วันจันทร์ที่ 3 มกราคม เป็นวันทำงานวันแรกที่สหรัฐฯ เพราะเขาไม่มีหยุดชดเชยวันที่ 1 มกราฯ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ และตลาดหุ้นตลาดน้ำมันก็เปิดทำการเช่นกัน
ปธน.ไบเดนได้จัดการประชุมทางหน้าจอกับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ที่เป็นธุรกิจครอบครัวในอุตสาหกรรมผลิตอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ทั้งหมู, ไก่, เนื้อวัว เป็นต้น โดย ปธน.ไบเดนอยู่ที่ห้องประชุมในทำเนียบขาว ขนาบด้วย รมต.กระทรวงเกษตร (USDA-หรือ Department of Agriculture และ รมต.กระทรวงยุติธรรม (DOJ-Department of Justice)
เขาไม่ได้สั่งให้กระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ไปจัดการเรื่องสินค้าประเภทเนื้อสัตว์มีราคาสูงลิบในขณะนี้ เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลไทย
เพราะราคาเนื้อสัตว์ในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นมากในปี 2021 ที่เพิ่งผ่านไปดังนี้
เนื้อวัวเพิ่มขึ้น 20.1% เนื้อหมูเพิ่มขึ้น 14.1% เนื้อไก่เพิ่มขึ้น 8.8% ปลาและสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้น 11% ไข่เพิ่มขึ้น 11.6%
แน่นอนว่า ราคาน้ำมันดิบในปีที่ผ่านไป เพิ่มขึ้นเกือบ 60% ; (WTI เพิ่มขึ้น 57%; Brent เพิ่มขึ้น 53%) และทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน พุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี อยู่ที่ 6.8% (เทียบกับพฤศจิกายนปีก่อน) และทำให้คนอเมริกันไม่พอใจมาก กระทบความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลของไบเดน
ราคาอาหารเช่น เนื้อสัตว์ ก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกับราคาน้ำมัน (ดิบและที่หน้าปั๊ม) เพราะในปี 2020 เป็นปีที่โรคโควิดได้เพิ่งเริ่มระบาดมาก และทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนและยามารักษาโรคนี้
ทำให้ต้องมีการ test-test-test (ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก) เพื่อแยกผู้ป่วยออกไปกักตัวเพื่อทำการรักษา (เท่าที่จะหายาชนิดเก่าๆ มาประทัง) และได้เกิดการล็อกดาวน์กันทั่วโลก เพื่อพยายามควบคุมการระบาด
การล็อกดาวน์นี้ ทำให้ร้านอาหารและกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก จนเกิดการปลดพนักงานและปิดกิจการชั่วคราวกันทั่วโลก รวมทั้งการปิดบ่อน้ำมันมากมายในหลายแห่ง เพราะความต้องการน้ำมันลดฮวบฮาบ เมื่อเกิดล็อกดาวน์ทำให้เครื่องบิน (เรือเดินสมุทร และเรือสำราญ) ต้องจอดอยู่เฉยๆ จนราคาน้ำมันดิบถึงกับติดลบในช่วงเดือนเมษายน 2020
ขณะที่ฟาร์มหมู, ไก่ รวมทั้งคอกปศุสัตว์เลี้ยงวัวเนื้อ วัวนม ต่างก็ต้องลดขนาด (ปลดพนักงาน) จนบางแห่งต้องปิดกิจการ เพราะลูกค้าประเภทร้านอาหาร/โรงแรม/เรือสำราญ ฯลฯ ต่างก็หยุดกิจการกันเป็นแถว ขนาดสวนดอกไม้ตัดดอกหรือขายต้นทิวลิปยังต้องปิดกิจการ (ชั่วคราว)
พอค้นพบวัคซีนในปลายปี 2020 ทำให้ตลอดปี 2021... (ที่เพิ่งผ่านไป) มีการไล่ฉีดวัคซีนกันทั้งโลก ประกอบกับการอัดฉีดงบมหาศาลเข้าไปเยียวยาอุ้มเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งมีสองแรงแข็งขันคือ งบทางการคลัง และนโยบายทางการเงิน ที่เพิ่มสภาพคล่องชนิดไม่เคยมีมาก่อน เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ล้มระเนนระนาด ด้วยการเพิ่มปริมาณเงิน (QE) และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด
ทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาอย่างฉับพลันในประเทศสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป และกำลังซื้อสินค้าและบริการอย่างมหาศาลก็ได้หวนกลับคืนมาตลอดปี 2021
ทำให้ราคาน้ำมัน (ดิบและกลั่น) พุ่งขึ้นตามการเดินทาง (ทางเครื่องบิน, เรือสำราญ) และการขนส่งสินค้าที่วิ่งกันนำสินค้าไปยังท่าเรือต่างๆ
อาหารการกินก็เช่นกัน มีการเปิดร้านอาหารและโรงแรมกลับฟื้นคืนมา
และทำให้ฟาร์มต่างๆ โดยเฉพาะฟาร์มเล็กๆ ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตของหมูเห็ดเป็ดได้ทัน
ปธน.ไบเดนไม่เพียงตระหนักดีว่า ปริมาณหมู, ไก่, เนื้อวัว, อาหารทะเลจะขยายไม่พอเพียงกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปลายปีที่แล้ว
แต่เขายังตระหนักด้วยว่า อิทธิพลของผู้ผลิตเนื้อสัตว์เจ้าใหญ่ ได้ครอบงำอุตสาหกรรมอาหารเนื้อสัตว์ และเข้าขั้นผูกขาดในการตั้งราคาซื้อทั้งกับผู้ส่งวัตถุดิบ (พวกอาหารสัตว์) และกำหนดราคาขาย (ทั้งขายส่งและขายปลีก)
พอเริ่มเปิดการประชุม ปธน.ไบเดนไม่ได้ส่งให้ รมต.เกษตร/รมต.พาณิชย์ไปจัดการให้ราคาเนื้อสัตว์ถูกลง
เขาเปิดฉากว่า ขณะนี้สหรัฐฯ ตกอยู่ในกำมือของกิจการผลิตอาหารเนื้อสัตว์ 4 เจ้าใหญ่ (ได้แก่ Cargill] Tyson Foods INC., JBS-SA และ National Beef Packing Co.) ซึ่งครอบงำตลาดมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 55% ถึง 85%
เขาพูดถึงธุรกิจครอบครัวที่เคยเป็นเจ้าของฟาร์ม (หรือคอก) หมู, ไก่ หรือไร่ปศุสัตว์ (รวมทั้งแพปลาเล็กๆ) ได้ถูกเบียดจากอิทธิพลของเจ้าใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการใช้กฎหมายด้านการแข่งขันได้ถูกลดอำนาจลงไปในสมัยของทรัมป์ (ทรัมป์ได้พยายามทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายด้านการแข่งขันต้องหมดฤทธิ์ลง โดยการลดงบประมาณที่จะให้แก่หน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม ในการตรวจตราและนำคดีผูกขาดขึ้นสู่ศาล)
ไบเดนย้ำว่า “ระบบทุนนิยมเสรี” (Capitalism) ที่ปราศจากการแข่งขัน (Competition) จะเป็นทุนนิยมเสรีไม่ได้... แต่กลายเป็นการตักตวงกอบโกยประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม (Exploitation) เท่านั้น
เขาต้องการให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีการแข่งขันที่มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ให้ผู้ผลิตเจ้าใหญ่ครอบงำตลาด
เขาได้จัดแบ่งงบ 1 พันล้านเหรียญ เพื่อช่วยผู้ประกอบการอิสระ (ไม่ใช่เจ้ายักษ์) ผู้ผลิตอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ได้เข้าถึงแหล่งเงินง่ายขึ้นเพื่อทำให้เกิดการแข่งขันให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
ด้าน รมต.ยุติธรรมก็ได้สรุปว่า หลายปีที่ผ่านมา ได้มีการควบรวมกิจการจนเจ้าเล็กได้หายไป และเจ้าใหญ่ก็เติบโตจนครอบงำตลาด; การแข่งขันได้ถูกลดบทบาทลง เพราะกระทรวงยุติธรรมถูกตัดงบ (สมัยทรัมป์) จำนวนมาก และขณะนั้นจะได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรเพื่อเข้าไปตรวจสอบการผูกขาดธุรกิจอย่างที่ครอบงำตลาด
1/3 ของงบใหม่นี้จะจัดการจ่ายตรงยังธุรกิจ (ครอบครัว) ขนาดเล็ก เพื่อขยายหรือตั้งฟาร์มใหม่ขึ้น...เป็นงบให้เปล่าเรื่อง R+D...อีก 1/3 จะเป็นเงินที่กระทรวงเกษตรและธนาคารเอกชนจะปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก (หรือผู้ประกอบการอิสระ)
100 ล้านเหรียญสำหรับการฝึกอบรมพนักงานของกิจการเล็กๆ; 50 ล้านเหรียญ สำหรับการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี; 100 ล้านเหรียญ สำหรับช่วยด้านการทำงานนอกเวลาราชการ (โอทีสำหรับเจ้าหน้าที่) กระทรวงเกษตรที่จะไปช่วยเหล่าผู้ประกอบการรายเล็ก
ปฏิกิริยาจากสมาคมผู้ผลิตอาหารออกมาโวยวายไม่พอใจรัฐบาลไบเดน ว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และจะยิ่งสร้างปัญหามากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ
แต่ไบเดนเดินหน้าอย่างหนักหน่วง เพราะขนาดน้ำมันราคาแพง เขายังใช้วิธีนำเอาน้ำมันดิบสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve) ออกมาใช้ เพื่อทำให้น้ำมันราคาลงจนได้