xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ ประชุมสัปดาห์หน้าเตรียม 14 รายชื่อ ร่วมเป็น กมธ.พิจารณา 2 กม.ลูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิปวุฒิฯ เตรียมวาระประชุมสัปดาห์หน้า เรื่องด่วนตั้ง กมธ.วิสามัญสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่ง  กสม. ถกวาระ 2-3 ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์-ร่าง พ.ร.บ.บริษัทมหาชน รับรองรายชื่อ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง-พ.ร.ป.พรรคการเมือง ในส่วนชองวุฒิสภา

วันนี้ (23 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้เห็นชอบให้เผยแพร่ผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ครั้งที่ 7/2565 (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งมี ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีเรื่องพิจารณาที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ระเบียบวาระการประชุมของวุฒิสภาที่สำคัญในสัปดาห์หน้า
การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 27 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

เรื่องด่วน

1. ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (ตามข้อบังคับฯ ข้อ 105)

2. ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ตามข้อบังคับฯ ข้อ 105)

3. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว (เป็นการพิจารณาในวาระที่สอง และวาระที่สาม)

4. ร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว (เป็นการพิจารณาในวาระที่สอง และวาระที่สาม)

เรื่องอื่นๆ
1. สรุปการดำเนินงานด้านนิติบัญญัติของวุฒิสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 28 กุมภาพันธ์ 2565

2. รับทราบพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่สอง พ.ศ. 2565

2. พิจารณารายชื่อกรรมาธิการในส่วนของวุฒิสภาเพื่อเตรียมการตั้งเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และพิจารณากำหนดแนวทางการแสดงความจำนงอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565

- ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้
1. เห็นชอบรายชื่อกรรมาธิการในส่วนของวุฒิสภา จำนวน 14 คน เพื่อเตรียมการตั้งเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าวตามที่คณะกรรมการประสานงานวุฒิสภาเสนอ

2. มอบหมายให้คณะกรรมการประสานงานวุฒิสภาเป็นผู้กำหนดแนวทางการจัดลำดับการเสนอรายชื่อผู้อภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา การจัดสรรระยะเวลาในการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา ตามระยะเวลา ที่ได้รับการจัดสรร (วันละ 12 ชั่วโมง รวม 24 ชั่วโมง) ตามข้อสรุปของการประชุมร่วม 3 ฝ่าย คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ฝ่ายละ 6 ชั่วโมง โดยไม่รวมเวลาผู้เสนอร่าง และประธานของที่ประชุม ทั้งนี้ ระยะเวลาอภิปรายในส่วนสมาชิกวุฒิสภา 6 ชั่วโมง แบ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... จำนวน 3 ชั่วโมง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 3 ชั่วโมง คาดว่าจะสามารถอภิปรายได้ฉบับละ 20 คนๆ ละ 8 นาที

3. ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ประสงค์จะอภิปราย ยื่นแบบแสดงความจำนงอภิปรายมายังฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาก่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ

3. เตรียมการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คาดว่าสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเห็นชอบในวาระที่สามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 จำนวน 7 ฉบับ ดังนี้

- ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นว่าหากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบในวาระที่สาม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 เห็นควรแนะนำที่ประชุมวุฒิสภารับร่างพระราชบัญญัติทั้ง 7 ฉบับ ไว้พิจารณา และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณา จำนวน 6 คณะ และกำหนดเวลาการแปรญัตติ ดังต่อไปนี้


4. เตรียมการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สืบเนื่องจากที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมได้พิจารณา เรื่อง การให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา 8 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 จำนวน 1 คน ซึ่งผลปรากฏว่าบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา จึงเป็นเหตุให้คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องพิจารณาดำเนินการสรรหาบุคคล ผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เพิ่มเติม) จำนวน 1 คน เพื่อให้ครบจำนวนตามที่กฎหมายบัญญัติ

บัดนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ ได้ดำเนินการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เพิ่มเติม) ตามมาตรา 8(1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 เสร็จสิ้นแล้ว จึงได้มีมติให้เสนอชื่อบุคคลผู้มีประสบการณ์ในการทำงาน ด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกันตามมาตรา 8(1) จำนวน 1 คน ทั้งนี้ โดยได้รับความยินยอมจากบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อดังกล่าวแล้วต่อวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

- ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้
1. เห็นควรแนะนำที่ประชุมวุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 15 คน ประกอบด้วย
1) ผู้แทนคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 12 คณะ คณะละ 1 คน
2) ผู้แทนคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา จำนวน 3 คน

2. เห็นควรกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น