xs
xsm
sm
md
lg

“ปรับเป็นพินัย - ความผิดทางพินัย” ก้าวแรกของการแก้ปัญหาโทษทางอาญาเฟ้อ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน



นายคำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ….

รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปฉบับสำคัญของรัฐสภา - อาจจะสำคัญที่สุดเสียด้วยซ้ำ - เพราะถ้าสำเร็จมีผลบังคับใช้ประชาชนจะได้ประโยชน์โดยตรงอย่างถาวร

“ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ….”

ด้านหนึ่งทำหน้าที่พิจารณาร่างฯ ที่ผ่านวาระ 1 มาแล้วก็จริง แต่อีกด้านหนึ่งก็เปรียบเสมือนได้กลับเข้า ‘โรงเรียน’ อีกครั้ง

ประเด็นที่ถกกันในห้องแต่ละประเด็น นอกจากจะมีคุณค่าทางวิชาการแล้ว ยังช่วยจุดชนวนความคิดให้ต่อยอดไปอีกหลายด้านหลากมิติ

เพราะร่างกฎหมายปฏิรูปฉบับนี้นอกจากจะเป็นแนวคิดใหม่ทางกฎหมายในประเทศไทยแล้ว ในคณะกรรมาธิการยังอุดมไปด้วยผู้รู้ทางกฎหมายและการร่างกฎหมายระดับกูรูต่างฝ่ายต่างวัย

ท่านอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและประธานกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนผู้ผลักดันและมีส่วนสำคัญในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ในชั้นกฤษฎีกา เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมาธิการเอง


โดยภาพรวม หลักการสำคัญของร่างกฎหมายปฏิรูปฉบับนี้คือ ‘ส่วนหนึ่ง’ (ขอย้ำว่า ‘ส่วนหนึ่ง’) ของการแก้ปัญหาสภาวการณ์ที่เรียกว่าโทษทางอาญาเฟ้อ หรือภาษาวิชาการทางกฎหมายใช้คำว่า Overciminalization ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนและซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำของประเทศมายาวนาน สูญเสียเวลาและทรัพยากรไปมากต่อมากในหลากมิติ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 ได้ตั้งธงไว้แล้วให้เร่งแก้ปัญหานี้

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … จึงคือก้าวแรก ๆ ของกระบวนการแก้ปัญหาโทษทางอาญาเฟ้อแบบเริ่มต้นจากเรื่องที่ค่อนข้างกล่าวได้ว่าไม่ใหญ่นักก่อน โดยการเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาในกฎหมายจำนวนหนึ่งเป็นโทษปรับที่ไม่ใช่โทษปรับทางอาญา แล้วขนานนามเสียใหม่ตามภาษาที่มีอยู่ตั้งแต่ยุคกฎหมายตราสามดวงว่า…

“ปรับเป็นพินัย”

“ความผิดทางพินัย”

ทั้งนี้ โดยวิธีการกวาดรวมเอาความผิดที่มีโทษปรับทางอาญาสถานเดียวในกฎหมายจำนวนหนึ่งที่ใช้บังคับอยู่มาไว้ใน 2 บัญชี บัญชี 1 ให้มีผลโดยอัตโนมัติเมื่อพ้น 1 ปีหลังร่างกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ บัญชี 2 ให้คณะรัฐมนตรีตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแบบพิเศษว่าจะเลือกเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาในกฎหมายฉบับใดบ้างในบัญชีนี้ และยังมีบัญชี 3 ที่กวาดเอากฎหมายที่มีโทษปรับทางปกครองมาด้วย 3 ฉบับให้มีผลอัตโนมัติใน 1 ปีเช่นบัญชี 1

โทษปรับทางพินัยในร่างกฎหมายปฏิรูปฉบับนี้แม้จะยังคงกำหนดไว้ตายตัวตามกฎหมายเดิมใน 3 บัญชี แต่ก็ได้นำเอาบางส่วนของกระบวนการกำหนดค่าปรับตามระบบคำนวณค่าปรับทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกกันว่า Day fine มาใช้ด้วย ชนิดที่ถ้าผู้ถูกปรับทางพินัยยากจนข้นแค้น ศาลจะกำหนดค่าปรับให้ต่ำลงมากว่าฐานที่กำหนดไว้ในกฎหมายก็ได้ หรือจะให้ทำงานเพื่อสาธารณะแทนก็ได้

เรื่องระบบ Day fine เป็นประเด็นสำคัญมาก และจะถกกันมากต่อเนื่องแน่นอน ทั้งในชั้นกรรมาธิการและในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาวาระ 2-3

เพราะเป็นประเด็นที่กรรมาธิการในสัดส่วนพรรคก้าวไกลนำเสนออย่างเป็นระบบเพื่อที่จะนำกระบวนการของระบบ Day fine มาใช้อย่างเต็มรูป หรือมากที่สุด และสมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคก้าวไกลก็เสนอแปรญัตติเข้ามาเป็นระบบแบบทั้งฉบับสอดคล้องกัน

การทำงานของพรรคก้าวไกลทั้งในกรรมาธิการชุดนี้ และในภาพรวมของระบบรัฐสภา ถือเป็นมิติของการเตรียมความพร้อมอย่างมีคุณภาพ และประสานงานวิชาการเข้ากับงานการเมืองได้อย่างน่าพิจารณา

ผมจะทยอยเล่าสู่กันฟังตามโอกาสอันควรเมื่อมีข้อสรุปในประเด็นสำคัญ ๆ

สัปดาห์หน้าจะมีการถกกันในประเด็นนิยามศัพท์ในมาตรา 3 ว่า…

‘ความผิดทางพินัย’ คืออะไร ?

แม้ร่างกฎหมายปฏิรูปฉบับนี้จะไม่ได้มีคำนิยามบัญญัติไว้โดยตรง มีปรากฎอยู่แต่ในคำปรารภ แต่โดยภาพรวมสามารถเข้าใจได้ว่าคือความผิดที่ไม่ใช่ ‘ความผิดทางอาญา’ ไม่ใช่อาชญากรรม ไม่ได้เป็นความชั่วร้ายโดยตรง ไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีอย่างร้ายแรง แต่เป็นความผิดเพราะกฎหมายบัญญัติว่าผิด หรือที่นักเรียนกฎหมายรู้จักกันในศัพท์ละตินว่า Mala Prohibita (มาลาโปรฮิบิตา) ที่อยู่ตรงกันข้ามกับศัพท์ละติน Mala In se (มาลาอินเซ) อันหมายถึงความผิดที่เป็นอาชญากรรมเป็นความขั่วร้ายโดยตัวของมันเอง

สมควรจะเพิ่มนิยามศัพท์สำหรับ ‘ความผิดทางพินัย’ ขึ้นมาโดยเฉพาะหรือไม่

ผมได้เสนอให้นำบางส่วนของคำปรารภมาปรับเป็นนิยามศัพท์เพิ่มเติม โดยฝากกรรมาธิการที่เป็นตัวแทนจากกฤษฎีกาและกรรมาธิการที่มีความรู้ความชำนาญในการร่างกฎหมายช่วยนำไปคิดต่อ

เฉพาะที่ผมขยับเบื้องต้นดู โดยนำบางส่วนจากคำปรารถมา พอจะเป็นทำนองนี้ได้ไหม

“ความผิดทางพินัย หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ในกรณีที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง และโดยสภาพไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง หรือไม่มีผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างกว้างขวาง และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย โดยไม่ถือเป็นโทษอาญา”

แค่ตัวอย่างครับ ยังต้องปรับแก้อีก เพราะแม้ผมจะเขียนหนังสือมาพอสมควร แต่การเขียนกฎหมายนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สัปดาห์หน้าจะได้มีการถกประเด็นนี้กัน

คำนูณ สิทธิสมาน

สมาชิกวุฒิสภา
2 มีนาคม 2565

https://www.facebook.com/100001018909881/posts/4897364276974154/






กำลังโหลดความคิดเห็น