xs
xsm
sm
md
lg

อปริหานิยธรรม 7 : หลักการปกครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



ธรรมสำหรับผู้ปกครองที่ต้องการความเจริญรุ่งเรืองแก่องค์กรที่ตนเองปกครองมี 7 ประการคือ

1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิก พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ

3. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติตามวัชชีธรรม ตามที่วางไว้

4. ท่านเหล่าใดเป็นใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง

5. บรรดากุลสตรี กุมารีทั้งหลาย ให้อยู่โดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ

6. เคารพสักการบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่างๆ ของชาววัชชี (ประจำชาติ) ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป

7. จัดให้ความอารักขาคุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย (ในที่นี้หมายความรวมถึงบรรพชิตผู้ดำรงธรรมเป็นที่พึ่งทางใจของประชาชนทั่วไปด้วย) โดยตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังไม่ได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้นที่มาแล้ว ขอให้โดยผาสุก

อปริหานิยธรรม 7 ประการดังกล่าวข้างต้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เจ้าวัชชีทั้งหลาย ผู้ปกครองแคว้นโดยระบอบสามัคคีธรรม ซึ่งรัฐคู่อริยอมรับว่า เมื่อชาววัชชียังปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ จะเอาชนะด้วยการรบไม่ได้ นอกจากจะใช้การเกลี้ยกล่อมหรือยุยงให้แตกสามัคคี

โดยเนื้อหาสาระของธรรม 7 ประการข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นหลักสำคัญที่ผู้บริหารองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะต้องถือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสามัคคี อันเป็นแก่นของการอยู่ร่วมกันโดยสงบสุข และความก้าวหน้าขององค์กร รวมไปถึงสมาชิกขององค์กรโดยรวม

ถ้านำธรรม 7 ประการนี้มาเป็นตัวชี้วัดรัฐบาล และองค์กรทางการเมืองใดในประเทศไทยในขณะนี้ ก็จะพบว่า ล้วนแล้วแต่ขาดธรรม 7 ประการนี้ ทั้งนี้จะเห็นได้จากพฤติกรรมทั้งขององค์กร และของสมาชิกองค์กร อันเป็นปัจเจกดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความขัดแย้งแตกแยกในรัฐบาล ถึงกับต้องปลดรัฐมนตรี และในการบริหารงานไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น ในกรมของวัคซีน เป็นต้น

2. พรรคการเมืองเริ่มจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล ไม่มีความพร้อมเพรียงในการประชุม ซึ่งขาดธรรมข้อ 1 และข้อ 2 ชัดเจน

ส่วนพรรคฝ่ายค้านเองก็ขาด โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่พยายามจะยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งผิดธรรมข้อ 4, 5 และ 6 ชัดเจน

เมื่อทั้งรัฐบาลและพรรคการเมืองขาดธรรมที่ควรจะยึดถือเป็นหลัก เช่น ท่านผู้อ่านก็พอจะมองเห็น และหาคำตอบได้ด้วยตนเองว่า ประเทศควรจะเสื่อมหรือเจริญจากพฤติกรรมขององค์กร และนักการเมืองอันเป็นปัจเจก

แต่เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน ท่านผู้อ่านคงจะได้อ่านหรือได้ยิน ได้ฟังข่าวการที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งร่วมมือกับพรรคการเมืองได้ทุ่มเทความพยายามเพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยอ้างว่า ทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย เท่าที่พวกเขาอยากให้เป็น

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีทั้งพรรคการเมือง และประชาชนซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศไม่เห็นด้วย และต่อต้านกลุ่มที่ต้องการยกเลิกมาตรา 112 ด้วยมองเห็นว่า กลุ่มนี้ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จงรักภักดี และยึดถือเป็นปูชนียบุคคลของชาติควบคู่กับพระพุทธศาสนามาช้านานจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

อีกประการหนึ่ง ถ้าผู้ที่จ้องยกเลิกมาตรา 112 มีเจตนาต่อประเทศชาติ และประชาชน โดยหวังให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งทางด้านวัตถุ และทางด้านจิตใจ หมายถึงว่าประชาชนอยู่ดี กินดี และมีศีลธรรม จริยธรรม แล้วทำไมไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมก่อนแล้วค่อยแก้ปัญหาการเมืองให้เป็นอย่างที่ตนเองต้องการให้เป็น เริ่มด้วยแก้ปัญหาความยากจน ลดช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนและคนรวยให้เหลือน้อยลง จัดการศึกษาให้คนจนและคนรวยเข้าถึงการศึกษาเท่าเทียมกัน และที่สำคัญแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชันในภาครัฐ อันเกิดจาก 3 ประสานคือ พ่อค้า ข้าราชการ และนักการเมือง ร่วมมือกันโดยประเทศสุดท้าย ทำให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินแล้วค่อยมาแก้ปัญหาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ตามที่ตนเองต้องการให้เป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น