ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง 0.5% มาอยู่ที่ 4.4% ชี้โอมิครอนเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางการเติบโต นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจและมีแนวโน้มยืดเยื้อเกินคาด
ในรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ประจำปี 2022 ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (25 ม.ค.) ระบุว่า อุปสรรคที่เกิดจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ปี 2022 ในสถานะที่อ่อนแอกว่าที่คาด โดยมีแนวโน้มขยายตัว 4.4% ลดลงจากตัวเลขซึ่งไอเอ็มเอฟคาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว 0.5% และเทียบกับอัตราเติบโตของปี 2021 ซึ่งที่ 5.9%
นอกจากนั้น เศรษฐกิจโลกยังเผชิญความเสี่ยงจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องซึ่งส่งผลต่อทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจและมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่เคยคาดไว้ โดยความเสี่ยงเหล่านี้จะกดดันการเติบโตในช่วงไตรมาสแรก และผลกระทบแง่ลบจะค่อยๆ บรรเทาลงในไตรมาส 2 ภายใต้สมมติฐานว่า การระบาดของโอมิครอนซาลง และไม่มีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องฟื้นมาตรการจำกัดการเดินทาง
ไอเอ็มเอฟย้ำว่า การควบคุมการระบาดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องให้มีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงในประเทศกำลังพัฒนา
จิตา โกปินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองกรรมการผู้จัดการคนที่หนึ่งของไอเอ็มเอฟ แถลงว่า นานาชาติควรร่วมมือกันเพื่อทำให้โลกหลุดพ้นจากโรคระบาดใหญ่ภายในปีนี้ และเสริมว่า การสูญเสียทางเศรษฐกิจสะสมจากวิกฤตโควิดในช่วง 5 ปีจนถึงปี 2024 คาดว่าจะสูงถึงเกือบ 14 ล้านล้านดอลลาร์
ตัวการตัวใหญ่ที่สุดที่ส่งผลฉุดรั้งทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ ได้แก่ การชะลอตัวรุนแรงในอเมริกาและจีน โดยที่การเติบโตอย่างเชื่องช้าลงเช่นนี้มาจากปัจจัยอื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากผลกระทบของไวรัสแล้ว
จากการที่แผนการใช้จ่ายด้านสังคมขนาดใหญ่ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังค้างคาอยู่ในสภา ไปจนถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลต่อธุรกิจและการผลิต ทำให้ไอเอ็มเอฟปรับลดแนวโน้มการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของอเมริกาในปีนี้ลง 1.2% เหลือ 4% เทียบกับปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจขยายตัวถึง 5.6%
ขณะเดียวกัน นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนก็ส่งผลให้การเติบโตของมหาอำนาจเอเชียแห่งนี้ชะลอลง โดยไอเอ็มเอฟหั่นคาดการณ์จีดีพีลง 0.8% อยู่ที่ 4.8%
โกปินาถ แจงว่า การปรับลดแนวโน้มการเติบโตของจีน ยังมุ่งสะท้อนการหดตัวอย่างต่อเนื่องในภาคอสังหาริมทรัพย์และการที่การบริโภคของภาคเอกชนฟื้นตัวต่ำกว่าคาด
รองกรรมการผู้จัดการคนที่หนึ่งของไอเอ็มเอฟผู้นี้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่างหากแก่เอเอฟพีว่า อาจถึงเวลาแล้วที่ปักกิ่งจะ “ปรับหลักเกณฑ์” รับมือกับโรคระบาดอันเข้มงวดของตนที่ส่งผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคของภาคเอกชน
ประเทศชั้นนำอื่นๆ ที่ถูกปรับลดคาดการณ์จีดีพีอย่างแรงในครั้งนี้ ท่ามกลางการชะงักงันจากวิกฤตโรคระบาด ยังมีเยอรมนีที่ถูกปรับลดลง 0.8% และ 1.2% สำหรับบราซิล และเม็กซิโก
ตรงข้ามกับอินเดียที่ได้รับการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตขึ้นไป 0.5% เป็น 9% และญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มดีขึ้นระดับพอประมาณ โดยไอเอ็มเอฟคาดว่าจะทำได้ 3.3%
รายงานยังกล่าวถึงความท้าทายสำคัญที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญคือการพุ่งขึ้นของราคาสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานและอาหาร
แต่ถึงไม่รวม 2 รายการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในอเมริกายังถูกคาดหมายว่าจะอยู่ที่ราว 3.4% ปลายปีนี้ สูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
อย่างไรก็ดี โกปินาถ คาดว่า ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากโรคระบาดใหญ่จะเริ่มบรรเทาลงในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ทว่าแม้อัตราเงินเฟ้อลดลงไปแต่จะยังคงสูงอยู่ ส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศสำคัญ เช่น เฟด ใช้มาตรการแข็งกร้าวยิ่งขึ้นซึ่งจะทำให้ต้นทุนกู้ยืมทั่วโลกพุ่งขึ้น และกลายเป็นการบ่อนทำลายความพยายามในการฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่มีหนี้สิน
ทั้งนี้ รายงานคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐาน 3 รอบในปีนี้และอีก 3 รอบในปีหน้า อีกทั้งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ที่ 3.9% และ 5.9% ในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในปีนี้ ก่อนลดลงในปี 2023
(ที่มา : เอเอฟพี)