ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล
คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
เพลงความฝันอันสูงสุด เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงประพันธ์ทำนองใหม่ขึ้นด้วยพระองค์เอง
เพลงนี้มีที่มาจากพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงโปรดกลอนแปดหรือกลอนสุภาพที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ซึ่งเป็นน้าและนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จฯ ได้ถอดความจากบทเพลง The impossible dream ประพันธ์ทำนองโดย Leigh Mitch และคำร้องโดย Darion Joseph อันเป็นเพลงในละครเพลงบรอดเวย์ในละครเรื่อง A man of La Mancha ประพันธ์โดย Dale Wasserman
A man of La Mancha นี้เป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์ Don Quixote De La Mancha อันเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของสเปน ที่ภายหลังศาสตราจารย์ ดร. สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ สาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน
สมเด็จพระพันปีหลวงได้ทรงขอให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแต่งทำนองเพลงนี้จากกลอนแปดที่ทรงโปรดมากที่ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค
เพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุดนี้ แต่งทำนองหลังจากมีเนื้อร้อง และทำนองพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น แตกต่างจากทำนองเพลงต้นฉบับอย่างสิ้นเชิง
เหตุที่ต้องแตกต่างมาก ก็เพราะว่า มีเนื้อร้องก่อนจะมีทำนอง ซ้ำเนื้อร้องยังเป็นกลอนแปด ซึ่งจะนับจังหวะอย่างไรก็ไม่มีทางลงตัวกับห้องดนตรีของต้นฉบับเพลง The impossible dream ที่เคยเป็นละครเพลงบรอดเวย์มาก่อนได้เลย
ผมถามคีตกรหลายคนได้ให้ความเห็นว่ากลอนแปดของไทย แต่งทำนองเพลงให้เข้ากับดนตรีสากลได้ลงตัวยากมาก ถ้าหาก music composer หรือคีตกรไม่เก่งจริง ถือว่าเป็นเรื่องยากมาก
ดังนั้นทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด จึงไม่ได้เป็นการคัดลอกหรือแม้กระทั่งดัดแปลงหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The impossible dream ต้นฉบับแต่อย่างใด
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแต่งเพลงพระราชนิพนธ์ได้ทั้งสองแบบ คือทรงแต่งทำนองก่อน แล้วจึงมีผู้แต่งเนื้อร้องถวายในภายหลัง เช่น เพลง มหาจุฬาลงกรณ์ ซึ่งแต่งเนื้อร้องถวายในภายหลังโดยท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และนายสุภร ผลชีวิน หรือเพลงสายฝน ที่แต่งเนื้อร้องถวายโดยพระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริจักรพันธุ์
แต่เพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุดนั้น มาจากการแต่งเนื้อร้องเป็นกลอนแปดเสียก่อน แล้วจึงทรงแต่งทำนองเพลงในภายหลัง อันเป็นงานที่ยาก
ทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด จึงจัดว่าเป็นงานวรรณกรรมที่ผู้สร้างสรรค์ได้ใช้ความรู้ความชำนาญและความคิดริเริ่มของตนเองในการสร้างสรรค์ผลงานโดยมิได้ไปลอกเลียนแบบใครมาทั้งดุ้น ด้วยเหตุนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทำนองเพลงความฝันอันสูงสุดอย่างแน่นอน
เพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุดนี้ ขับร้องถวายโดยสันติ ลุนเผ่ ซึ่งไม่เคยร้องเพลงในภาษาไทยมาก่อน https://www.youtube.com/watch?v=WJYaulAhjvE ที่จะมาร้องเพลงนี้ถวาย
ในส่วนของการแปลเนื้อเพลง The impossible dream จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยในรูปแบบของกลอนแปดนั้น
ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นผู้มีความสามารถทางวรรณศิลป์ขั้นเอกอุ สามารถถอดความและเพิ่มเติมพลิกแพลงเนื้อความให้เหมาะสมกับบริบทของไทยได้อย่างลงตัวงดงาม เช่น
จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา อันเป็นคติความเชื่่อแบบไทยในเรื่องการปิดทองหลังพระ
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง ก็สะท้อนวัฒนธรรมการเผาศพจนกระดูกเป็นอัฐิหรือเป็นผงของคนไทยที่ชาติตะวันตกไม่ได้ทำเช่นนั้นแต่อย่างใด
ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ยังได้เปลี่ยนแปลงความคิดจาก The unreachable star หรือดวงดาวที่เข้าไม่ถึง ให้กลายเป็นแนวคิดแบบไทยๆ ว่า คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย คือการยอมสู้ไม่ท้อถอยยอมเสียสละแม้ชีวิตเพื่อปกป้องรักษาประเทศไทย อันเป็นการเสริมค่านิยมความรักชาติที่ยอมสละแม้ชีวิตได้ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ไม่ได้ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับดวงดาวในเพลงความฝันอันสูงสุดเลย ในขณะที่เพลง The impossible dream เน้นเนื้อหาที่ The unreachable star เพราะดวงดาวในความคิดของคนไทยเป็นเรื่องของพรหมลิขิต เช่น เราเชื่อกันว่า ชีวิตแล้วแต่ดวงดาวจะกำหนด ในขณะที่ดวงดาวในความหมายของตะวันตกเป็นเรื่องของเป้าหมาย แรงบันดาลใจ ความใฝ่ฝัน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้นเนื้อหาเพลงความฝันอันสูงสุดกับ The impossible dream จึงไม่ได้ตรงกันเสียทีเดียวทั้งหมด แต่มีการถอดความและเพิ่มเติมเนื้อหาอย่างชาญฉลาดให้เข้ากันได้กับความเชื่อและบริบททางวัฒนธรรมไทยอย่างแยบผลและสวยงาม
ในแง่การเลือกใช้ถ้อยคำ สัมผัสนอก สัมผัสใน ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ ทำได้อย่างดีเลิศ ประณีต บรรจง เลือกใช้คำสั้น กระชับ แต่ไพเราะ และสื่อถึงความหมายและอารมณ์ความรักชาติและความเสียสละเพื่อประเทศชาติและส่วนรวม ตลอดจนความกล้าหาญและปราศจากความเห็นแก่ตัวของคนที่ทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างผู้ปิดทองหลังพระได้อย่างงดงาม การใช้ภาษากวีของท่านผู้หญิงมณีรัตน์ในการถอดความและประพันธ์เนื้อเพลงความฝันอันสูงสุดเป็นงานประณีตศิลป์ขั้นเอกอุ สะท้อนความเป็นตัวตนของศิลปินเอง ถือว่ามีความคิดริเริ่มต้นแบบ (Originality) อย่างชัดเจน
ในแง่ของการเป็นวรรณกรรม แม้เนื้อเพลงความฝันอันสูงสุด จะเป็นการถอดความและแต่งเพิ่มเติมจากเนื้อเพลงภาษาอังกฤษ แต่ก็ได้ปรากฎโดยชัดเจนเป็นประจักษ์ว่าท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ผู้ล่วงลับได้ถอดความและแต่งเพิ่มเติมเนื้อเพลง The impossible dream โดยใช้ความรู้ความชำนาญของผู้สร้างสรรค์ตามสมควรแก่สภาพของงานนั้น และเป็นงานที่สร้างสรรค์มาเองโดยไม่ได้ลอกเลียนมาจากงานของผู้อื่นทั้งหมด
ขอเน้นย้ำว่าท่านผู้หญิงมณีรัตน์ ไม่ได้แปลเนื้อเพลงความฝันอันสูงสุดจากเนื้อเพลง The impossible dream แบบคำต่อคำ แต่ได้ถอดความเนื้อหาให้เข้ากับความเชื่อและวัฒนธรรมไทย จึงไม่สามารถแปลกลับ (Back translation) เพลงความฝันอันสูงสุดให้กลับไปตรงกับเนื้อเพลง The impossible dream ได้เลย
นอกจากนี้ฉันทลักษณ์ที่ใช้คือกลอนสุภาพก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าได้ใช้ความรู้ความสามารถความชำนาญในการสร้างสรรค์เมื่อถอดความจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย
ดังนั้นในความเห็นของผม การถอดความและการแต่งเพิ่มเติมเนื้อหาจาก The impossible dream มาเป็นเนื้อเพลงความฝันอันสูงสุด ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคก็ย่อมต้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เนื้อเพลงดังกล่าวอีกเช่นกัน
ความฝันอันสูงสุด
คำร้อง ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค
ทำนอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ
ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง
จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง
จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร
ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา
ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา
ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป
นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง
หมายผดุงยุติธรรมอันสดใส
ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด
ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน
โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่
เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ
ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย
The impossible dream
ทำนอง Leigh Mitch
คำร้อง Darion Joseph
To dream the impossible dream
To fight the unbeatable foe
To bear with unbearable sorrow
And to run where the brave dare not go
To right the unrightable wrong
And to love pure and chaste from afar
To try when your arms are to weary
To reach the unreachable star
This is my quest
To follow that star
Ooh, no matter how hopeless
No matter how far
To fight for the right
Without question or pause
To be willing to march, march into hell
For that heavenly cause
And I know
If I'll only be true
To this glorious quest
That my heart
Will lie peaceful and calm
When I'm laid to my rest
And the world will be better for this
Oh, that one man, scorned and covered with scars
Still strong with his last ounce of courage
To reach the unreachable, the unreachable
The unreachable star
Yeah, and I'll always dream
The impossible dream
Yes, and I'll reach
The unreachable star
และถ้าใครเป็นแฟนละครเวที ย่อมทราบว่า A man of La Mansha มีการสร้างละครเวทีในภาษาไทยชื่อ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ บทละครภาษาไทยโดย มัทนี เกษกมล, ยุทธนา มุกดาสนิท คำร้องภาษาไทย ชาลี อินทรวิจิตร, วิสา คัญทัพ, สุรชัย จันทิมาธร, ยุทธนา มุกดาสนิท
เรามาลองพิจารณาเนื้อเพลง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ที่ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยครูชาลี อินทรวิจิตร ร้องโดยศรัณยู วงษ์กระจ่าง กัน https://www.youtube.com/watch?v=qLTlTq6yqgg
สุดมือ เอื้อมคว้าข้าจะฝัน
กล้าหาญ ราญรบอริร้าย
ชีวิต จะปลิดปลดมิลดละง่าย
จะไป ถิ่นอันคนกล้ายังถอย
อะไร ชั่วแท้จะแก้ไข
อันไหน ถ้าใจรักสลักร้อย
แรงน้อย เหนื่อยอ่อนสู้มิรู้ถอยดั่ง
ใจหวัง จะลอยลิบหยิบดาว
จะไกลแค่ไหน ไม่เคยสิ้นหวัง
จะไม่มีหยุดยั้ง พลังฝันอันเร่งเร้า
ไม่ลังเลและขลาดเขลา สู่เป้าหมายอันใฝ่หา
อาจจะล้มเซถลามากี่ครั้งก็ยังรักยุติธรรม...
สิ่งดีงามจะค้ำจุนโลกไว้ ตายแล้วยังนอนตาหลับ
โลกจะดีกว่านี้ควรต้อนรับ ประทับใจทุกคนได้..
ผู้ทนง เท่านั้นจึงจะมี บาดแผลนี้ ถี่เป็นแถวแนวเลือดไหล
ความหวังที่ตั้งมั่นคือความฝันใฝ่ โลกจะสวย..ด้วยความฝันบินสู่..ฟ้า
เราจะพบว่าเนื้อร้องจะใกล้เคียงกับต้นฉบับ The impossible dream มากกว่าความฝันอันสูงสุดมากกว่า และทำนองก็มีความใกล้เคียงมากกว่า
เราลองกลับมาพิจารณาว่างานเพลงความฝันอันสูงสุด แยก “งาน” ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับลิขสิทธิ์ ออกได้เป็นสองส่วน ได้แก่ งานประพันธ์ทำนอง และงานประพันธ์เนื้อร้อง ซึ่งงานทั้งสองส่วนจะได้รับความคุ้มครองแยกกัน ดังนั้น หากผู้ประพันธ์ทำนอง และเนื้อร้องเป็นคนละคนกัน ผู้ประพันธ์ทั้งสองคนต่างก็จะได้รับลิขสิทธิ์ในงานส่วนที่ตนเป็นผู้ประพันธ์ ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์งานในส่วนนั้น
ทั้งนี้“งาน” ที่จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้น กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีการสร้างสรรค์ขึ้นด้วยตนเอง (originality) ไม่ได้ลอกจากผู้อื่น และจะต้องมีระดับการสร้างสรรค์ที่มากพอ ดังนั้น การสร้างสรรค์เพียงเล็กน้อยจะไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น การคิดประโยค “จับเสือใส่ถังพลังสูง” แม้จะมีการสร้างสรรค์ แต่ไม่มากพอที่จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์
ทำนองเพลงความฝันอันสูงสุด ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงประพันธ์ (สร้างสรรค์) ขึ้นด้วยพระองค์เอง และไม่ได้ลอกเลียนเพลง The Impossible Dream เพราะเห็นได้ชัดเจนว่าทำนองของทั้งสองเพลงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า การประพันธ์นี้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงประพันธ์เมื่อมีเนื้อร้องที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ได้ประพันธ์ขึ้นก่อนแล้ว ซึ่งทำให้การประพันธ์ทำนองจะมีความยากมากขึ้นอีก ดังนั้น งานประพันธ์ (สร้างสรรค์) ทำนองเพลงความฝันอันสูงสุด จึงเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นโดยความวิริยะอุตสาหะ และพระอัจฉริยภาพของพระองค์เอง ไม่ได้ลอกเลียนจากที่ใด (Originality) ดังนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในทำนองเพลงในฐานะผู้สร้างสรรค์
ส่วนเนื้อร้องเพลงความฝันอันสูงสุด ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ได้ทรงประพันธ์ขึ้นแม้จะมีข้อเท็จจริงประกอบว่า ได้ประพันธ์ขึ้นโดยมีที่มาเชื่อมโยงกับเพลง The Impossible Dream ซึ่งงานประพันธ์ของท่านผู้หญิงมณีรัตน์จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ มีสองประเด็นที่ต้องวิเคราะห์
ประเด็นแรก รูปแบบของงานที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ประพันธ์ขึ้นเป็นกลอนแปดมิได้ประพันธ์ขึ้นเพื่อให้เป็นเนื้อร้องของเพลง กลอนแปดเป็นรูปแบบหรือลักษณะของงานที่แตกต่างจากงานเพลง เมื่อฟังเพลง The Impossible Dream เปรียบเทียบกับการอ่านกลอนแปดที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ประพันธ์ขึ้นแล้ว จะเห็นว่าเป็นงานที่แตกต่างกันในรูปแบบและลักษณะของงาน อย่างไรก็ดี ความแตกต่างในรูปแบบหรือลักษณะของงานแต่เพียงประการเดียวยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยว่างานนั้นเป็นงานสร้างสรรค์ที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ เช่น งานปั้นโดยใช้ภาพถ่ายเป็นแบบ เป็นการดัดแปลงงานจากงานสองมิติเป็นงานสามมิติ หรืองานแปลจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง การเปลี่ยนรูปแบบงานที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือ เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) ล้วนแล้วแต่ยังถือว่าเป็นงานดัดแปลง (Derivative work) ที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของงานเดิม มิฉะนั้น จะต้องถือว่างานปั้น งานแปล หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์
กรณีจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า เนื้อหากลอนแปดที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ประพันธ์ขึ้นนั้นแตกต่างจากเนื้อเพลง The Impossible Dream หรือไม่ เห็นว่าเนื้อหาของกลอนแปดที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ประพันธ์ขึ้นนั้น แม้มีคำบางคำที่เหมือนกันกับคำภาษาอังกฤษ แต่เมื่อพิจารณาเทียบกันทั้งวรรคแล้วจะเห็นว่า มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด (ตามตัวอย่างที่เขียนในบทความ) การที่คำบางคำพ้องกันเป็นกรณีปกติ เช่น คำว่า “Dream” “Impossible Dream” เป็นคำในภาษาซึ่งไม่มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง ทุกคนย่อมสามารถนำมาใช้ได้โดยเสรี การพิจารณาว่างานประพันธ์กลอนแปดของท่านผู้หญิงมณีรัตน์ลอกเลียนงานเพลง The Impossible Dream หรือไม่จึงต้องพิจารณาจากบทกลอนทั้งหมดเทียบเคียงกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาบทกลอนทั้งหมดแล้วจะพบว่า ไม่เหมือนกันเนื้อเพลง The Impossible Dream แต่อย่างใด ดังนั้น งานประพันธ์ (สร้างสรรค์) กลอนแปดของท่านผู้หญิงมณีรัตน์ จึงมีความแตกต่างจากเพลง The Impossible Dream ทั้งในส่วนของรูปแบบและลักษณะ และในส่วนของเนื้อหา
งานประพันธ์ (สร้างสรรค์) กลอนแปดของท่านผู้หญิงมณีรัตน์เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ เมื่อพิจารณาจากคำประพันธ์ที่ต้องเลือกใช้คำที่ได้ความหมาย มีความสละสลวย และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางวรรณศิลป์ในการแต่งกลอนแปดแล้ว จะพบว่า กลอนแปดดังกล่าวมีเนื้อหาที่ไพเราะ สวยงาม ผู้อ่านรับรู้และรู้สึกได้ถึงความงดงามของบทกลอนดังกล่าว และเป็นงานที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ประพันธ์ (สร้างสรรค์) ขึ้นด้วยตนเอง (Originality) กลอนแปดของท่านผู้หญิงมณีรัตน์จึงเป็นงานสร้างสรรค์ที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์
เพลงความฝันอันสูงสุดนี้ จึงเป็นการประกอบขึ้นจากงานที่มีลิขสิทธิ์สองส่วน คือ กลอนแปดที่นำมาใช้เป็นเนื้อร้อง และทำนองเพลง แม้จะรวมอยู่ในเพลงเดียว แต่ก็ยังคงถือว่า ทั้งในหลวงรัชกาลที่ ๙ และท่านผู้หญิงมณีรัตน์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ทำนองเพลง และเนื้อร้องตามลำดับ โดยไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของเพลงนี้ไม่ว่าจะเป็นส่วนเนื้อร้องหรือทำนองที่จะถือว่าได้ละเมิดลิขสิทธิ์เพลง The Impossible Dream แต่อย่างใด
ทั้งนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ยังคงคุ้มครองผลงานของเจ้าของลิขสิทธิ์ต่อไปอีก 50 ปี ภายหลังที่เจ้าของลิขสิทธิ์ถึงแก่กรรม ดังนั้นทั้งเนื้อร้องและทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุดยังคงได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์อย่างแน่นอน
สิ่งที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงลอกเลียนงานต้นฉบับจาก The impossible dream จึงห่างไกลความจริงไปมาก จนไม่น่าจะเชื่อว่าเป็น ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลตัวจริงหรือไม่ก็อาจจะป่วยหนักจนสมองเสื่อมจนไม่แม่นยำในข้อเท็จจริง หลักกฎหมาย และหลักวิชาการใดๆ แล้ว ดังที่ออกมาปล่อยข่าวลือเรื่องวชิราลงกรณ์คอมเพล็กซ์ บนที่ดินที่ตั้งราชตฤณมัยสมาคม มาก่อนหน้านี้