ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ดร.โยธิน มานะบุญ
นักวิชาการอิสระ
ผศ.ดร.จตุรงค์ สุคนธชาติ
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ประมาณต้นเดือนกันยายน 2564 นายชัยวุฒิ ธนคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสได้แถลงในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการหมดสัญญาสัมปทานดาวเทียมไอพีสตาร์ (ไทยคม 4) และไทยคม 6 เอาไว้ว่า
"เมื่อไทยคม 4 และไทยคม 6 กลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งเขาส่งดาวเทียมมาให้ ส่งสถานีมาให้ แต่เขาไม่ส่ง teleport service มาให้ไม่ได้ส่ง Gateway และไม่ได้ส่ง uplink downlink ข้อมูลดาวเทียม มาให้ เป็นของบมจ. ไทยคม เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องใช้ตัวส่งสัญญาณบางส่วนของ บมจ.ไทยคม ไม่ใช่การยกสิทธิ์สัมปทานให้ต่อ แต่เป็นกรณีที่หาก NT มีอุปกรณ์ไม่พร้อม หรือไม่พอ ก็ไปใช้บริการของ บมจ.ไทยคม เพื่อให้การส่งสัญญาณดาวเทียมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง"
ถ้อยแถลงของ รมว. ดีอีเอสดังกล่าว เห็นได้อย่างชัดเจนว่า น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ บมจ.ไทยคม และน่าจะมีเจตนาไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ กล่าวคือในสัญญาข้อ 15 ประชาชนทั่วไปได้อ่านก็มีความชัดเจนว่า ดาวเทียม สถานี และอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐทันที โดยมิต้องตีความใด ๆ ทำให้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดีต้องออกมาแถลงว่า เอาแล้ว 'หมอวรงค์' ชี้เปรี้ยงว่า รัฐมนตรีน่าจะพูดไม่จริงกลางสภาฯ ดังลิงค์ข่าวนี้ https://www.thaipost.net/main/detail/115572
และทำให้นักวิชาการสามคนคือ ดร.โยธิน มานะบุญ นักวิชาการอิสระ ผศ.ดร.จตุรงค์ สุคนธชาติ จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence และ Actuarial Science and Risk Management คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ต้องออกมาเขียนบทความ Gateway, Uplink, Downlink ของดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ต้องคืนชาติหรืออาจมีคนเข้าคุก https://mgronline.com/daily/detail/9640000107440
ข้อความที่นายชัยวุฒิกล่าวนั้น น่าจะไม่ตรงกับความเป็นจริง และมีข้อควรต้องพิจารณาดังนี้
หนึ่ง ข้อความที่นายชัยวุฒิกล่าวไม่ตรงกับสัญญาสัมปทานดาวเทียมข้อ 15 ที่ต้องส่งมอบคืนทั้งหมด แม้กระทั่งบัญชีและสัญญาของลูกค้า ซึ่งดาวเทียมไอพีสตาร์มีลูกค้าต่างชาติสูงถึง 94% และใช้ในประเทศเพียง 6% ในขณะที่สัญญาสัมปทานเป็นสัญญากิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ เป็นหลัก การทำเช่นนี้ถือว่าผิดสัญญาสัมปทาน และกรณีดาวเทียมไอพีสตาร์ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาลงมามาแล้วว่า เป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน แต่นายชัยวุฒิกลับพูดว่า “ไม่ต้องคืน Gateway, uplink และ downlink” โดยอ้างว่า เป็นของไทยคมจึงไม่ต้องส่งคืน
สอง การส่งคืนดาวเทียม แต่ไม่ส่งคืน Gateway, uplink และ downlink เปรียบเทียบได้กับการส่งคืนอุปกรณ์ตามสัญญาสัมปทานรถไฟคือ มีการส่งมอบรถไฟเฉพาะราง แต่ไม่ส่งมอบชานชาลาและสถานีคืนมาให้ ต้องการให้บริการทำได้เพียงให้ผู้โดยสารต้องกระโดดลงจากโบกี้รถไฟและปีนขึ้นโบกี้รถไฟเอง โดยไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จำเป็น
และที่ตลกร้ายคือ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เคยกล่าวในการประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคมว่า หากไม่มี Gateway, uplink และ downlink แล้ว ดาวเทียมย่อมไม่อาจจะทำงานได้ คำพูดของทักษิณ ชินวัตรนั้นพูดเมื่อคราวประมูลสัญญาสัมปทานดาวเทียมได้ แต่ต้องขอใบอนุญาตตั้งสถานี Gateway, uplink และ downlink เองเพื่อให้สามารถดำเนินการดาวเทียมได้
แต่พอถึงคราวส่งคืนดาวเทียมฯ ตามสัญญาสัมปทานข้อ 15 ระบุว่า ให้ส่งคืนทั้งหมดในสภาพใช้การได้ แต่รัฐมนตรีดีอีเอส กลับบอกว่าไม่จำเป็นต้องส่งคืน Gateway, uplink และ downlink และให้หน่วยที่รับผิดชอบไปเช่าเอาจากไทยคมบางส่วน ผมจึงเชื่อถือคำพูดของ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ในกรณีนี้มากกว่าคำพูดของ นายชัยวุฒิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส
สาม ผมไม่แน่ใจว่า ตัวนายชัยวุฒิ ไม่ทราบจริง ๆ หรืออาจจะแกล้งไม่ทราบ หรือได้อ่านสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าวหรือไม่ และได้อ่านรายงานการประชุมกับกระทรวงคมนาคมที่นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองหรือไม่ หรือมีลูกน้องหรือข้าราชการที่คอยพูดเพ็ดทูลจนรัฐมนตรีอาจจะกลายเป็นปลาหลงน้ำจนเมาหมัดใช่หรือไม่
เราขอส่งข้อความมาถึงรัฐมนตรีชัยวุฒิด้วยความปรารถนาดียิ่งว่า ให้ยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งเหนือสิ่งอื่นใด แล้วตัวรัฐมนตรีเองจะอยู่รอดปลอดภัย นักการเมืองที่ทำงานรับใช้กลุ่มทุนจนตัวต้องเข้าไปอยู่ในคุกนั้นมีมาแล้วหลายคน อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกเลย กรณี จำนำข้าว น่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีให้เรียนรู้ได้อยู่เช่นกัน
สี่ ผมมีความเห็นว่า นายชัยวุฒิ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส น่าจะทำให้การส่งมอบดาวเทียมล่าช้าไปหลายเดือน และน่าจะไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ เพราะการไม่ได้รับมอบ Gateway, uplink, และ downlink มา ทำให้ดำเนินการธุรกิจดาวเทียมไม่ได้ จนทำให้เกิดความล่าช้าไปอีกสองสามเดือน ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่รัฐคือ กระทรวงดีอีเอส และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติจำกัด (NT) เป็นมูลค่ามหาศาล
ห้า เท่าที่ผมรับทราบและได้ยินมา มีข่าวว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงดีอีเอส ซึ่งได้เข้าไปชี้แจงในคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีฯ ว่า ทางไทยคมคงจะคืน Gateway Uplink และ Downlink ให้กระทรวงดีอีเอส ทั้งนี้ก็ด้วยเพราะ จำนนด้วยหลักฐาน อาทิ สัญญาสัมปทาน รายงานการประชุมกับกระทรวงคมนาคม เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ยังเป็นเพียงคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่จากกระทรวงดีอีเอสที่ไปให้การกับคณะกรรมการฯ เท่านั้น ส่วนผู้บริหารของกระทรวงดีอีเอส และบมจ.ไทยคม ยังไม่ได้มีคำชี้แจงใด ๆ ออกมาอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เพราะจะไปขัดกับหลักฐานการส่งมอบทรัพย์สินและบัญชีทรัพย์สินที่ต้องมีการจัดทำกันทุกปีด้วย
ด้วยเหตุผลทั้งห้าข้อ โดยส่วนตัวผมจึงวิเคราะห์ได้ว่า บมจ.ไทยคม น่าจะยังไม่มีเจตนาที่จะคืนทรัพย์สินดังกล่าวอย่างแท้จริง เทียบเคียงได้กับการส่งมอบการควบคุมดาวเทียม และการฝึกอบรมแบบ On the job training : OJT ที่เห็นเป็นประจักษ์อยู่ว่าอบรมไปแล้วเจ้าหน้าที่ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติก็ยังไม่สามารถทำงานในการควบคุมดาวเทียมได้จริง โปรดอ่านได้จาก หน่วยงานของรัฐไทย ข้าราชการไทย ง่อยเปลี้ยเสียขา พิการจริง หรือแกล้งพิการ ? ดาวเทียมไอพีสตาร์ 4 และ ไทยคม 6 กับ NT และ DES https://mgronline.com/daily/detail/9640000100482
ทั้งหมดนี้คงต้องถามว่า เมื่อไหร่รัฐมนตรีดีอีเอสจะบังคับให้ไทยคมส่งคืน Gateway, uplink, และ downlinkกลับคืนมาเป็นของชาติตามสัญญาสัมปทาน? เมื่อไหร่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ