นายทหารใหญ่ซูดานประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมยุบคณะรัฐบาลและสภาปกครอง หลังนายกรัฐมนตรีไม่ยอมออกแถลงการณ์สนับสนุนการรัฐประหาร จึงถูกควบคุมตัวพร้อมรัฐมนตรีเกือบทั้งคณะ รวมถึงผู้นำพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลอีกหลายคน ท่ามกลางเสียงประณามและประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านจนเกิดการปะทะกับทหารที่ใช้กระสุนจริงตอบโต้ โดยมีรายงานว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 3 บาดเจ็บ 80
พลเอกอับเดล ฟัตตาห์ อัล-เบอร์ฮัน ประธานสภาปกครองซูดาน ออกแถลงการณ์ทางทีวีเมื่อวันจันทร์ (25 ต.ค.) ว่า เพื่อแก้ไขแนวทางการปฏิวัติของประเทศ จึงตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ยุบคณะรัฐบาลและสภาปกครอง
แถลงการณ์นี้มีขึ้นขณะที่เกิดการปะทะในกรุงคาร์ทูม โดยทหารใช้กระสุนจริงยิงประชาชนที่ออกมาประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจ เหตุการณ์รุนแรงส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณหน้าศูนย์บัญชาการกองทัพ ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกระทรวงสารสนเทศโพสต์บนเฟซบุ๊กว่า นายกรัฐมนตรีอับดัลลา แฮมด็อก ถูกทหารควบคุมตัวไปยังสถานที่ที่ไม่มีการเปิดเผย หลังจากปฏิเสธออกแถลงการณ์สนับสนุนการรัฐประหาร นอกจากนั้นยังมีสมาชิกคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ หัวหน้าพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาล และสมาชิกพลเรือนของสภาปกครองถูกควบคุมตัวด้วย
กระทรวงสารสนเทศยังระบุว่า กองทัพได้จู่โจมเข้าไปในสถานีวิทยุและโทรทัศน์ในเมืองออมเดอร์มาน ซึ่งเป็นเมืองคู่แฝดของคาร์ทูม และจับกุมเจ้าหน้าที่สถานีไป
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้าง คณะกรรมการกลางของสหภาพแพทย์ซูดาน ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากบาดแผล 3 คน ภายหลังถูกฝ่ายทหารยิงระหว่างการประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจของทหารเมื่อวันจันทร์ นอกจากนั้น องค์การอิสระของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินแห่งนี้ ยังเขียนในเพจเฟซบุ๊กของตนบอกว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 80 คน
สถานการณ์ของซูดานตึงเครียดขึ้นนับจากแผนการรัฐประหารเมื่อเดือนที่แล้วล้มเหลว นำไปสู่การกล่าวหากันระหว่างกองทัพกับกลุ่มพลเรือนที่ต้องแบ่งสรรอำนาจภายหลังการขับอดีตผู้นำ โอมาร์ อัล-บาชีร์ เมื่อปี 2019
บาชีร์ถูกโค่นล้มและจำคุกภายหลังเกิดการประท้วงนานหลายเดือน หลังจากนั้นจึงมีการทำข้อตกลงเปลี่ยนผ่านอำนาจการเมืองที่ถูกมองว่า ช่วยปลดปล่อยซูดานจากการถูกโดดเดี่ยวมานาน 3 ทศวรรษภายใต้การปกครองของบาชีร์ โดยมีกำหนดจัดการเลือกตั้งปลายปี 2023
ทว่า กองทัพกลับถูกมองว่าพยายามสร้างสถานการณ์ความไม่สงบทางใต้ของประเทศ และใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารครั้งใหม่
เหตุการณ์ล่าสุดนี้เกิดขึ้นแม้แฮมด็อกเพิ่งบรรลุข้อตกลงกับอัล-เบอร์ฮัน โดยมีเจฟฟรีย์ เฟลต์แมน ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯร่วมเป็นสักขีพยาน
ภาพข่าวจากสถานีทีวีอัล-จาซีรา มูบาเชอร์ เผยให้เห็นชาวซูดานเดินขบวนผ่านแผงกั้นเข้าสู่ถนนที่โอบล้อมศูนย์บัญชาการกองทัพในกรุงคาร์ทูม และผู้เห็นเหตุการณ์เผยว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะหน้าศูนย์บัญชาการดังกล่าว ขณะที่รอยเตอร์รายงานว่า กองกำลังร่วมของกองทัพกับกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารทรงอิทธิพล ออกมารักษาการณ์ประจำอยู่ตามจุดต่างๆ ในคาร์ทูม และสถานีอัล-อราบิยาของดูไบรายงานว่า สนามบินคาร์ทูมปิดให้บริการ นอกจากนั้นยังดูเหมือนบริการอินเทอร์เน็ตในคาร์ทูมไม่สามารถใช้งานได้
ขณะเดียวกัน แถลงการณ์จากกระทรวงสารสนเทศเรียกร้องให้ชาวซูดานร่วมกันขัดขวางทหารที่ต้องการปิดกั้นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
ทั้งนี้ กองทัพมีกำหนดส่งมอบตำแหน่งผู้นำสภาปกครองร่วมให้แก่ตัวแทนจากภาคพลเรือนในเร็วๆ นี้ ทว่า กำหนดเวลายังไม่ชัดเจน ขณะที่คณะทำงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองประสบปัญหาในการทำความตกลงประเด็นสำคัญต่างๆ ซึ่งรวมถึงคำถามว่า ควรส่งตัวบาชีร์ให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อดำเนินคดีในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่
ทางด้านเฟลต์แมนกล่าวว่า อเมริกากังวลอย่างมากกับข่าวกองทัพซูดานเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลเฉพาะกาล พร้อมเตือนว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อปฏิญญารัฐธรรมนูญของซูดาน และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงว่าซูดานจะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ
เช่นเดียวกับโวลเกอร์ เพอร์ธีส ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ ด้านกิจการซูดาน ที่แถลงว่า ยูเอ็นกังวลกับข่าวการรัฐประหารและความพยายามในการบ่อนทำลายการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองในซูดาน
ทั้งนี้ แฮมด็อก นักเศรษฐศาสตร์และอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของยูเอ็น ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีซูดานในปี 2019 เขาได้รับการนับถือจากนานาชาติ รวมถึงกลุ่มพลเรือนที่สนับสนุนประชาธิปไตย แต่ประสบปัญหาในการเปลี่ยนผ่านซูดาน เนื่องจากความแตกแยกทางการเมืองระหว่างกองทัพกับพลเรือน และความกดดันจากวิกฤตเศรษฐกิจ
หลังจากสถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นในเดือนนี้ แนวร่วมกลุ่มปฏิวัติและพรรคการเมืองส่วนหนึ่งได้หันไปจับมือกับกองทัพและเรียกร้องให้รัฐบาลพลเรือนลาออก และสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีหลายคนเข้าร่วมการประท้วงใหญ่ในหลายจุดในคาร์ทูมตลอดจนอีกหลายเมืองเพื่อต่อต้านแนวโน้มการยึดอำนาจของทหาร
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)