การประชุมแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนในปีนี้ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ โดยมีผู้เข้าร่วมซึ่งมีผู้นำประเทศ นักธุรกิจ และตัวแทนองค์กรต่างๆ ได้สร้างความหวังว่าโลกอาจไม่เผชิญความเลวร้ายมากเกินไป เมื่อ 105 ประเทศบรรลุข้อตกลงเรื่องป่าไม้
เป้าหมายคือการลดการปล่อยมลพิษสู่โลกให้เป็นศูนย์ด้วยมาตรการต่างประเทศภายใต้ข้อตกลงนี้จะร่วมมือกันระงับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าให้สำเร็จภายในปี 2030 หรืออีกประมาณ 9 ปีจากนี้ไป ถือว่ายังเร็วเกินคาด
กลุ่มที่อยู่ในข้อตกลง มีชาติมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย จีน อังกฤษ แคนาดา ประชาคมยุโรป บราซิล และอินโดนีเซียซึ่งมีพื้นที่ป่ากว้างใหญ่
น่าประหลาดใจ ไม่มีประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม 105 ชาติ ทั้งๆ ที่มีปัญหาการตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นการสร้างความหายนะด้านป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร สิ่งแวดล้อมมากที่สุดในรอบ 50 ปี
เป็นประเทศที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในอาเซียน ในฤดูร้อน อุณหภูมิสูงกว่า 42 องศาเซลเซียส ไม่ต่างจากประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งมีปัญหาเรื่องไฟป่า มลพิษเป็นพิษจากฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ทุกปี ในช่วงต้นปี จนถึงมีเดือนนาคม
น่าสงสัย และยังไม่มีคำอธิบายจากรัฐบาลไทยว่าทำไม มีเหตุผลสำคัญอะไร ถึงไม่ยอมร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ หรือเป็นห่วงกลุ่มธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ที่ปลูกพืช เช่นข้าวโพดเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์
นับว่าเป็นความอับอาย ไม่รับผิดชอบต่อปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างยิ่ง ผู้นำรัฐบาลที่ยกทีมไปประชุมจำเป็นต้องอธิบายให้ชัดเจนถึงการไม่เข้าร่วม
ประเทศไทยเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติทุกปี ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย ไฟป่า ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ภาวะแวดล้อมเป็นพิษจากอุตสาหกรรมและการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติ การปลูกป่าเป็นไปอย่างล่าช้า ขาดการสนับสนุนโดยภาครัฐ
การประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อต้องการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาวโลก ในด้านความแปรปรวนของสภาวะอากาศ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า คลื่นความร้อน พายุ
ที่สำคัญ ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น เมืองชายฝั่งทั้งหลายมีโอกาสจะอยู่ใต้น้ำในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ถ้าอุณหภูมิของโลกสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือและธารน้ำแข็งบนภูเขาสูงละลาย ซึ่งที่ผ่านมามีสภาพให้เห็นชัด
ความหวังเรื่องระงับการตัดไม้ทำลายป่าได้เคยมีข้อตกลงในปี 2014 ในนิวยอร์ก แต่ไม่ประสบผลตามที่ต้องการ ดังนั้น ข้อตกลงครั้งนี้ อาจเป็นความหวังรอบใหม่ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้เห็นผลกระทบรุนแรงมากขึ้น
ข้อตกลงนี้ จะทำให้ประเทศที่มีป่าเขตร้อน หรือป่าฝน เช่น บราซิล อินโดนีเซีย ชาติต่างๆ ในแอฟริกาต้องมุ่งรักษาป่าที่ยังเหลืออยู่ รัสเซียซึ่งมีพื้นที่ป่ามากถึง 1 ใน 3 ของโลกก็ให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลง
ก่อนหน้านี้บราซิลได้โค่นถางป่าแถบลุ่มน้ำอเมซอนเพื่อปลูกถั่วเหลือง โกโก กาแฟ และธัญพืช เพื่อผลิตแอลกอฮอล์ สำหรับใช้เป็นส่วนผสมของแก๊สโซฮอล์
อินโดนีเซียถางป่าบนเกาะสุมาตราเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ในสภาวะที่เป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันที่มากที่สุดในโลก จากนี้ไป ทั้งบราซิลและอินโดนีเซียให้คำมั่นว่าจะลดลง
ป่าไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน การตัดไม้ทำลายป่าจึงเป็นสาเหตุหลักทำให้สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
สหประชาชาติประเมินว่าพื้นที่ 420 ล้านเฮกตาร์ หรือ 1 พันล้านเอเคอร์ของป่าได้ถูกทำลายไปตั้งแต่ปี 1990 การเกษตรเป็นสาเหตุหลัก ในปี 2017 ได้มีการตั้งเป้าให้ลดการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกให้ได้ 3 เปอร์เซ็นต์
แต่การทำลายป่ายังเป็นไปในอัตราที่น่ากลัว แม้จะมีการปลูกป่าและป่าเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ก็ยังต้องใช้เวลานานหลายปี กว่าต้นไม้จะเติบโตเพียงพอที่จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้อย่างเต็มที่
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ยังมีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 4.7 ล้านเฮกตาร์ในแต่ละปี โดยเฉพาะในบราซิล อินโดนีเซีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ในปี 2020 อัตราการทำลายป่ายังสูงที่สุดในทศวรรษ และไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ความต้องการอาหาร ทำให้ต้องผลิตพืชภัณฑ์ ปศุสัตว์ ในแต่ละปี
ภายใต้ข้อตกลงนี้ จะมีเงินกองทุนเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในด้านการรักษาป่า ปลูกป่า และโครงการต่างๆ สำหรับชนพื้นเมืองในการรักษาป่า และพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
บริษัทยักษ์ใหญ่จะเน้นการไม่สนับสนุนซื้อสินค้าจากประเทศที่ผลิตผลการเกษตรจากการตัดไม้ทำลายป่า ไม่รักษาสภาพแวดล้อม
นอกจากจะลดการตัดไม้ทำลายป่า กลุ่มประเทศที่เข้าประชุมยังตกลงกันเรื่องการแสวงหาพลังงานทางเลือกเพื่อทดแทนถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดมลภาวะเป็นพิษ ด้วยการพัฒนาพลังงานจากลม แสงอาทิตย์ และชนิดอื่นๆ
ประเทศอุตสาหกรรมจำเป็นต้องลดการปล่อยมลพิษภายในปีที่กำหนดไว้ ซึ่งบางประเทศต้องใช้เวลานาน 30-40 ปี เพราะการทดแทนถ่านหินยังเป็นไปได้ยาก
ช่วงนี้ปัญหาพลังงานขาดแคลนทำให้ประเทศอุตสาหกรรม เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย ต้องหันมาเพิ่มการผลิตถ่านหิน ขณะที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติราคาสูงขึ้น
ต้องดูว่าข้อตกลงครั้งนี้จะทำให้โลกมีความเสี่ยงต่อหายนะลดลงหรือไม่