กสม. ชี้ สพฐ. แก้คู่มือจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ให้ครอบครัวร่วมเป็นกรรมการวัดผลการเรียนแบบโฮมสคูล เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
วันนี้ (3 ก.พ.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงว่า ที่ประชุม กสม.ได้พิจารณากรณีผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัว (โฮมสคูล) ร้องเรียนมายัง กสม. ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวม 7 แห่ง ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการเข้าร่วมเป็นกรรมการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ประจำปีการศึกษา 2563 โดยเป็นผลมาจาก สพฐ. ได้มีหนังสือที่ ศธ 04006/ว2894 ลงวันที่ 29 ก.ค. 2563 แก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขในส่วนของคณะกรรมการวัดและประเมินผลฯ ให้มีเพียงผู้แทนหน่วยงานของรัฐฝ่ายเดียว จึงอาจส่งผลให้ผู้เรียนและครอบครัวถูกวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาอย่างขาดความเข้าใจ และไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่ง กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า กสม. เห็นว่า การจัดการศึกษาโดยครอบครัว เป็นการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะเป็นการศึกษานอกระบบและเป็นการศึกษาทางเลือกที่สามารถเข้าถึงคุณลักษณะเฉพาะของตัวผู้เรียนแต่ละคน ที่มีความยืดหยุ่นหลากหลาย ซึ่งครอบครัวหรือผู้จัดการศึกษาในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบจัดการศึกษา เป็นครูผู้สอนด้วยตนเองหรือเป็นผู้อำนวยการให้เกิดการเรียนรู้ ย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจและทราบถึงพัฒนาการของผู้เรียนได้ดีที่สุด ครอบครัวจึงควรมีส่วนร่วมในการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษา การที่ สพฐ. ไม่ให้ครอบครัวเข้าไปร่วมเป็นกรรมการวัดและประเมินผลฯ แต่ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและบุคลากรของรัฐที่เกี่ยวข้องทำการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น จะส่งผลให้คณะกรรมการขาดความเข้าใจและขาดข้อมูลที่รอบด้านในการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัวอย่างแท้จริง และส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษาของเด็กผู้เรียนตามมา จึงเห็นว่า การกระทำของ สพฐ. เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาให้แก่ครอบครัวและผู้เรียน กสม. จึงมีข้อเสนอแนะให้ สพฐ. กำหนดให้ครอบครัวหรือผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เพื่อให้มีการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความเข้าใจต่อผู้เรียน รวมถึงเป็นไปตามพัฒนาการและศักยภาพของผู้เรียน สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษารวม 7 แห่ง กสม.เห็นว่า ไม่ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เนื่องจากได้ดำเนินการตามคู่มือการจัดการศึกษา และได้เปิดโอกาสให้ครอบครัวมีส่วนร่วมกับการวัดและประเมินผลตามสมควรแล้ว