xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยของอเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทับทิม พญาไท


โจ ไบเดน
ในขณะที่สถานการณ์ทั่วๆ ไปยังไม่ถึงกับมีอะไรใหม่มากมายสักเท่าไหร่...วันนี้สงสัยคงต้องขออนุญาตชวนไปวิเคราะห์ เจาะลึก ไปสำรวจตรวจสอบ “อารมณ์-ความรู้สึก” ของคนระดับประมุขโลก ผู้นำโลก อย่าง “ผู้เฒ่าโจ ไบเดน” ประธานาธิบดีอเมริกันเอาไว้สักหน่อย เพราะจากที่เคยถูกให้ชื่อ ฉายา เอาไว้ประมาณว่า “โจ ซึมเซา” หรือ “Sleepy Joe” อะไรประมาณนั้นแต่เมื่อช่วงวัน-สองวันที่ผ่านมา จะด้วยเหตุเพราะฉีดสเตียรอยด์เกินขนาดหรือไม่? อย่างไร? ก็ยังมิอาจสรุปได้ เลยทำให้ออกอาการน็อตหลุด น็อตหลวม หนักซะยิ่งกว่า “บิ๊กตู่” บ้านเราคิดจะเอาโพเดียมทุ่มใส่หัวนักข่าวไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า คือถึงขั้นต้องหลุดปาก ออกปาก “ด่า” นักข่าว “Fox News” อย่าง “นายปีเตอร์ ดูซี” (Peter Doocy) ถึงขั้นว่า “ลูก...อีดอก!!!” หรือ “Son of a bitch” เอาเลยถึงขั้นนั้น...

คือว่ากันว่า...เหตุที่ทำให้ประธานาธิบดีอเมริกัน เกิดอาการคันปาก เปรี้ยวปาก ไปได้ถึงขั้นนั้น ก็น่าจะด้วยเหตุเพราะนักข่าวทำเนียบขาวรายที่ว่านี้ ดันไป “ตั้งคำถาม” ถึงปัญหา “ภาวะเงินเฟ้อ” ของอเมริกา ที่ชักจะเป็นอะไรที่แก้ยาก แก้เย็น แก้ลำบาก ยิ่งเข้าไปทุกที จนอาจส่งผลให้ “การเลือกตั้งกลางเทอม” ของอเมริกาอีกไม่นานนับจากนี้ คะแนนนิยมของพรรครัฐบาลอย่างพรรคเดโมแครต อาจเกิดอาการรูดมหาราช ยิ่งกว่าพรรคแกนนำรัฐบาล อย่างพรรค “พปชร.” บ้านเรา ต้องแพ้แล้ว แพ้เล่า ในการเลือกตั้งซ่อม 3 ครั้งที่ผ่านมาเอาเลยก็ไม่แน่!!! ผู้ที่เคยออกอาการซึมๆ เซาๆ หลับมั่ง-ไม่หลับมั่ง ระหว่างการประชุม หรือการแถลงข่าวอย่าง “ผู้เฒ่าโจ ซึมเซา” เลยมีอันต้องน็อตหลุด น็อตหลวม ไปด้วยประการละฉะนี้...

เพราะว่าไปแล้ว...ปัญหาเงินเฟ้อของอเมริกาช่วงนี้ ออกจะเป็นอะไรที่หนักหนา-สาหัส “เอาเรื่อง” มิใช่น้อย ไม่ได้เป็นแค่ปัญหา “Transitory” หรือปัญหาแค่ชั่วครั้ง-ชั่วคราว อย่างที่รัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ เคยพูดจาว่ากล่าว เคยปลอบประโลมเอาไว้ก่อนหน้านั้น คือระดับเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี หรือถ้าว่ากันตามตัวเลขสถิติของ “Core PCE” (Personal Consumption Expenditure) เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เฟ้อไปถึง 7 เปอร์เซ็นต์เอาเลยถึงขั้นนั้น ขณะที่เป้าหมายหรือมาตรฐานโดยปกติของภาวะเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง การที่อะไรต่อมิอะไรมันไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย เกินไปกว่าเป้าหมายตามปกติไม่รู้กี่ต่อกี่เปอร์เซ็นต์เช่นนี้ มันจึงกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดา ไม่ปกติ แถมทำท่าว่าไม่ใช่แค่ชั่วครั้ง-ชั่วคราวซะอีกด้วย หรืออาจกลายเป็นปัญหาระดับที่ทำให้เศรษฐกิจอเมริกา ต้องเจอกับภาวะ “ถดถอย” ในระยะยาวเอาเลยก็เป็นได้ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อโลกทั้งโลกตามไปด้วยอย่างแทบช่วยอะไรไม่ได้...

หรืออย่างที่ผู้อำนวยการบริษัทวิเคราะห์การตลาดระดับโลกแห่งกรุงนิวยอร์ก “Navigator Principal Investors” อย่าง “นายKyle Shostak” เพิ่งออกมาให้ความเห็น ออกมาวิเคราะห์ถึงภาวะดังกล่าว ว่าแม้แต่ความพยายามของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการทุเลาเบาบางปัญหาเหล่านี้ อาจเป็นเรื่อง “สายไปซะแล้ว” เอาเลยก็ไม่แน่!!! ไม่ต่างอะไรไปจากการ “ปล่อยยักษ์เจนนี่” ออกจากขวดเรียบร้อยแล้ว อะไรทำนองนั้น จนทำให้ “เครื่องมือ” ชิ้นสำคัญในการประคับประคองภาวะเศรษฐกิจอเมริกามาโดยตลอด นั่นก็คือการพิมพ์เงินเพิ่มเข้าไปในระบบ ยังไงๆ...ย่อมไม่สามารถหยุดยั้ง “สัตว์ประหลาด” ตัวนี้ได้อีกต่อไปแล้ว เหลือแต่ต้องยอมรับสภาพตามคำชี้แนะของคณะกรรมการนโยบายการเงิน นั่นก็คือ...ต้องหาทาง “ปรับดอกเบี้ย” ธนาคารให้สูงขึ้นไปอีก 2-2.5 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจต้องปรับเพิ่มกันปีต่อปี ระดับไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งขึ้นไป คือ 3 ครั้งภายในปีนี้ และอีก 3 ครั้งในปีหน้า ไปจนกระทั่งอีก 2 ครั้งภายในปี ค.ศ. 2024-2025 อันจะทำให้ภาวะดอกเบี้ยในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไปเป็น 2.50-2.57 เปอร์เซ็นต์ ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า...

และการเพิ่มขึ้นของภาวะดอกเบี้ยในลักษณะดังกล่าว...ย่อมต้องก่อให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าว ต่อประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ อย่างมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้ คือหนี้ที่มีอยู่ประมาณ 29 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 125 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถ้าหากต้องเจอเข้ากับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไปอีก 2 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ก็เท่ากับต้องแบกภาระหนี้เพิ่มไม่น้อยกว่า 2.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หรือทำให้รายได้จากการเก็บภาษีอยู่ที่ประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์จีดีพีต้องหดหายไปเพราะการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย หรืออาจนำไปสู่ภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” ในระยะยาว อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี ค.ศ. 1973-74 และ 75 อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อ “การเมือง” ในอเมริกาอย่างหนักหนา-สาหัส มิใช่น้อย ชนิดต้องเปลี่ยนประธานาธิบดี เปลี่ยนพรรคการเมือง กลับไป-กลับมา ไม่รู้กี่เที่ยวต่อกี่เที่ยว...

จากราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคทั้งหลาย...ที่เพิ่มเอาๆ ไม่ว่าอาหาร น้ำมัน ค่าเช่าบ้าน ไปจนกระทั่งเครื่องตกแต่งอย่างเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลาย ฯลฯ ที่ขึ้นพรวดๆ พราดๆชนิดรั้งไม่หยุด-ฉุดไม่อยู่ ส่งผลให้เกิดลุกฮือเรียกร้องค่าแรง ค่าจ้าง ค่าชดเชยกันอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ ไม่ว่าการ “สไตรก์” ของบรรดาลูกจ้างพนักงาน บริษัทผลิตอาหารอย่าง “Kellogg Company” บริษัทผลิตเครื่องมือการเกษตรอย่าง “John Deer” หรือ “Deer & Company” ไปจนถึงบริษัทอย่าง “Amazon” และ “Starbuck” ฯลฯ ชนิดแทบกลายเป็นการฟื้นคืนขบวนการสหภาพแรงงานในอเมริกาเอาเลยถึงขั้นนั้น และถ้าหากการเรียกร้องค่าแรง ค่าจ้าง ค่าชดเชย มันเกิดนำไปสู่วัฏจักรวงจรแบบที่เรียกๆ กันว่า “Wage-Price Spiral” ที่ทำให้การเพิ่มขึ้นของค่าแรง ค่าจ้าง นำไปสู่การขึ้นราคาสินค้าแบบแทบไม่มีวันสิ้นสุด อันนี้...ก็ยิ่งหนักหนา-สาหัส ยิ่งขึ้นไปใหญ่ โอกาสที่ภาวะเงินเฟ้อที่เคยเชื่อๆ กันว่าเป็นแค่ภาวะชั่วครั้ง-ชั่วคราว จะกลายสภาพเป็นภาวะ “เงินเฟ้อถาวร” ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ยิ่งขึ้นไปเท่านั้น...

ด้วยเหตุนี้นี่เอง...ที่อาจทำให้ผู้ที่ออกอาการซึมๆ เซาๆ มาโดยตลอด อย่าง “ผู้เฒ่าโจ” เลยอดไม่ได้ที่จะออกอาการน็อตหลุด น็อตหลวม ขึ้นมาดื้อๆ!!! ต้อง “Son of a bitch” ต้อง “ลูก...อีดอก” ต่อนักข่าวทำเนียบ อย่าง “นายปีเตอร์ ดูซี” ที่ดันถามอะไรแบบแทงใจดำ แทงลึกเข้าไปในอารมณ์-ความรู้สึกของตัวเอง จนต้องหันไป “ด่า” แทนที่จะ “ตอบคำถาม” ไปตามสภาพแต่ไม่ว่าจะออกงิ้ว ออกแขก กันในลักษณะใดๆก็ตาม โอกาสที่จะทุเลาเบาบางปัญหา “ภาวะเงินเฟ้อ” ของอเมริกา ก็ยังเป็นอะไรที่ยากแสนยาก และน่าจะทำให้ประเทศมหาอำนาจสูงสุดรายนี้ คงต้องหัวหมุน ต้องปวดเศียรเวียนเกล้า ไปโดยตลอดนับจากนี้เป็นต้นไป...

และแน่นอนนั่นแหละว่า...คงไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศอเมริกาเพียงรายเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุเพราะความเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งในทางเศรษฐกิจ การเงิน-การทอง ความสับสน ระส่ำระสาย ภายในระบบเศรษฐกิจอเมริกา ยังไงๆ...ย่อมต้องส่งผลต่อ “โลกทั้งโลก” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้ ชนิดถึงขั้นที่องค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือ “IMF” ต้องออกมาเตือนบรรดาประเทศ “เศรษฐกิจใหม่” ทั้งหลาย ให้เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมรับมือกับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ หรือผลกระทบจาก “การขึ้นดอกเบี้ย” ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เอาไว้ก่อนล่วงหน้า โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่เลี่ยงไม่พ้นต้องสร้างหนี้ สร้างสิน เอาไว้เยอะๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของท่านเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งต้องเตรียมหามาตรการทางการเงินและการคลัง เอาไว้ให้แน่นเหนียวและรัดกุมให้มากๆ เข้าไว้ และนั่นย่อมหมายถึงประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาอีกด้วย ที่คงไม่ได้มี “ข้อยกเว้น” ใดๆ เอาเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะยังอุ่นอก อุ่นใจ กับเงินทุนสำรอง กับความแข็งแกร่งของพื้นฐานทางเศรษฐกิจในลักษณะไหนก็ตาม แต่ถ้าต้องเจอกับหนี้เพิ่ม ดอกเบี้ยเพิ่มระดับ “หนี้ครัวเรือน” ที่ปาเข้าไปเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเข้าไปแล้ว!!! ยังไงๆ...คงไม่น่าจะปลอดโปร่งโล่งใจมากมายสักเท่าไหร่นัก...




กำลังโหลดความคิดเห็น