xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำคาซัคฯ สั่งยิงผู้ประท้วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


ประธานาธิบดีคาสซิม โจมาร์ต โตกาเยฟ แห่งคาซัคสถาน
ผู้นำประเทศคาซัคสถาน คาสซิม โจมาร์ต โตกาเยฟ ได้ยกระดับความเป็นผู้นำขึ้นสู่เผด็จการอย่างเต็มภาคภูมิ เมื่อประชาชนต้องสังเวยชีวิตอย่างน้อย 164 รายในการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีสำหรับเติมรถยนต์

โตกาเยฟเล่นลูกหนัก สั่งเจ้าหน้าที่ปราบปรามโดยใช้อาวุธ สั่งให้ยิง และยิงให้ตาย โดยไม่ต้องมีประกาศเตือนก่อนล่วงหน้า นับว่าเป็นความเหี้ยมได้ระดับการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลได้กระจายไปทั่วประเทศ และข้อเรียกร้องไม่ใช่เฉพาะกรณีการขึ้นราคาพลังงานเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงถึงประเด็นอื่นๆ เช่นสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยรวมถึงปัญหาด้านการครองชีพอีกด้วย

มีผู้เข้าร่วมชุมนุมทั่วประเทศสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์โกรธแค้นไม่พอใจต่อรัฐบาลที่ปฏิบัติต่อผู้เดินขบวนอย่างโหดร้าย

มีการประเมินโดยสื่อข่าวจากหลายสำนักซึ่งเฝ้าดูสถานการณ์ว่ามีผู้เดินขบวนประท้วงถูกจับกุมคุมขังมากกว่า 6 พันราย และยังไม่มีท่าทีว่าจะถูกปล่อยตัวหรือจะถูกดำเนินคดีอย่างไรหรือไม่

เมื่อสถานการณ์ลุกลามประธานาธิบดีโตกาเยฟต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน และ ห้ามออกนอกบ้านในเวลากลางคืน หลังจากมีผู้เสียชีวิตเพิ่มตามลำดับ รัฐบาลประกาศว่าสามารถควบคุมและป้องกันการเดินขบวนประท้วงได้สำเร็จ

ด้วยคำสั่งยิงโดยไม่ต้องเตือนล่วงหน้าสะท้อนให้เห็นว่าโตกาเยฟ มีความมั่นใจอย่างมากในฐานอำนาจ นอกจากใช้กองกำลังภายในประเทศแล้วยังเรียกร้องให้รัสเซียและเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่อยู่ในสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันส่งทหารเข้ามาช่วยในการปราบปรามผู้เดินขบวนอีกด้วย

ยังไม่แน่ชัดว่าการเสียชีวิตของผู้ประท้วงกว่า 164 รายนั้นเป็นฝีมือของหน่วยงานด้านความมั่นคงของคาซัคสถานเองหรือฝีมือของทหารต่างชาติ และไม่มีคำอธิบายว่าทำไมโตกาเยฟ จึงต้องพึ่งทหารจากต่างประเทศ

คาซัคสถานเป็นประเทศมุสลิม มีคนรัสเซียปนอยู่ประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ โตกาเยฟอาจมองว่าจะใช้ทหารมุสลิมฆ่าพวกเดียวกันเองอาจไม่สมควร

การเดินขบวนประท้วงการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 มกราคมเมื่อรัฐบาลไม่ยอมลดราคาผู้ประท้วงก็เริ่มยกระดับความรุนแรงในเมืองอัลมาตี มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง อาคาร รถยนต์ส่วนหนึ่งถูกเผาทำลายด้วย

สถานีตำรวจในเมืองอัลมาตี ก็ถูกยึดโดยกลุ่มผู้ประท้วงขณะที่อาคารสำคัญหลายแห่งถูกเผา

ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่ามีกองกำลังของโจรผู้ร้ายร่วม 20,000 รายเข้าโจมตีสถานที่ต่างๆ ในเมืองอัลมาตีโดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นกลุ่มโจร มีแต่เป็นเพียงประชาชนเดินขบวนประท้วง

นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีโตกาเยฟ ใช้มาตรการตอบโต้อย่างรุนแรงโดยใช้อาวุธสังหารนอกเหนือจากแก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำ ความรุนแรงที่ถูกยกระดับขึ้นได้สร้างความประหลาดใจให้กับคณะรัฐบาลชาติอื่นๆ

นอกจากไม่ยอมต่อข้อเรียกร้องแล้วโตกาเยฟ ยังหาเรื่องปลดคณะรัฐมนตรีและสภาคณะความมั่นคงซึ่งประธานเป็นอดีตประธานาธิบดี นูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ซึ่งเป็นผู้นำคนแรกของประเทศหลังจากแยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต เมื่อระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลายในปี 1991

นาซาร์บาเยฟได้เป็นผู้นำแนวเผด็จการมากกว่า 3 ทศวรรษก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่ง โตกาเยฟได้รับช่วงอำนาจต่อผ่านการเลือกตั้งซึ่งมีผู้ใช้สิทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะประเทศในโลกตะวันตกเชื่อว่าเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงการเลือกตั้ง

ความเป็นประเทศภายใต้อิทธิพลของรัสเซียทำให้ผู้นำใช้อำนาจผลิตการควบคุมประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายถ้าจัดการได้ดีจะทำให้ประชาชนไม่ต้องเดือดร้อน

คาซัคสถานเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เท่ากับยุโรปตะวันตกหรือเนื้อที่ประมาณ 3.2 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่มั่งคั่งด้านทรัพยากรมีน้ำมันสำรองมาถึง 3% ของปริมาณในโลกนอกเหนือจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนั้นยังมีแร่ทองแดง เหล็กโมลิบดีนัม ยูเรเนียมและแร่ธาตุสำคัญมีค่ามากมาย ด้วยประชากรประมาณ 19 ล้านคน จึงไม่ยากต่อการจัดสรรบริหารทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการอยู่ดีกินดีของประชาชน

ยังไม่แน่ชัดว่าทหาร รัสเซีย และชาติอื่นๆ ประมาณ 2,500 นายจะอยู่ในคาซัคสถานอีกนานเท่าไหร่หรือจนกว่าผู้นำรัฐบาลมั่นใจว่าจะไม่มีการชุมนุมเดินขบวนประท้วงและเหตุการณ์รุนแรงอีก

กลุ่มประเทศในโลกตะวันตกรวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้ติงว่าขอให้ทุกฝ่ายยับยั้งการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กำลังและอาวุธปราบปรามประชาชนจนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นายแอนโทนี บลิงเคน ได้กล่าวตำหนิแนวทางการจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงโดยเฉพาะ “การยิงเพื่อสังหาร” และควรยกเลิกคำสั่งเช่นนี้ แต่โตกาเยฟไม่ใส่ใจเพราะตนเองต้องการรักษาอำนาจไว้ให้ได้โดยมีรัสเซียอุ้ม


กำลังโหลดความคิดเห็น