กองกำลังตอลิบานได้ประหารชีวิตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และทหารรัฐบาลมากกว่าร้อยคนหลังจากได้ยอมจำนน เมื่อตอลิบานชนะสงครามกลางเมืองในเดือนสิงหาคม การสังหารมีทั้งการฆ่าเพื่อล้างแค้น และการไล่ล่าตามบ้าน ที่ซ่อนตัว
การสังหารขัดแย้งกับคำอ้างของตอลิบานว่าจะมีนโยบายอภัยโทษ และยอมให้มีทุกฝ่ายเข้าร่วมรัฐบาลในการจัดการฟื้นฟูประเทศ หลักฐานการสังหารมีทั้งการสืบสวน การให้ปากคำของบรรดาญาติผู้เสียชีวิต และทหารตอลิบาน
หลักฐานมาจากการสืบเสาะหาข้อมูลโดยหน่วยงานฮิวแมนไรต์วอตช์ (HRW) ซึ่งได้เดินทางเข้าหลายพื้นที่ ผลการทำวิจัยถูกเปิดเผยในวันอังคารที่ผ่านมา
ในรายงานมีรายละเอียดของการประหาร หรือทำให้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของเจ้าหน้าที่และทหารอย่างน้อย 47 นาย ซึ่งยังรวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเช่นตำรวจ หน่วยงานข่าวกรอง และฝ่ายหน่วยรบฝ่ายพลเรือนอาสาสมัคร
รายงานระบุว่าคนเหล่านี้ได้ยอมจำนนต่อกองกำลังตอลิบาน หรือถูกจับกุมตัวในระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม และ 31 ตุลาคม ปีนี้ งานวิจัยมาจากข้อมูลจากการสัมภาษณ์และสอบปากคำพยาน 67 ราย ซึ่งมีทั้งญาติของเหยื่อการประหารด้วย
บางรายขอร้องไม่ให้เปิดเผยตัวตนในการให้ปากคำต่อ HRW และยังมีกรณีการให้ปากคำของบรรดาญาติของเหยื่อที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยหลังจากถูกควบคุมตัวโดยกองกำลังตอลิบานซึ่งไปไล่ล่าหาตัวเป้าหมายตามที่อยู่อาศัย
การไล่ล่าดูเหมือนจะเป็นระบบ มุ่งหวังเป็นการล้างแค้นส่วนตัวด้วย
หลักฐานที่ปรากฏทำให้คำอ้างของตอลิบานที่ว่าจะมีการปรองดอง ลดละเลิกการเอาคืน หรือล้างแค้น รวมทั้งจะยอมให้คนของรัฐบาลเดิมมีส่วนในการบริหารประเทศ หลังจากสงครามกลางเมืองยืดเยื้อกว่า 2 ทศวรรษระหว่างตอลิบานกับสหรัฐฯ
ผู้นำตอลิบานยังให้คำมั่นในการเจรจาหย่าศึกก่อนหน้านี้ว่าบรรดาชาวอัฟกันที่ทำงานกับหน่วยงานสหรัฐฯ จะไม่ถูกเอาผิด ดังนั้นการสังหารโหดจึงขัดแย้งชัดเจน
รายงานผลวิจัยได้เน้นในพื้นที่จังหวัดกาซนี เฮลมันด์ กันดาฮาร์ และคุนดุซ และได้เน้นรูปแบบของการใช้อำนาจในทางที่ผิดในเมือง โคสต์ พักติกะ และจังหวัดอื่นๆ ซีเอ็นเอ็นรายงานว่าไม่สามารถยืนยันว่างานวิจัยของ HRW แม่นยำหรือไม่
หลังจากรายงานได้ถูกเผยแพร่ รองโฆษกของตอลิบานปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าตอลิบานได้กำหนดนโยบายอภัยโทษในวันแรกที่ยึดอำนาจได้จากรัฐบาล โดยที่เจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนต่างได้รับการอภัยโทษ และให้ใช้ชีวิตตามปกติ
โฆษก บิลาล คาริมิ อ้างว่า หลังจากการอภัยโทษ ไม่มีใครมีอำนาจทำร้ายคนเหล่านั้นได้ แต่ก็ยอมรับว่ามีกรณีที่อดีตเจ้าหน้าที่รัฐถูกทำร้ายจากเรื่องการแก้แค้นส่วนตัว แต่กรณีเช่นนั้นมีจำนวนไม่มากนัก และการทำเช่นนั้นไม่ใช่นโยบายตอลิบาน
โดยรวมแล้ว รายงานระบุว่าคนถูกฆ่าทิ้งหรือหายตัวมีมากกว่า 100 ราย
การไล่ฆ่าหรือทำให้หายสาบสูญเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนหลังจากตอลิบานยึดอำนาจและครอบครองพื้นที่ประเทศ รวมทั้งการยึดเมืองหลวงกรุงคาบูลได้สำเร็จ
รายงานของ HRW ยังระบุว่านอกจากตัวเหยื่อแล้ว ตอลิบานยังมุ่งเป้าเล่นงานบรรดาญาติพี่น้องของเจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคงและทหารด้วย ทำให้พวกที่เคยทำงานให้หน่วยงานสหรัฐฯ พยายามหนีออกนอกประเทศในช่วงก่อนกรุงคาบูลแตก
แต่ยังมีอีกหลายพันคนหลบซ่อนจากการไล่ล่าของกองกำลังตอลิบาน
ชายรายหนึ่งบอกเจ้าหน้าที่ HRW ว่ามีนักรบตอลิบานไปเคาะประตูบ้านและถามว่าน้องชายของตนที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ อยู่ที่ไหน ก็ตอบว่าไม่รู้ จากนั้นอีก 2 วันตอลิบานได้จับตัวน้องชายของตน และจากนั้นก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน
“เมื่อไปสอบถามตอลิบาน ก็ปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น จากนั้นอีก 2 วัน ก็ได้พบร่างไร้วิญญาณของน้องชายมีหลักฐานว่าถูกฆ่าทิ้ง” ญาติของเหยื่อผู้เสียชีวิตบอก
ก่อนหน้านี้ผู้นำตอลิบานได้ประกาศว่าใครที่ละเมิดข้อห้ามเรื่องการไล่ล่าล้างแค้นจะถูกลงโทษ แต่ในความเป็นจริง ทุกอย่างขัดแย้งกับคำรับรอง ทหารตอลิบานนายหนึ่งยอมรับว่าได้มีการสังหารผู้คุมคุก หลังจากถูกสั่งให้กลับเข้าทำงานตามปกติ
เป็นการประหารชีวิตในเดือนสิงหาคม เมื่อหัวหน้าหน่วยตอลิบานเรียกเจ้าหน้าที่คุกไปรายงานตัว ให้ทำงานตามปกติ หลังจากเดินไปทำงานได้ไม่กี่ก้าว ก็ถูกยิงทิ้ง
รายงานระบุว่า “ก่อนที่ตอลิบานบุกเข้ากรุงคาบูล ได้มีการฆ่าล้างแค้น มีการเล็งเป้าเจ้าหน้าที่รัฐในหลายพื้นที่และเมืองหลัก หรือแม้แต่บนถนน เพราะตอลิบานได้ยึดรายชื่อเจ้าหน้าที่ทำงานด้านข่าวกรอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำลายหลักฐานไม่ทัน”
รายชื่อดังกล่าวทำให้ตอลิบานทำงานง่ายขึ้นในการไล่ล่าเป้าหมายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำแหน่งสำคัญ ซึ่งมีทั้งถูกจับกุมและประหารชีวิตในภายหลัง ซึ่งรายชื่อดังกล่าวตอลิบานอ้างว่าจะนำไปใช้เพื่อการนิรโทษกรรม แต่ผลที่ตามมาตรงกันข้าม
รายชื่อทำให้การไล่ล่าตัวง่ายขึ้น และศพจากการสังหารก็ถูกพบเห็นได้ง่ายโดยบรรดากลุ่มญาติ ผู้ให้ปากคำกับ HRW ต่างอยู่ในบรรยากาศของความหวาดกลัวว่าจะโดนไล่ล่าฆ่าทิ้ง การไปลงทะเบียนเพื่อนิรโทษกรรมน่าจะเป็นผลร้ายมากกว่า
ตอลิบานยังพยายามไล่ล่าหาตัวผู้ที่ไม่ไปลงทะเบียนอีกด้วย ทำให้เป้าหมายต่างๆ ต้องซ่อนตัวตามบ้านเพื่อนฝูงหรือญาติ หรือหนีออกนอกพื้นที่
HRW ยืนยันว่าทุกวันนี้การไล่ล่า การเค้นเอารายชื่อจากญาติของเป้าหมาย การสังหารยังเป็นไปอย่างเต็มที่ ผู้นำตอลิบานได้แต่ปฏิเสธ แม้จะมีหลักฐานเป็นศพผู้เสียชีวิตให้เห็น มีหลักฐานการใช้อำนาจโหด การทุจริตโดยผู้นำตอลิบานระดับเมือง
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลตอลิบานยังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก