การรัฐประหารโดยผู้นำกองทัพซูดานในช่วงต้นสัปดาห์ผ่านไปอย่างง่ายดาย รัฐบาลพลเรือนไม่มีหนทางจะต่อต้านได้ บรรดานักการเมือง แกนนำกิจการการเมืองโดนรวบตัวไปกักขัง ไม่เว้นแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีและภริยา
ผู้นำรัฐประหาร นายพลอับเดล ฟัตตอห์ อัล-เบอร์ฮาน อ้างว่าการที่กองทัพได้ยึดอำนาจครั้งนี้เพื่อปกป้องไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง หลังจากที่ผ่านมานักการเมืองได้แต่ทะเลาะเบาะแว้งกันโดยตลอด
ฟังข้ออ้างแล้วดูคุ้นๆ หู เหมือนการรัฐประหารในประเทศที่มีการเมืองด้อยพัฒนาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในแอฟริกา เอเชีย หรือย่านทะเลแคริบเบียน อย่างเฮติ
ที่ผ่านมา นอกจากนักการเมืองจะมีปัญหาด้วยกันแล้ว ก็ยังมีการปีนเกลียวกันเป็นระยะ ระหว่างกลุ่มการเมืองและผู้นำกองทัพ นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2019
การยึดอำนาจในกองทัพซูดานครั้งนี้ แม้จะไม่มีแรงต่อต้านโดยฝ่ายการเมือง ก็ยังไม่หมู เมื่อประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงในกรุงคาร์ทูม เมืองหลวง และเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ เรียกร้องให้มีการคืนอำนาจให้การเมืองภาคพลเรือน
คงยากเมื่อรัฐประหารสำเร็จแล้ว จะคืนอำนาจให้ง่าย นอกจากไม่คืนแล้วยังใช้ทหารปราบปรามการประท้วง เริ่มต้นมาตรการเบาไปหาหนัก มีทั้งประกาศภาวะฉุกเฉิน ระบบโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตขัดข้อง ไม่สามารถสื่อสารได้ทั่วประเทศ
ประชาชนต่อต้านด้วยการปิดร้านค้า พนักงานธนาคารแห่งชาติหยุดงานประท้วง แพทย์และบุคลากรโรงพยาบาลทหารผละงาน ไม่รับรักษา ยกเว้นแต่กรณีฉุกเฉิน โรงพยาบาลหลายแห่งมีผู้บาดเจ็บจากการถูกยิงโดยทหาร
ทหารได้ใช้ระเบิดแบบ Stun Grenade โยนใส่กลุ่มผู้ประท้วง เพื่อให้ชะงักงัน มึนงง เมื่อยังไม่ได้ผลเต็มที่ ก็เปลี่ยนมาใช้กระสุนจริง
ผลที่ตามมาทันควันคือมีผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย บาดเจ็บไปหลายสิบราย ผู้ประท้วงใช้วัสดุต่างๆ ปิดถนน เผายางรถยนต์ ขัดขวางรถทหาร
นับตั้งแต่การประท้วงตั้งแต่วันจันทร์ ก็ยังไม่หยุด แสดงให้เห็นว่าไม่ยอมรับการรัฐประหาร ผู้นำทหาร อัล-เบอร์ฮาน ประกาศว่าได้เก็บตัวนายกรัฐมนตรี อับดัลลาห์ ฮัมด็อคไว้ที่บ้านตัวเองเพื่อความปลอดภัย “แต่ตอนนี้ได้กลับไปอยู่บ้านแล้ว”
ฮัมด็อคเป็นนายกฯ อยู่ได้เพียง 2 ปี หลังจากการรัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งทหารได้โค่นล้มผู้นำที่กุมอำนาจมายาวนาน นายโอมาร์ อัล-บาชีร์ ในปี 2019
จากนั้นก็มีเรื่องนักการเมืองแก่งแย่งอำนาจต่อเนื่อง กองทัพมองว่าถ้าปล่อยไว้อาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงจนเกิดสงครามกลางเมืองเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา หรือข้ออ้างอาจเป็นแผนยึดอำนาจที่เตรียมการไว้ก่อน
มีเพียงอย่างเดียวที่ไม่มีข้ออ้างคือการทุจริต คอร์รัปชัน อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลของนายฮัมด็อคยังไม่ได้อยู่ในอำนาจนานเกินไป มัวแต่ยุ่งกับนักการเมืองด้วยกัน
นายพลเอกเบอร์ฮานจะอยู่กุมอำนาจได้นานเท่าไหร่ยังไม่มีใครคาดได้เพราะบรรดาชาติมหาอำนาจเช่น สหรัฐฯ อังกฤษ กลุ่มประชาคมยุโรป รวมทั้งสหประชาชาติต่างออกมาประณามการยึดอำนาจครั้งนี้
สหรัฐฯ ระงับเงินช่วยเหลือ 700 ล้านดอลลาร์ ประเทศอื่นก็ประกาศว่าจะงดการช่วยเหลือเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกัน สหภาพแอฟริกัน ซึ่งซูดานเป็นสมาชิกก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะจะทำให้การขาดเสถียรภาพในทวีป
ขณะนี้ก็มีปัญหาในหลายประเทศ โดยเฉพาะการสู้รบในเอธิโอเปีย
ข้อเรียกร้องยังรวมถึงการให้ปล่อยตัวบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมคุมขัง นักการเมือง และครอบครัวของนายกรัฐมนตรี ขณะที่กลุ่มการเมืองก็พยายามปลุกระดมให้ต่อต้าน
เลขาธิการยูเอ็น นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส ก็ออกมาประณามการรัฐประหาร ว่าเป็นเหมือน “โรคระบาด” ที่สร้างความเสียหายให้แก่ชาติต่างๆ ในแอฟริกาและเอเชีย และเรียกร้องให้ชาติมหาอำนาจรวมตัวกันต่อต้านผ่านคณะมนตรีความมั่นคง
นายกูเตอร์เรสกล่าวว่ามาตรการป้องปรามโดยชาติมหาอำนาจเป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะให้ซูดานกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย
แต่นายพลเบอร์ฮานจัดแถลงข่าว ย้ำว่าถ้ากองทัพไม่ทำอะไร จะทำให้เกิดสถานการณ์เลวร้าย เกิดสงครามกลางเมืองในประเทศ และการควบคุมตัวนายกฯ และครอบครัว ก็เพื่อความปลอดภัย และขณะนี้ก็ยังใช้ชีวิตตามปกติ
ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่านายพลเบอร์ฮานได้เตรียมรายชื่อคณะรัฐมนตรี คณะตุลาการไว้ในช่วง 2 วัน แสดงให้เห็นว่าได้มีการวางแผนไว้นานก่อนทำการรัฐประหาร โดยอ้างว่าจะมีสภาวะอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ
ดังนั้น ความหวังที่ซูดานจะคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยพลเรือนยังห่างไกล วันจันทร์ที่ผ่านมา ทหารยังตระเวนค้นตามบ้าน ที่อยู่อาศัยเพื่อหาตัวบรรดาแกนนำกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล
ภาพที่ปรากฏโดยสื่อทีวีทำให้เห็นการเดินขบวนโดยประชาชนทุกเพศทุกวัย ไม่มีอาวุธ ใช้แต่เครื่องกีดขวางและเผายางรถยนต์เก่าบนถนน และย่านใจกลางเมือง สนามบินปิด ทำให้สายการบินนานาชาติระงับการบินสู่ซูดาน
ทางออกยังมองไม่เห็นในอนาคตอันใกล้นี้เพราะที่ผ่านมา ความพยายามจะแบ่งอำนาจการบริหารประเทศระหว่างนักการเมืองกับกองทัพเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น
นายพลเบอร์ฮานอ้างว่าจะกุมอำนาจรัฐ จัดการทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง และหวังว่าจะมีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยอีกครั้งในปี 2023
ดูว่าท่านนายจะเสพติดอำนาจจนลืมคำสัญญาหรือไม่