xs
xsm
sm
md
lg

“กมธ.ดีอีเอส” เยือน “เชียงราย” ตรวจโครงข่าย 5G รองรับโครงการนำร่อง “Smart farming”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กมธ.ดีอีเอส” เยือน “เชียงราย” ตรวจโครงข่าย 5G รองรับโครงการนำร่อง “Smart farming” สร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรและท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในพื้นที่

วันนี้ (30 ต.ค.64) คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กาธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร นำโดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ. นายสยาม หัตถสงเคราะห์ รองประธาน กมธ. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กมธ. เป็นต้น พร้อมด้วย น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และตัวแทนจากโอเปอร์เรเตอร์ อาทิ เอไอเอส ทรู และดีแทค ร่วมกันลงพื้นที่ศูนย์อบรมผาหมี จ.เชียงราย เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ระบบสมาร์ทฟาร์มโรงเรือนอัจฉริยะ (Smart farming)และโครงการการพัฒนาวิจัยพืชมูลค่าสูง อาทิ แปลงผัก และแปลงวานิลลา เป็นต้น

กัลยา รุ่งวิจิตรชัย
น.ส.กัลยา เปิดเผยว่า กมธ.ได้มาดูความพร้อมโครงข่ายต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทยหลังการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ รวมทั้งการทำเกษตรดิจิทัล เนื่องจากการเกษตรถูกดึงเข้าไปเป็นจุดขายหนึ่งของ จ.เชียงรายควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ศูนย์อบรมผาหมีเป็นโครงการนำร่องที่ กสทช.ได้ดำเนินการ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น การให้น้ำ ให้ปุ๋ยและการเก็บเกี่ยว ผ่านระบบมือถือ แทนการใช้แรงงานคน และการพยากรณ์อากาศแบบดั่งเดิม เพื่อให้ได้เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเกิดความแม่นยำ สามารถผลิตสินค้าออกมาได้ตรงความต้องการของผู้บริโภคและตลาดในปริมาณที่พอดี

“การทำเกษตรดิจิทัล เป็นการเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นเกษตรสมัยใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนเพาะปลูก การบำรุงให้น้ำไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี 5G โดยเกษตรสมัยใหม่จะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งทางด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิต ที่สำคัญยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยด้วย” น.ส.กัลยา กล่าว

ประธาน กมธ.ดีอีเอส ยอมรับว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้แทนการเกษตรแบบเดิม อาจจะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง และใช้องค์ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อเกษตรกรที่ไม่สามารถเข้าถึง และยังไม่มีความพร้อมเรื่องทุนทรัพย์ เบื้องต้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องจัดวิทยากรเข้าไปอบรมในพื้นที่ และจัดให้ใช้วิธีการทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อทดลองเปรียบเทียบการเพาะปลูกว่าคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่

สำหรับศูนย์อบรมผาหมี จ.เชียงราย เป็นโครงการนำร่องที่ กสทช. ได้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบให้ดำเนินโครงการนำร่องในการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ด้านการส่งเสริมเกษตรดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยี Internet of Thing ในการควบคุมการการเพาะปลูกอัตโนมัติ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ ลดปัญหาความยากจน และสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน.








กำลังโหลดความคิดเห็น