คนเอเชียคิดอย่างไรกับการใช้ชีวิตในสหรัฐฯ หลังจากมีผู้หญิงเชื้อสายเอเชียวัย 40 ปีต้องสังเวยชีวิตให้กับความรุนแรงและการฆาตกรรมจากความคิดเหยียดสีผิวและเชื้อชาติในสหรัฐฯ โดยกลุ่มคนผิวขาวและบางครั้งเป็นชาวผิวสี
และคนไทยในสหรัฐฯ คิดอย่างไรกับการมีชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ หลังจากมีการทำร้ายคนเอเชียซ้ำซากและมีคนเสียชีวิตแล้ว รู้สึกว่ายังไม่ถึงขั้นอันตราย เสี่ยงภัยขั้นสูง หรือว่ายังใช้ชีวิตตามปกติ แต่เพิ่มความระมัดระวังมากกว่าเดิมในพื้นที่เสี่ยง
หรือว่าไม่ไปไหนตามลำพัง แต่ใช้ชีวิตด้วยความกังวล อเมริกาไม่ใช่ประเทศที่มีความปลอดภัยสำหรับคนเอเชียเหมือนแต่ก่อน เพราะเป็นสังคมที่คนผิวขาวรังเกียจคนสีผิวอื่นๆ โดยพื้นฐานเดิมคือปัญหาคนผิวขาวเหยียด รังเกียจคนผิวดำ
ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยไม่รู้สึกอยากไปเที่ยวสหรัฐฯ มากเหมือนแต่ก่อนหรือไม่ สังคมอเมริกันมีปัญหาพื้นฐานระหว่างตำรวจผิวขาวใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำ ดูเหมือนเป็นอคติ เป็นเรื่องราวใหญ่โตระดับชาติหลายกรณี
และยังทำให้ผลกระทบสร้างบาดแผลหยั่งรากฝังลึกในใจของคนทุกผิวสี
ปัญหานี้อาจเกิดในชุมชนใดก็ได้ ในเมืองใหญ่มีคนหลากหลายสีผิว มีปัญหาสังคม เช่นความยากจน การว่างงาน อาชญากรรม บางกรณีการทำร้ายคนเอเชียไม่ได้เกิดจากคนผิวขาว แต่เกิดจากคนผิวดำที่ว่างงาน มีประวัติด้านอาชญากรรม
สหรัฐฯ มีการจัดลำดับความสำคัญของผิวสีอย่างไม่เป็นทางการ เหมือนเป็นการรับรู้โดยทั่วไป เริ่มจากผิวขาว ถือว่าเป็นมนุษย์สุดยอด หรือ white supremacy ตามด้วยคนผิวดำ ซึ่งมีประชากรมากอันดับ 2 คนเชื้อสายเม็กซิกัน ละตินและฮิสแปนิก
จากนั้นเป็นคนเอเชียซึ่งมีลำดับชั้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทยพร้อมกับชนชาติอื่นๆ ความหนาแน่นของชุมชนเชื้อชาตินั้น มีถิ่นที่อยู่เฉพาะ
ช่วงสงครามเวียดนามและลาว มีชาวเวียดนามและชาวเขาเผ่าม้งอพยพเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ มากมาย ปัจจุบันคนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นคนอเมริกันเต็มตัว มีชุมชนของตนเอง ถือสิทธิเสรีภาพเหมือนคนอเมริกัน ถือหนังสือเดินทางสหรัฐฯ
ถึงอย่างไร ก็ไม่สามารถเป็นพลเมืองชั้น 1 ของสหรัฐฯ ได้ หน้าตาผิวสีฟ้องชัด
ถ้ามีปัญหาก่อเหตุร้ายครั้งใด มีกรณีบาดเจ็บจากการทำร้าย เสียชีวิต ก็จะเกิดกระแส เป็นข่าวใหญ่โต ถ้าเหยื่อเป็นคนเชื้อสายเอเชียก็จะมีนักการเมือง ส.ส. ส.ว. เชื้อสายนั้นเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ลดความคิดในการเหยียดสีผิว เชื้อชาติ
ล่าสุดหญิงเอเชีย มิเชล อลิสซา โก ถูกนายไซมอน มาร์เชียล ชายวัย 61 ปีผลักตกลงไปในรางรถไฟใต้ดินในกรุงนิวยอร์ก ย่านไทม์สแควร์ ช่วงเช้า และเสียชีวิต หลังจากนั้นไม่ถึงชั่วโมง มาร์เชียลก็เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์ก
เธอไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าจะออกจากบ้านมาเสียชีวิต ส่วนมาร์เชียล ถูกตั้งข้อหาว่าฆ่าคนตายโดยปราศจากการไตร่ตรองไว้ก่อน ถือว่าเป็นฆาตกรรมชั้น 2 ตามกฎหมายสหรัฐฯ ตำรวจนิวยอร์ก จ่าอันวาร์ อิชมาแอล แถลงว่าเป็นการทำร้ายแบบไม่เจาะจงตัว
นางโกเสียชีวิตหลังจากถูกผลักตกลงไปในรางรถไฟใต้ดินสถานีถนนสาย 42 ในเวลา 9.40 น. จากนั้นมาร์เชียลก็หลบหนีออกจากบริเวณนั้น หัวหน้าตำรวจ คีชัน ซีเวล แถลงข่าววันเสาร์ตามเวลาสหรัฐฯ ว่าเหตุร้ายนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน
มาร์เชียลมีประวัติด้านอาชญากรรมและมีปัญหาด้านอารมณ์ 3 คดี ตำรวจชี้แจงว่าก่อนที่จะผลักนางโกตกลงไปในรางรถไฟ มาร์เชียลได้เดินไปหาหญิงเชื้อสายเอเชียอีกรายซึ่งได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าเธอรู้สึกตัวว่ามีคนผลัก จึงเดินเลี่ยงหนีไป
“วันนี้ หญิงรายหนึ่ง (โก) ได้เดินเข้าไปในสถานีรถไฟเหมือนผู้โดยสารคนอื่นๆ เพื่อจะไปจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ แต่ไปไม่ถึงทั้งๆ ที่คนนิวยอร์กทั่วไปควรรู้สึกว่าจะปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งมวลชน” นายกเทศมนตรีเอริค อดัมส์ แถลง
“จากเหตุที่เกิดขึ้น มหานครนิวยอร์กจะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย และให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา” นายอดัมส์ กล่าว
จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลด้านความปลอดภัย ตรวจตราตามสถานีต่างๆ รวมทั้งในพื้นที่ซึ่งมีคนไร้บ้านอยู่ โดยเฉพาะในสถานีรถไฟใต้ดิน คนเหล่านี้สมควรได้รับการดูแล เจ้าหน้าที่เมืองและตำรวจจะร่วมมือกันเพื่อลดอัตราอาชญากรรมและปัญหาทางจิต
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านงานขนส่งอ้างว่าอาชญากรรมในระบบขนส่งมวลชนมีอัตราลดลง “วันนี้เป็นวันแห่งความเศร้า เมื่อหญิงรายหนึ่งต้องเสียชีวิตขณะที่เดินทางไปทำงาน ในระบบรถไฟใต้ดินย่านไทม์สแควร์ เป็นภาวะที่ยอมรับไม่ได้”
ส.ส. เกรซ เมิ่ง ได้เรียกร้องให้ปรับปรุงนโยบายและมาตรการด้านความปลอดภัยในระบบขนส่งมวลชน บริการด้านสุขภาพจิตและสังคม และมองว่าอาชญากรรม การทำร้ายคนเชื้อสายเอเชียในนิวยอร์กมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา การทำร้ายและการใช้ความรุนแรงต่อชาวเอเชียได้เพิ่มขึ้นทั่วสหรัฐฯ ในหลายปีที่ผ่านมา และเลวร้ายกว่าเดิมในช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นผลของคำพูดของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่โจมตีจีนว่าเป็นต้นตอของการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น
ชายเชื้อสายเอเชียอายุ 62 ปีรายหนึ่งถูกทุบศีรษะในย่านฮาเล็มตะวันออกในเดือนเมษายน แต่เพิ่งเสียชีวิตเดือนที่ผ่านมา เป็นผลจากความร้ายแรงของบาดแผล
นางโจ-แอน หยู ผู้อำนวยการสหพันธ์ชาวเอเชีย-อเมริกัน แถลงเมื่อวันเสาร์ว่าการตายของนางโกได้สะท้อนและเตือนให้รู้ว่าความหวาดกลัวต่อความรุนแรงที่กระทำต่อคนเชื้อสายเอเชียนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและความเป็นจริง