เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องขออนุญาตแวะไปดูเรื่อง “หนี้สิน” ของคุณพ่ออเมริกาเขาสักนิด เพราะว่าไปแล้วออกจะเป็นเรื่องคอขาด-บาดตาย ไม่ว่าต่ออเมริกาหรือต่อโลก ยิ่งกว่าเรื่องการ “ยั่วยวนกวนส้นตีน” ระหว่างอเมริกากับคุณพี่จีนในช่องแคบไต้หวันไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า คือเรื่องนั้น...แค่ต่างฝ่ายต่างลดความเป็น “ดาวร้ายหนังไทย” ประเภทชอบร้องเพลง “อยากจะชิมส้นตีนนัก...อยากจะชิมส้นตีนนัก” ยั่วพระเอกอยู่บนหัวสะพาน อะไรประมาณนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็น่าจะพออยู่ๆ กันไปได้...
แต่กับสำหรับเรื่อง “หนี้สิน” ระดับปาเข้าไปถึง 28.5 ล้านล้านดอลลาร์ของคุณพ่ออเมริกาเขานี่สิ!!! หรือระดับต้องเรียกว่า “เกิดมาเป็นสุธีสาม-สี่ชาติ” ก็ยังไม่น่าจะใช้หมด แถมยังต้องหาทางเรียกร้องให้รัฐสภา วุฒิสภา “ปรับเพิ่มเพดานหนี้” ชนิดคราวแล้ว คราวเล่า แม้ว่าถ้าว่ากันตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1917 เป็นต้นมา ขณะที่หนี้สินของประเทศสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับชิลๆ หรือระดับแค่ประมาณ 115,000 ล้านดอลลาร์ นับจากนั้นมาประมาณ 90 กว่าปี การทำในสิ่งที่เรียกว่า “การปรับเพดานหนี้” ของรัฐสภาสหรัฐฯ จะมีมาแล้วถึง 74-75 ครั้ง จนอาจถือเป็นเรื่อง “ปกติธรรมดา” ไปแล้วก็ว่าได้ แต่สำหรับช่วงหลังๆ นี้ มันคงไม่ถึงกับ “ธรรมดา” มากมายสักเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะถ้าหากนำเอา “ปริมาณหนี้” ไปเปรียบเทียบกับตัวเลขจีดีพี หรือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ประมาณเอา “ตัวเลขหนี้สิน” ไปเปรียบเทียบกับ “ตัวเลขรายได้” ในแต่ละปีอะไรทำนองนั้น อันสามารถเป็นตัวสะท้อนถึงขีดความสามารถในการ “ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย” หรือไม่ อย่างไร ได้โดยชัดเจน...
คือตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา...หรือช่วงก่อนหน้าที่อดีตประธานาธิบดีผิวสี “โอมาบ้า” (โอบามา) ท่านจะขึ้นมาเถลิงอำนาจ ตัวเลขหนี้สินของประเทศอเมริกาก็ออกจะ “น่ากลัว” อยู่พอประมาณ คือขึ้นไปถึง 9.6 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขจีดีพี หรือตัวเลขรายได้ประเทศ ก็อยู่ที่ประมาณ 60.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้นเอง ยังสามารถนำเอารายได้มาใช้หมุนหนี้ จ่ายหนี้ จ่ายดอกเบี้ย กันได้อย่างไม่ถึงกับหนักหนา-สาหัสมากมายสักเท่าไหร่ แต่ในช่วงระหว่างยุค “โอมาบ้า” นี่สิ!!! จะด้วยวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตซับไพรม์ หรืออะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ ในช่วงปี ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา การหันไป “QE” โน่น “QE” นี่ (Quantitative easing) หรือหันมาพิมพ์เงิน อัดฉีดเงิน เข้าสู่ระบบเพื่อฟื้นฟู เยียวยา บรรดานักธุรกิจ นายทุนอเมริกันซะเป็นหลัก จึงทำให้ตัวเลขหนี้สินอเมริกาพุ่งปรู๊ดๆ ปร๊าดๆ ไปถึง 14.6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเกือบประมาณ 93 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หนักหนา-สาหัสยิ่งกว่าการ “กู้แหลก” ของ “บิ๊กตู่” บ้านเราไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า...
และหลังยุค “โอมาบ้า” ผ่านพ้นไปแล้ว...จากหนี้สินประเทศอเมริกาที่พอกพูนไปถึง 17 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อดันต้องมาเจอกับการใช้แหลก จ่ายแหลก ของรัฐบาล “ทรัมป์บ้า” จำนวนหนี้สินในอเมริกาช่วงปี ค.ศ. 2020 มันเลยปาเข้าไปถึง 21 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้เลย จนกระทั่งมาถึงยุค “ผู้เฒ่าโจ” ทุกวันนี้ ด้วยเหตุเพราะ “รายได้” มันน้อยกว่า “รายจ่าย” ยิ่งเข้าไปทุกที หรือด้วยเหตุเพราะการ “ขาดดุล” มาโดยตลอดนั่นแหละ อันเนื่องมาจากสาเหตุหลักๆ ประมาณ 3 ประการใหญ่ๆ อย่างที่ศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน “อัลเฟรด แมคคอย” (Alfred McCoy) ท่านเคยสรุปเอาไว้ คือ 1. เพราะการสูญเสียส่วนแบ่งตลาด หรือการสูญเสียอิทธิพลทางการค้าที่เคยมีต่อโลกทั้งโลก 2. ความถดถอยและเสื่อมโทรมทางเทคโนโลยี การประดิษฐ์คิดค้น และ 3. การสูญเสียสิทธิพิเศษของเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองของโลก ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้ มันเลยทำให้ “รายได้” น้อยลงๆ ขณะที่ “รายจ่าย” ยังคงเยอะแยะตาแป๊ะไก๋ จนปริมาณหนี้สินในยุค “ผู้เฒ่าโจ” ปาเข้าไปถึง 28.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือไม่รู้กี่ร้อยๆ ล้านล้านดอลลาร์ชนิดไม่ว่า “เครื่องคิดเลข” ใดๆ ก็แทบคิดไม่ไหว คำนวณไม่ไหว เอาเลยถึงขั้นนั้น...
การหาทาง “ปรับเพดานหนี้” ให้มันเพิ่มๆ ขึ้นไป...เพื่อที่จะมีโอกาส “กู้หนี้เพิ่ม” เพื่อเอามาใช้หนี้ หรือเอาไปใช้จ่ายตามอภิมหาโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบ “Build Back Better” ที่ว่ากันเป็นระดับ 1.9 ล้านล้าน หรือ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ของ “ผู้เฒ่าโจ” ก็แล้วแต่ มันจึงกลายเป็น “ความจำเป็น” เอามากๆ ชนิดถ้าหากสมาชิกรัฐสภา หรือวุฒิสมาชิกโดยเฉพาะในพรรคการเมืองตรงข้ามอย่าง “รีพับลิกัน” เกิด “ไม่เห็นควรด้วย” ขึ้นมา ออกอาการยึกๆ ยักๆ หรือหันไปเล่นเกม “Russian Roulette” โดยมี “เศรษฐกิจอเมริกันเป็นเดิมพัน” อย่างที่ “ผู้เฒ่าโจ” ออกมาตำหนิ ออกประณาม นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามก่อนล่วงหน้าเอาไว้ทำนองนั้น ไม่เพียงแต่โอกาสที่ประเทศอเมริกาทั้งประเทศอาจต้อง “Shut Down” หรือไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ยังอาจถึงขั้นต้อง “เบี้ยวหนี้” หรือถึงขั้น “ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย” แบบคุณ “สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” บ้านเรา ต่อบรรดา “เจ้าหนี้” ทั้งหลาย ชนิดแม้แต่ “ดอกเบี้ย” ก็ยังไม่มีปัญญาจ่ายเอาเลยถึงขั้นนั้น อันนี้...ถ้าว่ากันตามคำพูด คำจา คำอธิบาย ของรัฐมนตรีคลัง “นางเจเน็ต เยลเลน” (Janet Yellen) ก่อนหน้านั้น...
แต่ในช่วงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (7 ต.ค.) อย่างที่พอได้รู้ๆ จาก “ข่าวล่า-มาเรือ” ไปแล้วนั่นแหละว่า...ด้วยเสียงโหวต 61 เสียงจากวุฒิสภาสหรัฐฯ โดยเป็นของฝ่ายรัฐบาล หรือของพรรคเดโมแครต 50 เสียง ฝ่ายตรงข้ามอย่างรีพับลิกันอีก 11 เสียง เห็นพ้องต้องกันให้ “แขวน” เรื่องการจำกัดการปรับเพดานหนี้ดังกล่าวเอาไว้ชั่วคราว หรือให้ยืดเวลาไปจนถึงเดือนธันวาคมเป็นอย่างน้อย เพื่อให้รัฐบาลมีโอกาสปรับตัว หรือมีโอกาส “กู้หนี้เอามาใช้หนี้” ไปก่อนพลางๆ จนกว่าจะอีก 2 เดือนข้างหน้า ถึงค่อยหันมาเล่มเกม “รัสเซียนรูเล็ต” กันใหม่อีกรอบ หรือพูดง่ายๆ ว่า...ยังคงไม่ถึงกับสามารถหายใจ หายคอ ได้แบบปลอดโปร่งโล่งสบาย อะไรมากมายนัก สำหรับ “ปัญหาหนี้สิน” อเมริกา ที่แทบมองไม่เห็นทางแก้ ทางออก ทางไป หรือแม้แต่ “ทางรอด” เอาเลยแม้แต่น้อย...
อันนี้นี่แหละ...ที่จะทำให้รัฐบาล “ผู้เฒ่าโจ” ที่ออกอาการ “ซึมเซา” อยู่แล้ว แม้พยายามอัดฉีดสเตียรอยด์ เข้าไปอีกสักกี่เข็ม ต่อกี่เข็ม ก็แล้วแต่ หรือแม้พยายามหาทาง “พลิกฟื้นรายได้” ด้วยโครงการเศรษฐกิจระดับ 1.9 ล้านล้าน หรือ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ กันขนาดไหน เพียงใด ก็ตาม ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะ “ง่วงเหงา-หาวนอน” ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าหากบรรดานักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม ยังพร้อมที่จะเล่นเกม “รัสเซียนรูเล็ต” หรือพร้อมที่จะ “จำกัดเพดานหนี้” อีกต่อไป เรียกว่า...ถึงขั้นนักการเมืองฝ่ายเดโมแครต หรือฝ่ายรัฐบาลบางราย ถึงกับไปงัดเอา “ไอเดีย” แปลกๆ ประเภท “ครีเอทีฟไอเดีย” แบบชนิดไม่รู้ใคร “ถีบ” ใคร มานำเสนอให้เป็นที่ฮือฮากันไปมั่งแล้ว เช่น เสนอให้รัฐบาล “ผลิตเหรียญกษาปณ์” เอาไว้เป็นจำนวน 1 ล้านล้านเหรียญแล้วเอาไปฝากไว้กับธนาคารกลางเฉยๆ เพื่อให้เกิด “มูลค่า” ขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจอเมริกา หรือเพื่อให้รัฐบาลสามารถ “สร้างหนี้เพิ่ม” โดยไม่ต้องเสียเวลาไปง้อพรรคฝ่ายค้านเอาเลยแม้แต่น้อย...
แม้ว่า “ไอเดีย” ดังกล่าว...อาจก่อให้เกิดการ “เจ๊ง...กับ...เจ๊ง” หนักขึ้นไปใหญ่ แต่ไม่ว่าจะถูกนำมาใช้ หรือไม่ถูกนำมาใช้โดยรัฐบาลอเมริกันก็แล้วแต่ การหาทางออก ทางไป และทางรอดของ “เศรษฐกิจอเมริกา” ก็ยังเป็นอะไรที่ออกจะยากส์ส์ส์แสนยากส์ส์ส์ แทบมองไม่เห็นช่อง เห็นทาง เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เอาเลยแม้แต่น้อย เมื่อต้องเจอกับ “ปัญหาหนี้” ระดับ 28.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ใน 4 ของบรรดาหนี้สินที่อุบัติขึ้นมาทั่วทั้งโลก เอาเลยก็ว่าได้ แนวโน้มเศรษฐกิจอเมริกาในอนาคตเบื้องหน้า หรือ “อนาคตอันใกล้” จึงน่าจะเป็นไปแบบที่ศาสตราจารย์ “นูเรียล รูบินิ” (Nouriel Roubini) แห่งวิทยาลัยธุรกิจสเติร์น มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และประธานบริษัท “Roubini Global Economics” ได้สรุปเอาไว้เมื่อเกือบสิบปีที่แล้วนั่นแหละว่า... “เมื่อไหร่ก็ตาม...ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เดินไปถึงจุดที่จะต้องกู้ยืมเงิน เพื่อมาจ่ายดอกเบี้ยให้กับหนี้สินที่ตัวเองก่อขึ้นมา เมื่อนั้น...รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นใคร? หรือพรรคการเมืองใด? ย่อมต้องถูกผลักดันให้ก้าวเข้าสู่วงจรแบบเดียวกับบรรดา...แชร์ลูกโซ่...ทั้งหลาย อันจะนำมาซึ่ง...ความล้มละลาย...ของประเทศทั้งประเทศภายในอีกไม่นาน-ไม่ช้า” จริง-ไม่จริง เชื่อ-ไม่เชื่อ อันนี้...ก็คงต้องเริ่มต้น “นับถอยหลัง” กันได้แล้ว นับตั้งแต่บัดนี้!!!