ในสังคมของมนุษย์มีทั้งคนดี และคนไม่ดี แต่โดยจำนวนแล้วคนดีมีมากกว่าคนเลว สังคมจึงดำรงอยู่ได้ไม่ถึงกับล่มสลายกลายเป็นนรกบนดิน แต่ถึงแม้ว่าคนเลวจะมีจำนวนน้อยกว่าคนดี คนเลวก็ทำให้คนดีเดือดร้อนรำคาญ เนื่องจากถูกคนเลวเบียดเบียน
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีกติกาสังคมเพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนเลวมิให้ก่อความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่คนดี
กติกาทางสังคมที่ว่านี้ได้แก่ ศีลธรรม อันเป็นคำสั่งสอนของศาสนา รวมไปถึงความเชื่อในรูปแบบต่างกัน และกฎหมายระเบียบข้อบังคับซึ่งถูกกำหนดขึ้นจากผู้ปกครองประเทศ
ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นศีลธรรมที่คนส่วนใหญ่นำมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขก็คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งในส่วนที่เป็นข้อห้ามคือศีล และข้อแนะนำเพื่อนำในการดำเนินชีวิตให้มีความสุข และปราศจากความทุกข์ไปจนถึงขั้นพ้นทุกข์หรือที่เรียกว่า นิพพาน
คำสอนของพุทธศาสนามีมากมาย และหลากหลายรูปแบบให้เลือกปฏิบัติ และในที่นี้จะนำมาให้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมที่ทำให้เป็นคนดีหรือสัปปุริสธรรม 7 ประการคือ
1. ธัมมัญญุตา ได้แก่การรู้ธรรมคือรู้จักเหตุ รู้จักผล รู้ว่าอะไรจริงและอะไรไม่จริง เป็นต้น
2. อัตถัญญุตา ได้แก่การรู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ รวมไปถึงว่าการกระทำนั้นจะให้ผลอย่างไร ดีหรือไม่ดีแก่ตนเองและส่วนรวม
3. อัตตัญญุตา ได้แก่การรู้จักตนเองว่าโดยเพศภาวะ และสถานะทางสังคมทำอะไรได้ และทำอะไรไม่ได้
4. มัตตัญญุตา ได้แก่รู้จักประมาณคือ รู้ความพอดีสำหรับตนเองนั้นอยู่ในระดับใด และจะได้มาซึ่งความพอดีนั้นด้วยวิธีใด โดยที่ตนเองไม่เดือดร้อน และสังคมโดยรวมไม่เดือดร้อนด้วย
5. กาลัญญุตา ได้แก่การรู้ว่ากาลใดควรทำอะไร และกาลใดไม่ควรทำอะไร โดยที่ตนเองและส่วนรวมได้ประโยชน์ และไม่ก่อให้เกิดโทษทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมด้วย
6. ปริสัญญุตา ได้แก่การรู้จักบริษัทคือ รู้จักสังคมที่ตนเองดำรงอยู่ เมื่อตนเองจะต้องอยู่ร่วมกับชุมชนหรือสังคมจะต้องปฏิบัติตนเองอย่างไรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนส่วนใหญ่ของสังคมนั้นๆ
7. ปุคคลปโรปรัญญุตา ได้แก่การรู้จักบุคคลคือ การรู้ความแตกต่างของบุคคล เพื่อจะแยกแยะว่าคนไหนเป็นคนดี และคนไหนเป็นคนไม่ดี แล้วตัดสินใจว่าควรจะถือแบบอย่างคนใดมาเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต
ถึงแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ยังไม่เรียนรู้เกี่ยวกับคำสอนของพุทธดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้อนุมานได้จากปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น และเป็นอยู่ดังต่อไปนี้
1. การชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน หรือหลายท่านได้บอกว่าเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านสถาบัน และมีเจตนาล้มล้างสถาบัน
2. พระภิกษุ 2 รูปแห่งวัดสร้อยทอง ได้จัดรายการผ่านทางโซเชียลมีเดีย ในรูปแบบที่ขัดต่อเพศภาวะของนักบวชในพุทธศาสนา
3. การเคลื่อนไหวเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ โดยเสนอฉบับร่างของประชาชน และถูกสภาฯ ตีตกไปในขั้นรับหลักการ แต่กลุ่มผู้เสนอยังพยายามเดินหน้าสู้ต่อไปนอกสภาฯ
ปรากฏการณ์ทางสังคม 3 ประการข้างต้น ทำให้คนไทยแบ่งออกเป็นสองขั้วคือ เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย
แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยดูเหมือนจะมีจำนวนมากกว่า และได้ออกมาต่อต้านค่อนข้างรุนแรง แต่ก็ยึดหลักการอยู่ในกรอบแห่งกฎหมาย
ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วย ก็ตอบโต้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยใช้ความรู้สึกส่วนตัวมากกว่าใช้หลักการ โดยเฉพาะหลักการที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือ
จะทำให้ฝ่ายที่เห็นด้วยมีท่าทีแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังต่อสู้แบบเอาสีข้างเข้าถู และมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ จากจำนวนหมื่นเหลือจำนวนพัน และเหลือจำนวนร้อย แต่จำนวนนี้เองจะนำไปสู่ความรุนแรงขึ้น
ดังนั้น จึงใคร่ขอให้ทุกฝ่ายลองอ่านธรรมของสัตบุรุษหรือธรรมะที่ทำให้คนเป็นคนดี เผื่อว่าจะได้ข้อคิดและทบทวนตัวเองก่อนที่จะถึงทางตัน