ต้องบอกว่า เป็นผลงานชิ้นโบแดงของขบวนการสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งถูกกฎหมายที่บุคคลระดับเสนาบดีในรัฐบาลคือ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า สนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย และขอเวลาศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ภายหลังตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าเข้าพบ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ถือว่าเป็นการ “ให้ราคา” กับเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าอย่างมาก ลำพังแค่ให้เข้าพบ รับหนังสือก็ถือว่าให้ความสำคัญแล้ว ไม่จำเป็นต้องแถลงข่าวในเชิงเห็นด้วย เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกนำไปขยายผลว่า นี่คือสัญญาณจากรัฐบาลไทย เพราะชัยวุฒิไม่ใช่นาย ก. นาย ข. แต่เป็นถึงรัฐมนตรี เป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และในระยะหลังมีภาพว่า เป็นคนใกล้ชิดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แบบว่าลุงตู่ไปงานไหน ต้องเห็นพี่โอ๋ไปด้วยทุกงาน
ยังมิพักต้องพูดถึงว่า เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าไม่เกี่ยวกับกระทรวงดีอีเอสเลยไม่ว่าจะมองจากมุมไหน เป็นงานของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ออกประกาศห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557 หรือกระทรวงการคลังเพราะเป็นเรื่องของกฎหมายศุลกากร หรือกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเกี่ยวข้องในเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชน
ทำไมเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าจึงเลือกไปพบรัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอส และทำไมรัฐมนตรีจึงออกหน้าในเชิงสนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายนี้
ถ้าอ้างว่าเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมของเทคโนโลยี กระทรวงดีอีเอสก็ควรสนับสนุนลอตเตอรี่ออนไลน์ด้วย เพราะเป็นการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลแพง
ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมบุหรี่โลก คงจะทราบดีว่า บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่าง ฟิลลิป มอร์ริส เจ้าของแบรนด์บุหรี่ยอดนิยมในบ้านเราคือ มาร์ลโบโรและแอลแอนด์เอ็ม กำลังปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจที่มีรายได้หลักจากบุหรี่ไปสู่ “ผลิตภัณฑ์ที่ไร้ควัน” โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า HTP-Heated Tobacco Product หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความร้อนเผายาสูบโดยไม่เกิดควัน หรือบุหรี่ไฟฟ้านั่นเอง ออกมาทดแทนบุหรี่แบบเดิม ซึ่งถูกต่อต้านจากสังคม และมีข้อจำกัดในการทำตลาดมากมาย
ฟิลลิป มอร์ริส นำบุหรี่ไฟฟ้าแบรนด์ IQOS ออกสู่ตลาดครั้งแรกเมื่อปี 2559 ที่ญี่ปุ่น ปัจจุบันมีจำหน่ายใน 67 ประเทศทั่วโลก มีผู้สูบบุหรี่ที่เปลี่ยนมาสูบ IQOS 14.7 ล้านคน ฟิลลิป มอร์ริสตั้งเป้าว่า อีก 4 ปี คือในปี 2068 จะขยายให้ถึง 100 ประเทศ และคาดว่า ในปีนั้น บุหรี่ไฟฟ้าจะทำรายได้ให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด
แน่นอนว่า ไทยเป็น 1 ใน 100 ประเทศที่เป็นเป้าหมายสู่ “อนาคตที่ไร้ควัน” ของฟิลลิป มอร์ริส
ปัจจุบัน แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นของผิดกฎหมาย แต่มีการโฆษณาการขายบุหรี่ไฟฟ้ากันเกลื่อนผ่านช่องทางออนไลน์ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในโครงการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชาชนปี 2564 ซึ่งเก็บข้อมูลจาก 73,654 ครัวเรือน ครอบคลุมประชากรตัวอย่าง 164,406 คน พบว่า ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีจำนวน 78,742 คน คิดเป็นอัตรา 0 .014% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีจำนวนทั้งหมด 57 ล้านคน เป็นคนที่สูบทุกวัน 40,724 คน และสูบแบบไม่ทุกวัน 38,018 คน
ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 24,050 คนอายุระหว่าง 15-24 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลาง 47,753 คน ขณะที่คนไทยที่รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่า บุหรี่ธรรมดา 26.7% เชื่อว่า อันตรายน้อยกว่า 11.3% และเชื่อว่าอันตรายเท่ากัน 62.05%
ปัจจุบัน มีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 10-11 ล้านคน เทียบกับผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้ว จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีจำนวนเพียง 70,000 กว่าคนเท่านั้น บุหรี่ไฟฟ้าของฟิลลิป มอร์ริส จึงมีตลาดที่ใหญ่มากรออยู่ หากสามารถล้มประกาศห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่ออกมาหลัง คสช.ยึดอำนาจไม่นานได้
รายงานความคืบหน้าการระบาดของยาสูบระดับโลก ขององค์การอนามัยโลกที่เปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่เจาะลึกเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ระบุชัดเจนว่า บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าและเครือข่าย ได้มีการรณรงค์ให้ข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น อันตรายน้อยกว่าและช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ธรรมดา ซึ่งเป็นข้ออ้างที่รายงานองค์การอนามัยโลกระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานจากฝ่ายที่เป็นกลาง สนับสนุนข้ออ้างของบริษัทบุหรี่และเครือข่ายรณรงค์สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า
ข้อมูลสำคัญที่ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นผู้ทำตลาดในประเทศไทยสื่อสารกับสาธารณะ คือ ไทยมีผู้สูบบุหรี่ราว 11 ล้านคน ที่จะเลือกสูบบุหรี่ต่อไป สังคมไทยจึงต้องหานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเพื่อช่วยลดอันตรายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งบริษัทเชื่อว่า แม้ผลิตภัณฑ์ไร้ควัน จะไม่ได้ปราศจากความเสี่ยงโดยสิ้นเชิง แต่ก็เป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการสูบบุหรี่ และผู้สูบบุหรี่ควรมีสิทธิได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ไร้ควันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย