ภาพจากhttps://newsbreak.ng/taliban-shoots-dead-afghan-singer-despite-drinking-tea-with-him-claims-family/
อัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของรัฐบาลตอลิบานยังหวังว่าจะได้รับการรับรองจากประชาคมโลก และเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้ ขณะที่เผชิญวิกฤตอย่างหนักด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งยังไม่ทำให้ประชาชนมั่นใจในอนาคตได้
ซ้ำร้าย ยังมีทหารตอลิบานนอกแถวยังทำตัวเป็นพวกอยู่เหนือกฎหมาย ล่าสุด มีทหารตอลิบาน 3 คน บุกเข้าไปในงานแต่งงานและสังหารชาวบ้าน 2 รายที่เล่นดนตรีในงาน อีกกว่า 10 รายบาดเจ็บ มือยิง 2 รายโดนจับกุมตัว อีก 1 รายหนีรอดไปได้
เหตุเกิดที่เมืองเซิร์ก รอด อยู่ในจังหวัดนานการ์ฮาร์ ในทิศตะวันออกของประเทศในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นในเดือนสิงหาคม นักร้องเพลงพื้นบ้าน นายฟาวัด อันดาราบี ก็ถูกทหารตอลิบานลากตัวจากบ้านไปสังหาร
โฆษกรัฐบาลตอลิบานอ้างว่ายังไม่แน่ใจว่าเป็นตอลิบานจริงหรือไม่ และการสังหารโดยใช้อาวุธยิงกราดเข้าไปในงานเป็นเพราะมีความขัดแย้งส่วนตัวหรือไม่
ในอัฟกานิสถานซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของตอลิบานเกือบเด็ดขาด มีแต่ทหารตอลิบานเท่านั้นที่สามารถพกพาอาวุธไปไหนมาไหนอย่างเปิดเผย ยิ่งอยู่ห่างไกลจากกรุงคาบูล เมืองหลวง กลุ่มติดอาวุธยังแสดงอำนาจเต็มที่
รัฐบาลตอลิบานไม่ได้มีข้อห้ามเล่นดนตรี แต่มักมีคำเตือนว่าการเล่นดนตรีและกิจกรรมเพื่อความบันเทิงทุกประเภทไม่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายอิสลาม
ก่อนหน้านี้ กลุ่มตอลิบานติดอาวุธก็ไปค้นตามบ้าน บังคับชาวบ้านโดยเฉพาะสตรี ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามชารีอะห์อย่างเคร่งครัด
โฆษกรัฐบาล ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด แถลงวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่าในอัฟกานิสถานไม่ควรมีใครถือปืนและฆ่าใครตามใจชอบที่เล่นดนตรี ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบให้รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นความขัดแย้งส่วนตัวหรือไม่
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นอ้างรายงานของผู้สื่อข่าวว่าโดยทั่วไปแล้ว ชาวบ้านได้รับการเตือนจากรัฐบาลว่าไม่สมควรเล่นดนตรี โดยเฉพาะในช่วงปี 1996-2001 ซึ่งตอลิบานกุมอำนาจ การเล่นดนตรีเป็นเรื่องต้องห้าม อ้างว่าขัดกับหลักของอิสลาม
การสังหารประชาชนเพียงแค่การเล่นดนตรีทำให้รัฐบาลตอลิบานถูกประชาคมโลกสงสัยว่ากฎระเบียบต่างๆ จะยังเข้มเหมือนกับการยึดประเทศได้ครั้งแรกหรือไม่
ชาวอัฟกันได้รับรู้บรรยากาศการเมืองแบบประชาธิปไตย มีเลือกตั้งผู้บริหารประเทศในช่วงที่ตอลิบานตกจากอำนาจเพราะการบุกเข้ามายึดครองโดยกองทัพสหรัฐฯ เพื่อไล่ล่าหัวหน้าขบวนการก่อการร้าย บิน ลาเดน ของกลุ่มอัลกออิดะห์
ภายใต้รัฐบาลพลเรือน สตรีไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องคลุมหน้า หรือถูกสั่งไม่ให้เรียนหนังสือในระดับสูง จะออกจากบ้านต้องมีผู้ชายไปด้วย ถือว่าเป็นบรรยากาศของความเป็นอิสระ สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ ไม่ถูกจำกัดเหมือนในยุคตอลิบาน
ทุกวันนี้ใช่ว่ารัฐบาลตอลิบานจะรักษาสถานการณ์ได้อย่างเด็ดขาด เพราะยังต้องระวังกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง ไอซิส เค ซึ่งได้ลอบวางระเบิดในจุดต่างๆ ทั้งมัสยิดที่มีคนนับถือนิกายชีอะห์ไปประกอบพิธีกรรม เสียชีวิตแต่ละครั้ง เป็นจำนวนมาก
กองกำลังตอลิบานพยายามค้นหาแหล่งซุกซ่อนตัวของไอซิส เค แต่ไม่สามารถจัดการได้ ถือว่าเป็นหอกข้างแคร่ สร้างปัญหาด้านความปลอดภัยในประชาชน
ไม่มีใครทราบว่ามีกำลังของไอซิส เค หลบอยู่ในอัฟกานิสถานเท่าไหร่ คงเหลือเป็นกลุ่มเดียวที่ยังคงติดอาวุธและต่อสู้กับรัฐบาลตอลิบาน
รัฐบาลสหรัฐฯ แถลงว่าหลังจากตอลิบานยึดประเทศได้ในเดือนสิงหาคม ได้มีประชาชนสหรัฐฯ 340 คนเดินทางออกนอกอัฟกานิสถาน ยังมีบางกลุ่มอาจตกค้างอยู่แต่ไม่อยู่ในสถานภาพที่เสี่ยงภัยมากนักเพราะมีการเจรจากันโดยตลอด
วิกฤตที่รัฐบาลตอลิบานเผชิญอยู่คือด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลขาดเงินสำหรับใช้จ่าย รวมทั้งค่าจ้างให้ข้าราชการ ธนาคารไม่เงินสำหรับให้ประชาชนถอนได้จากเอทีเอ็ม
รัฐบาลตอลิบานได้เรียกร้องต่อประชาคมโลกได้ระงับมาตรการคว่ำบาตร และเลิกอายัดเงินสำรองที่ฝากไว้ในต่างประเทศเป็นจำนวน 9 พันล้านดอลลาร์เพื่อนำมาใช้จ่าย แต่ยังไม่มีคำตอบ สหประชาชาติก็ยังไม่รับรองรัฐบาลตอลิบาน
ประชาชนประสบปัญหาความอดอยาก ขาดแคลนอาหาร และสิ่งของจำเป็นและไม่มีเงินใช้จ่าย พวกที่มีทรัพย์สินพยายามเอาออกมาขายเพื่อนำเงินอพยพไปอยู่ต่างประเทศเพราะมองไม่เห็นอนาคตภายใต้ตอลิบาน แต่ต้องลักลอบข้ามชายแดน
องค์การสหประชาชาติได้เตือนว่าอัฟกานิสถานเผชิญวิกฤตรุนแรงถึงขั้นสภาวะเศรษฐกิจล่มสลายเนื่องด้วยปัญหาความยากจน ประชาชนหลายล้านคนเสี่ยงต่อความอดอยาก เพราะการเกษตรไม่สมบูรณ์ ประชาชนโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิม
สตรีอัฟกันยังเผชิญความแน่นอนทั้งด้านสังคม การศึกษา และการใช้ชีวิตภายใต้กฎของอิสลาม แม้จะมีท่าทีผ่อนปรน ก็ยังไม่สร้างความมั่นใจให้ได้
รัฐบาลต้องเร่งพิสูจน์ตัวเองว่าจะสามารถอยู่ร่วมกับประชาคมโลก ปัจจุบันการเจรจากับต่างประเทศมีอยู่ในสำนักงานตัวแทนตอลิบานในกาตาร์เท่านั้น ไม่มีการติดต่อโดยตรงเพราะจะถือว่าเป็นการรับรองโดยปริยาย