำคำพิพากษาให้จำคุกได้ตามดุลพินิจของศาล แต่กรมราชทัณฑ์กลับลดโทษและพักการลงโทษที่ศาลพิพากษาไว้ได้เช่นกัน ทำให้ผู้กระทำความผิดถูกจำคุกจริงไม่ถึงตามระยะเวลาที่ศาลพิพากษาไว้ กลายเป็นคำพิพากษาของศาลถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยฝ่ายบริหารได้ เป็นปัญหาอำนาจที่ย้อนแย้งกัน ควรแก้ไขกฎหมายให้คำพิพากษาของศาลมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นหลักประกันให้กับสังคมได้ มากกว่าที่จะออกร่างพระราชบัญญัตินี้ เพราะหากไม่แก้ไขแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด แม้ออกร่างกฎหมายนี้ไปแล้วก็ไม่อาจบรรลุได้ตามวัตถุประสงค์ สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาวางนโยบายในเรื่องนี้อย่างรอบคอบ”
พร้อม ๆ กับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวุฒิสภา หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามข้อสังเกตข้อ 3 ของกฤษฎีกาคณะ 11 ให้ครบถ้วน ก็จะเป็นการทำให้วิธีการเพื่อความปลอดภัยของสังคมเกิดความสมบูรณ์มากที่สุด

และตอบโจทย์ที่สังคมกังขาได้ครบถ้วน

คำนูณ สิทธิสมาน

สมาชิกวุฒิสภา
13 มีนาคม 2565








กำลังโหลดความคิดเห็น