กรณีการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด19 ที่ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา เป็นยาพิษที่อันตรายต่อชีวิต ผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าวจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี นั้น ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการ หรือเอกสารใดๆ ที่สามารถนำมายืนยันเรื่องดังกล่าวได้
วันนี้ (8 ต.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด19 ในสื่อออนไลน์ต่างๆ เรื่อง วัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา เป็นยาพิษ หากฉีดจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีการแชร์ข้อมูลที่มีเนื้อหาว่า ผู้ใดที่ฉีควัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ให้เตรียมบอกลาครอบครัว เพราะจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี เพราะอดีตผู้บริหารบริษัทไฟเซอร์ได้เปิดเผยว่าการฉีดวัคซีนคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ อีกทั้งได้มีคำพิพากษาจากประเทศสหรัฐมเอริกา ที่ตัดสินว่าวัคซีน mRNA เป็นยาพิษ เป็นอันตรายต่อชีวิต ให้ยุติการใช้วัคซีนดังกล่าวนั้น ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด อีกทั้งสหรัฐมเอริกายังคงฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่ประชาชนตามปกติ ไม่ได้มีการยุติการใช้วัคซีนตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ปัจจุบันประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับรองวัคซีนโควิด19 จำนวน 6 ชนิด คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และซิโนฟาร์ม ซึ่งทั้ง 6 ชนิดได้ผ่านการรับรองประสิทธิภาพ คุณภาพ ความปลอดภัยจาก WHO ว่าสามารลดการเจ็บป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ ลดอัตราการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ประชาชนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพวัคซีน และแนวทางการฉีดวัคซีน ได้ที่ลิงก์ https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/11/1628849610213.pdf
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคโควิด19 ในประเทศไทย และวิธีการป้องกันตนเอง สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th หรือโทร. 1422
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ข้อความที่มีการส่งต่อเป็นข้อมูลเท็จ อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการ หรือเอกสารใดๆ ที่สามารถนำมายืนยันเรื่องดังกล่าวได้
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข