ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เมื่อเร็วๆ นี้พรรคก้าวไกลได้เผยแพร่บทความทำไมงบฯ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงต้องปฏิรูป?
https://www.moveforwardparty.org/parliament/5083/#!
ใจความสำคัญตอนหนึ่ง กล่าวว่า งบ ส่วนราชการในพระองค์สูงเกินไป ถ้าลองพิจารณาเปรียบเทียบประเทศที่มีกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่ง สิ่งที่เราพบคือ สถาบันกษัตริย์ไทยได้รับงบประมาณมากที่สุด มากกว่ากษัตริย์อังกฤษ ที่ได้งบประมาณ 3,565 ล้านบาท 1 เท่า และมากกว่าสวีเดน ที่สถาบันกษัตริย์ได้งบประมาณ 266 ล้านบาท เกือบ 33 เท่า ทั้งยังทำกราฟแท่งประกอบและนำไปแพร่หลายทั้งใน Facebook ของพรรค และให้สมาชิกของพรรคเอามาพูดเผยแพร่ต่อในที่สาธารณะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรังสิมันต์ โรม และทำกราฟด้านล่างนี้ออกมา
กราฟแท่งดังกล่าวเป็นการโกหกบิดเบือนด้วยตัวเลขและสถิติ โดยที่ทำกราฟที่ใช้ข้อมูลที่ไม่อาจจะเปรียบเทียบกันได้มาเปรียบเทียบกัน
โดยที่ กราฟแท่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศนั้น ตัวเลขเป็นเงินปี หรือที่เรียกว่า Civil list หรือ sovereign grant อันเป็นเงินที่รัฐบาลจัดถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงใช้ส่วนพระองค์ ในกราฟแท่งด้านขวาทั้ง 7 แท่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ 7 ประเทศในยุโรปนั้นเป็นเงินปี ที่เรียกว่า civil list
เงินปีนี้ ประเทศไทยก็มีมานานนับตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์หรืออาจจะก่อนหน้านั้น เป็นเงินซึ่งรัฐบาลจัดถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงใช้เป็นการส่วนพระองค์ ในขณะเดียวกันก็จัดถวายให้พระมหากษัตริย์พระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารในแต่ละปี
เงินปีนี้เป็นเงินที่ผู้ได้รับพระราชทานหรือผู้ที่ได้รับการถวายคือพระบรมวงศานุวงศ์/ข้าราชบริพาร หรือพระมหากษัตริย์สามารถทรงใช้สอยส่วนพระองค์ หรือใช้สอยส่วนตัวได้โดยไม่มีข้อจำกัดประการใด และจะได้รับการถวายหรือได้รับพระราชทานปีละครั้งเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นช่วงสงกรานต์ เรียกรวมว่าเบี้ยหวัดเงินปี หรือบ้างก็เรียกว่าเงินปีเบี้ยหวัด
คำว่าเงินปีนั้นนิยมใช้กับเงินที่พระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์โดยพระมหากษัตริย์ปีละครั้ง
เบี้ยหวัดนั้นนิยมใช้กับเงินที่พระราชทานข้าราชบริพารโดยพระมหากษัตริย์ปีละครั้งเช่นเดียวกัน
เมื่อเห็นกราฟนี้ของพรรคก้าวไกลและเห็นรายการอ้างอิงเป็นภาษาอังกฤษและภาษาสเปนที่อยู่ด้านล่างก็ทำให้นึกได้ว่าเคยเห็นรายการอ้างอิงรายการนี้ในหนังสือต่างประเทศมาเล่มหนึ่ง และได้เห็นรายการอ้างอิงเหล่านี้ในบทความที่เผยแพร่โดยคณะก้าวหน้าใน common school ที่สอนเรื่องผิด ๆ เป็นภัยความมั่นคงของชาติเช่นเดียวกัน แต่เข้าใจว่าคนวาดกราฟและคนเขียนบทความไม่น่าจะได้ย้อนกลับไปหาต้นฉบับเอกสารอ้างอิงที่เป็นที่มาชั้นต้น Original sources อย่างแท้จริงแต่อย่างใด บางรายการเป็นภาษาสเปนซึ่งผมเองก็อ่านได้ลำบากเช่นเดียวกัน
หนังสือที่คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลนำมาใช้อ้างอิงนั้นแท้จริงคือหนังสือที่ชื่อว่าบทบาทของราชาธิปไตยในประชาธิปไตยสมัยใหม่เปรียบเทียบราชบัลลังก์ยุโรปจัดพิมพ์โดยบริษัท Heart พับลิชชิ่งในปี 2020 ในหน้าที่ 181 ถึง 180 9 และมีบรรณาธิการคือ Robert Hazell และ Bob Morris
กราฟแท่งเหล่านี้มีข้อบกพร่องคือเอาเงินปีของ 7 สถาบันในยุโรปมาเปรียบเทียบกับเงินงบประมาณประจำปีของหน่วยราชการในพระองค์ของประเทศไทยซึ่งเป็นเงินคนละก้อนไม่อาจจะเอามาเปรียบเทียบกันได้เลย
เพราะเงินปีของสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุโรปนั้นไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายในการรักษาความปลอดภัย อีกทั้งไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน/ราชการส่วนพระองค์ ที่อาจจะมีเกิดขึ้น
ในขณะที่เงินงบประมาณประจำปีของหน่วยราชการในพระองค์ หรือ annual budget of the Royal office เป็นเงินคนละก้อนกันอย่างสิ้นเชิงการเปรียบเทียบเช่นนี้ในกราฟเดียวกันจึงเป็นการเอากล้วยมาเปรียบเทียบกับแอปเปิลซึ่งฝรั่งจะสอนสั่งกันอยู่เสมอว่า Don't compare banana with apple!
การวาดกราฟของคณะก้าวหน้ายังมีลักษณะที่บิดเบือนสัดส่วนหรือที่เราเรียกว่า scale distortion อย่างชัดเจนโดยไม่ได้คำนึงถึงความสูงของกราฟแท่งซึ่งจะต้องเป็นสัดส่วนจับตัวเลขจำนวนเงิน อันถือว่าเป็นการบิดเบือนและโกหกด้วยสถิติอีกวิธีหนึ่งการวาดกราฟหรืออินโฟกราฟิกเน้นไปที่ความสวยงามโน้มน้าวใจหรือจูงใจให้คนหลงเชื่อมากกว่าความถูกต้องความแม่นยำในการนำเสนอข้อมูลซึ่งเป็นวิธีการอันเลวร้ายในการนำเสนอสถิติและกราฟในทางสถิติ
ในบทความของคณะก้าวหน้าเมื่อกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษนั้นได้แสดงความอ่อนด้อยทางภาษาออกมาอย่างชัดเจนด้วยการแปลความออกคำว่า civil list และ ภายหลัง sovereign grant เป็นภาษาไทยว่า เงินรายปี ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วคำว่าเงินรายปีนี้ไม่ได้ใช้ในภาษาไทยเช่นนี้เพราะในภาษาไทยมีคำว่า เงินปี อยู่แล้วไม่จำเป็นต้องไปประดิษฐ์วาทกรรมบิดเบือนสร้างฉบับใหม่ขึ้นมาแต่ประการใดเพราะมีคำแปลที่ลงตัวถูกต้องใช้กันมานานนับแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์หรืออาจจะนานกว่านั้น ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ ยกเว้นจะมีวัตถุประสงค์อื่น ที่จะแสดงให้เห็นว่าแตกต่างออกไป
ทั้งนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้บัญญัติไว้ว่า
เงินปี น. เงินที่มีกำหนดจ่ายให้แก่พระบรม-วงศานุวงศ์เป็นรายปีจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนของสำนักพระราชวัง.
เบี้ยหวัด น. เงินที่มีกำหนดจ่ายเป็นรายปีให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชบริพารจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนของสำนักพระราชวัง, เงินปี หรือ เบี้ยหวัดเงินปี ก็เรียก
พจนานุกรมศัพท์บัญญัติรัฐศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน 17 ส.ค. 2544 ได้บัญญัติไว้ว่า
civil list 1. เงินปีพระมหากษัตริย์, งบค่าใช้จ่ายส่วนพระมหากษัตริย์2. งบเงินเดือนข้าราชการพลเรือน
เช่นเดียวกับพจนานุกรมศัพท์บัญญัตินิติศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน 11 มี.ค. 2545 ได้บัญญัติไว้ว่า
civil list เงินปีพระมหากษัตริย์, ค่าใช้จ่ายในพระองค์พระมหากษัตริย์ (ก. การคลัง)
ทั้งนี้ประเทศไทยมี พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พศ.2542 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า
เงินปี หมายความว่า เงินที่มีกำหนดจ่ายเป็นรายปี จากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนของสำนักพระราชวัง
ถ้าจากนิยามตามกฎหมาย เงินปี ย่อมเป็นส่วนหนึ่ง (Subset) ของเงินงบประมาณประจำปีของสำนักพระราชวัง ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยราชการในพระองค์
คำถามคือ ในกราฟเดียวกันของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า กราฟแท่งแรกด้านซ้ายเป็นเงินงบประมาณประจำปีซึ่งได้รวมเงินปีเอาไว้เข้าไปด้วย ส่วนกราฟด้านขวาอีกเจ็ดแท่งของสถาบันในยุโรป เป็นเงินปีล้วน ๆ แต่อย่างเดียว แล้วเอาของที่นิยามต่างกัน อันหนึ่งเป็นส่วนย่อยของอีกอันมาวาดเปรียบเทียบกันแล้วโกหกกันว่าแตกต่างกัน 30 เท่าได้อย่างไร เป็นการนำเข้าข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่?
ในพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พศ.2542 ลักษณะ 2 เงินปีและเงินประจำตำแหน่งที่จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนของสำนักพระราชวัง มาตรา 37 ยังได้อธิบายวิธีการจ่ายเงินปีเอาไว้ว่า ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินปีในปีใด ให้จ่ายเงินปีในปีนั้น ให้เต็มทั้งปีไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด
ดังนั้นหากหม่อมเจ้าที่พระชันษาสูงพระองค์ใดหากสิ้นชีพิตักษัยไปก่อนครบปีที่จะได้รับพระราชทานเงินปีก็น่าจะยังได้รับพระราชทานเงินปีครบทั้งปีให้แก่พระทายาทของหม่อมเจ้าพระองค์ดังกล่าว
หลักฐานว่าเงินปีนี้พระเจ้าแผ่นดินหรือพระบรมวงศานุวงศ์จะทรงใช้ส่วนพระองค์อย่างใดก็ได้นั้น ขอเล่าเรื่องให้ฟังดังนี้ว่า
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นพระอัยยิกา (ย่า) ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และทรงเป็นสมเด็จทวดของในหลวงรัชกาลที่ 10 (โปรดอ่านเพิ่มเติมได้จาก สมเด็จหกแผ่นดินผู้ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน 7 พระองค์ https://mgronline.com/daily/detail/9640000088285) อย่างไรก็ตามการที่ทรงมีพระชนมายุยืนยาวทำให้ต้องทรงประสบพบเจอความทุกข์ การพลัดพรากและความสูญเสียตลอดพระชนม์ชีพ
เหตุการณ์หนึ่งที่กระทบกระเทือนพระทัยอย่างมากคือการที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสบุญธรรมที่ทรงเลี้ยงมาด้วยพระองค์เองดุจพระราชโอรสในพระอุทร เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มพระราชโอรสที่เป็นกำพร้ามาให้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเลี้ยงดู และตรัสฝากไว้ว่า ให้มาเป็นลูกแม่กลาง แต่กลับต้องโทษคดีการเมืองถูกคุมขังในคุกและถูกลดฐานันดรศักดิ์เป็นนักโทษชายรังสิต เหตุการณ์ในครั้งนั้นสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเสียพระทัยเป็นที่สุดและทรงกังวลว่าหม่อมเจ้าพระราชนัดดาในราชสกุลรังสิตจะถูกรังแกเพราะการเมือง ทรงเรียกหม่อมเจ้าพระราชนัดดาในราชสกุลรังสิตมาเฝ้า ทรงฉีกซองเงินปีที่ได้รับพระราชทานมาทุกปี พระราชทานเงินปีในซองทั้งหมดให้หม่อมเจ้าพระราชนัดดาในราชสกุลรังสิตให้รีบเสด็จไปยังต่างประเทศ เพราะทรงเกรงว่าพระราชนัดดาจะถูกรังแกเช่นเดียวกับพระราชโอรสบุญธรรม
คำอธิบายพระบรมฉายาลักษณ์ด้านล่างนี้ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในฐานะองค์สภานายิกาสภากาชาดไทยเสด็จพระราชดำเนินไปรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเมื่อคราวเสด็จเยี่ยมสภากาชาดไทย โดยมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาและ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช โดยเสด็จ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสบุญธรรมร่วมรับเสด็จฯ ด้วย
เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า
หนึ่ง เงินปี เป็นเงินที่รัฐบาลถวายพระมหากษัตริย์ ให้ทรงใช้ส่วนพระองค์ได้ตามพระราชอัธยาศัย และเป็นเงินที่รัฐบาลถวายพระมหากษัตริย์ให้พระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ได้ทรงใช้ส่วนพระองค์
สอง เงินปีไม่ได้เป็นเงินก้อนใหญ่มากมายอะไรนัก เพราะสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเก็บซองเงินปีไว้ที่วังสระปทุม ไม่ทรงนำไปฝากธนาคารหรือไม่ทรงนำไปลงทุน ข้อนี้ยังสะท้อนพระนิสัยของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าด้วยว่าทรงประหยัดมัธยัสถ์และเก็บหอมรอมริบ
เราย้อนกลับมาดูหนังสือภาษาอังกฤษที่คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล เอามาใช้อ้างอิงแบบไม่ถูกต้องบิดเบือนข้อเท็จจริง
หนังสือเล่มนี้ชื่อบทบาทของราชาธิปไตยในประชาธิปไตยสมัยใหม่ เปรียบเทียบราชวงศ์ยุโรป (The role of monarchy in modern democracy: European monarchies compared) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฮาร์ท หน้า 181-189 ในบทที่ 7 ซึ่งแบ่งเนื้อหาในบทออกเป็น 7 ส่วน และส่วนที่ 7.8 การสรุปเปรียบเทียบและข้อสรุป ได้นำข้อมูลจากตาราง 7.1 มาใช้ในการวาดกราฟแท่งและอินโฟกราฟิก
ในตารางที่ 7.1 ด้านล่างนี้ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่ายอดเงินในตารางเป็นเงินปี เช่น สหราชอาณาจักร เป็นเงินที่เรียกว่า sovereign grant ที่ไม่ได้รวมงบประมาณในการถวายอารักขาความปลอดภัย และงบประมาณประจำปีในส่วนนี้ไม่ได้เผยแพร่ในสาธารณะ
สำหรับประเทศเบลเยี่ยม แสดงค่าเงินปี (Civil list) เพียงอย่างเดียวส่วนเงินงบประมาณประจำปีแยกต่างหากและมีมากกว่าเงินปีประมาณสองเท่าในปี 2018
สำหรับประเทศเดนมาร์คแสดงเฉพาะเงินปี (Civil list) เช่นเดียวกัน
สำหรับประเทศเนเธอร์แลนด์ แสดงค่าเงินปีของพระมหากษัตริย์ (King’s budget) แต่ไม่ได้รวมงบประมาณประจำปีในส่วนที่เกี่ยวกับการถวายอารักขาความปลอดภัย การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ การบำรุงรักษาพระราชวัง ซึ่งรัฐบาลต้องจัดค่าใช้จ่ายถวายและไม่ได้นำมาแสดงไว้ในส่วนนี้แต่อย่างใด
สำหรับประเทศนอร์เวย์ก็แสดงค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ มกุฎราชกุมารและพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งก็คือเงินปีอีกเช่นกัน ดังนั้นตารางนี้แสดงเฉพาะเงินปี ไม่ได้รวมเงินงบประมาณประจำปี แต่อย่างใด
และเมื่อคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลนำไปวาดกราฟแต่เอาเงินปีของสถาบันในอีก 7 ประเทศ ไปวาดกราฟแท่งเปรียบเทียบกับงบประมาณประจำปีของส่วนราชการในพระองค์จึงเป็นเรื่องที่โกหกบิดเบือน ทำไม่ถูกต้อง เป็นการนำเข้าข้อความอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ตามพรบ. คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14
เมื่อสังเกตไปอีกก็พบว่าการประดิษฐ์วาทกรรมนี้น่าจะเกิดขึ้นโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุลซึ่งได้เขียนรัฐธรรมนูญในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ แก้ไขโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อด้อยค่า ลิดรอนพระราชอำนาจ ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถประกอบพระราชกรณียกิจได้ ต้องการให้การเมืองคือสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาแทรกแซงสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้พระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้นไม่มีอำนาจใดๆทั้งสิ้น ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะว่าไม่มีความสำคัญและไม่มีบทบาทใดๆแล้ว โปรดอ่านได้จาก เปลือยความคิด “ปิยบุตร” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ https://mgronline.com/daily/detail/9640000079038
ปิยบุตรใช้คำว่าเงินรายปีอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญหมวด 2 พระมหากษัตริย์ที่ตนเองนำเสนอแก้ไขทำ ทำให้อาจสันนิษฐานได้ว่านายปิยบุตรน่าจะเป็นคนประดิษฐ์วาทกรรมเงินรายปีนี้ขึ้นมา
โดยปิยบุตรได้อธิบายเจตนารมณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 2 พระมหากษัตริย์ในข้อ 8 ไว้ว่า
8. กำหนดระบบเงินรายปีแก่พระมหากษัตริย์ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการกำหนดวงเงินและอนุมัติ และให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบการใช้จ่ายเงินรายปีและรายงานให้สภาผู้แทนราษฎรทราบ https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/3076450455972150
เมื่อเราอ่านรายละเอียดในรัฐธรรมนูญหมวด 2 ฉบับร่างโดยปิยบุตรได้เขียนเอาไว้ว่า
มาตรา ๑๒ พระมหากษัตริย์ทรงมีเงินรายปีเพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขของรัฐ การเสด็จพระราชดำเนิน การต้อนรับพระราชอาคันตุกะ เงินเดือนสำหรับข้าราชการในพระองค์ การบำรุงรักษาพระราชวัง การรักษาความปลอดภัย ค่าใช้จ่ายของพระราชบิดา พระราชมารดา พระราชโอรส พระราชธิดา พระเชษฐา พระเชษฐภคินี พระอนุชา และพระขนิษฐาของพระมหากษัตริย์ และค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขของรัฐ
ให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดวงเงินและอนุมัติ เงินรายปี ในทุกสี่ปีอย่างสมพระเกียรติและพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ตามสมควร โดยต้องพิจารณาถึงสภาวะทางเศรษฐกิจ สถานะทางการคลังของประเทศ ตลอดจนความจำเป็นเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยรับงบประมาณอื่นประกอบด้วย
ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบการใช้ จ่ายเงินรายปี ของพระมหากษัตริย์และรายงานให้สภาผู้แทนราษฎรทราบทุกปี” ที่มา https://progressivemovement.in.th/wp-content/uploads/2021/08/Draft-Constiution-Chapter-II_Piyabutr.pdf
เมื่อเราวิเคราะห์จากวรรค 1 ของมาตรา 12 ที่ปิยบุตรเขียนไว้นั้น ก็จะเห็นได้ว่า มีทั้ง เงินปี อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายของพระราชบิดา พระราชมารดา พระราชโอรส พระราชธิดา พระเชษฐา พระเชษฐภคินี พระอนุชา และพระขนิษฐาของพระมหากษัตริย์ ส่วนเงินงบประมาณประจำปี คือพระมหากษัตริย์ทรงมีเงินรายปีเพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขของรัฐ การเสด็จพระราชดำเนิน การต้อนรับพระราชอาคันตุกะ เงินเดือนสำหรับข้าราชการในพระองค์ การบำรุงรักษาพระราชวัง การรักษาความปลอดภัย และค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขของรัฐ
ในความเป็นจริงนั้น รัฐบาลจัดสรรเงินปี ถวายในหลวงและสมเด็จพระราชินี องค์ละ 60 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้ใช้สอยเป็นการส่วนพระองค์ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พศ.2542
แต่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรับเงินปีที่รัฐบาลจัดถวายตั้งแต่ต้นรัชกาล ปีละ 60 ล้านบาท และพระราชทานคืนรัฐบาลกลับไปครบถ้วนทุกบาททุกสตางค์ และนับตั้งแต่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และมีการสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ์ พระบรมราชินี รัฐบาลก็ได้จัดสรรเงินปีถวายสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินีเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ทรงรับเช่นเดียวกับพระเจ้าอยู่หัวและพระราชทานกลับไปยังรัฐบาลเช่นเดียวกัน
สำหรับเงินปีที่รัฐบาลจัดถวายให้พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าเป็นต้นไป อันเป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์หรือก่อนหน้านั้น รวมยอดเงินปีที่รัฐบาลจัดถวายให้ในหลวงพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ในปีนี้ 75 ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้พระราชทานคือรัฐบาลไม่ทรงรับ แต่ทรงให้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พระราชทานเป็นเงินปีพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
ดังนั้นกราฟแท่งของคณะก้าวไกล จึงเป็นการโกหกว่าเป็นงบสถาบันพระมหากษัตริย์แบบลอยๆ และเอาเงินปีของสถาบันอีก 7 ประเทศมาเปรียบเทียบกับงบประมาณประจำปีของหน่วยราชการในพระองค์ ถือว่าเป็นการโกหก และไม่ถูกต้อง อาจจะเกิดจากโง่จริง ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ไม่แตกฉาน หรือไม่มีความรู้เลย เรียกได้ว่าโง่จริง หรือผมคิดว่าน่าจะเกิดจากการมีอคติ เกลียดชัง และต้องการด้อยค่าสถาบันเป็นหลักมากกว่า
แต่ที่แน่ๆ กราฟที่ถูกต้องคือกราฟด้านบนนี้ ต้องเอามาวาดใหม่ให้ถูกต้อง เนื่องจากในปี 2565 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงรับเงินปีเลยและทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พระราชทานเป็นเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหมด กราฟแท่งที่ถูกต้องของไทยต้องเป็น 0 บาท ต้องเขียนให้ชัดๆ ว่าเป็นเงินปีสถาบันกษัตริย์ไทย เปรียบเทียบต่างประเทศ จึงเป็นการเปรียบเทียบที่ถูกต้อง เส้นโยงที่ลากว่ามากกว่าสถาบันกษัตริย์ของสเปนสามสิบเท่าก็ต้องเอาออกให้หมด เราต้องแก้ไขในสิ่งผิดหลอกลวง
โปรดแชร์บทความนี้ หรือ คลิปวีดีโอนี้ https://www.facebook.com/Arnond.s/videos/1233090577169104 ไปยังเยาวชน เพื่อให้เยาวชน ลูกหลาน และลูกศิษย์ ได้เรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ (ในส่วนของสถิติศาสตร์ที่เรียนกันตั้งแต่มัธยมต้น) ว่าด้วยการโกหกด้วยกราฟและสถิติ ได้เสริมสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 คือความแตกฉานด้านข้อมูล (Data literacy) ได้เรียนรู้ วิชาประวัติศาสตร์ วิชากฎหมาย วิชาภาษาอังกฤษ และที่สำคัญทำให้เยาวชนมีความคิดวิจารณญาณ (Critical thinking) ป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อคนฉลาดไม่จริงที่เลวและเป็นภัยแก่ชาติบ้านเมือง