xs
xsm
sm
md
lg

รัฐประหารยังไม่ตกยุค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์



รัฐประหารโดยหน่วยทหารเพื่อยึดอำนาจรัฐบาลยังคงไม่ล้าสมัยในประเทศกินี ซึ่งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก ล่าสุดประธานาธิบดีอัลฟา กอนเด ถูกคณะนายทหารนำโดยพันโทมามาดี โดอุมบัวยา หัวหน้าหน่วยรบพิเศษนำทีมจับกุมตัวไว้ในทำเนียบผู้นำประเทศ

เป็นธรรมเนียมของการรัฐประหาร ที่ผู้ก่อการต้องอ้างเหตุว่ามีการทุจริต คอร์รัปชัน การบริหารงานผิดพลาด ปัญหาความยากจนของประเทศ จากนั้นก็มีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง พร้อมจะจัดระเบียบการบริหารบ้านเมืองหวังฟื้นฟูประเทศให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี

ผู้นำรัฐประหารปิดประเทศ ประกาศห้ามออกนอกบ้านในยามวิกาล พร้อมรักษาความสงบ ขณะที่ประชาชนแสดงความยินดีกับการเปลี่ยนแปลง ออกมาบนท้องถนนเพื่อต้อนรับทหารในคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นไปอย่างไม่มีแรงต่อต้านมากนัก

ช่วงการเข้าควบคุมตัวกอนเด ซึ่งเป็นอดีตผู้นำประเทศไปแล้ว มีเสียงปืนดังเป็นระยะ คาดว่าเป็นการปะทะกับหน่วยอารักขาประธานาธิบดี

ถ้าการยึดอำนาจลุล่วง พันโทโดอุมบัวยาได้เป็นผู้นำคนใหม่ ประเทศกินีก็จะเป็นชาติที่ 3 ในพื้นที่แอฟริกาตะวันตกซึ่งมีเหตุเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยความรุนแรงด้วยการรัฐประหารและการสังหารอย่างเลือดเย็น ภายในระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีประเทศชาด ซึ่งดำรงตำแหน่งมานาน 3 ทศวรรษได้ถูกสังหารในสนามรบซึ่งถูกบรรดานักวิชาการมองว่าเป็นการรัฐประหารแบบแฝงเร้น และผู้รับช่วงอำนาจต่อมาก็คือผู้เป็นบุตรชาย

ในเดือนพฤษภาคม รองประธานาธิบดีประเทศมาลี ได้จับกุมประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งเป็นการทำรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 9 เดือน

ตัวประธานาธิบดีกอนเดเองนั้นก็เพิ่งชนะเลือกตั้งสมัยที่ 3 มาได้ยังไม่ถึงปีหลังจากการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้กอนเดสามารถอยู่ได้อีก 1 สมัย ซึ่งโดยปกติจะอยู่ได้เพียง 2 สมัยเท่านั้น

“พวกเราจะไม่ยอมให้การเมืองอยู่ในกำมือของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น การเมืองต้องเป็นของประชาชน เราทำรัฐประหารเพื่อวัตถุประสงค์นี้อย่างเดียว” นั่นคือคำประกาศของพันโทโดอุมบัวยา ซึ่งเป็นอดีตทหารหน่วย Foreign Legion ของฝรั่งเศส

โดอุมบัวยาประกาศว่า “หน้าที่ทหารคือการรักษาประเทศ” และมีธงชาติคลุมคล้องบ่าแวดล้อมโดยทีมผู้ก่อการ ขณะที่ประกาศการรัฐประหารผ่านโทรทัศน์

การรัฐประหารไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับกินี ก่อนที่กอนเดจะได้เป็นผู้นำประเทศผ่านการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเป็นคนแรกนั้น ได้มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1984 และ 2008

หลังจากได้กุมอำนาจ กอนเดได้พัฒนาประเทศให้เป็นผู้ส่งออกแร่โบไซต์เป็นสินค้าหลัก ซึ่งเป็นสินแร่ที่ใช้ในการผลิตอะลูมิเนียม แต่ก็ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในภาคชนบท มีข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กินีมีแหล่งแร่โบไซต์สำรองมากถึง 25 หมื่นล้านตัน หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ของแหล่งแร่โบไซต์ในโลก นอกจากนั้นก็ยังมีเหมืองเพชร ทองคำและแร่โลหะอื่นๆ ถ้าได้รับการพัฒนา จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมาก แต่กลับมีแต่ความยากจน

ช่วงแรกของการเข้าสู่อำนาจ กอนเดก็อ้างว่าจะดำรงสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มจำกัดสิทธิของประชาชน สร้างปัญหาต่างๆ ทั้งความยากจน

ในการรัฐประหาร โดอุมบัวยา ได้แถลงว่าได้จับกุมตัวประธานาธิบดีกอนเดในวันอาทิตย์ ขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตียเรซ เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวกอนเด และบอกว่าตัวเองได้เฝ้าติดตามดูสถานการณ์ในกินีอย่างใกล้ชิด

กูเตียเรซได้ประกาศว่าตัวเองขอประณามการยึดอำนาจรัฐโดยอำนาจปืน ประธานประชาคมรัฐแอฟริกันตะวันตกก็ออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหาร พร้อมจะดำเนินการคว่ำบาตรประเทศกินี ถ้าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ถูกฟื้นฟู

โดอุมบัวยาประกาศว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นไปตามคำเรียกร้องของประชาชนให้จัดการปัญหาความยากจน และการคอร์รัปชันที่เรื้อรัง

“กินีเป็นประเทศที่สวยงาม เราไม่ต้องการข่มขืนประเทศของเรา แต่เราต้องการร่วมรักกับเธอเท่านั้น” ผู้นำรัฐประหารพูดเชิงเปรียบเปรยกับการกระทำรัฐประหาร

หลังจากการรัฐประหาร กินีประกาศปิดพรมแดน รัฐบาลและสถาบันต่างๆ ถูกยุบ และจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการปรึกษาหารือกับประชาชนก่อน

ประชาชนบอกผู้สื่อข่าวว่าก่อนการประกาศยึดอำนาจอย่างเป็นทางการ ได้มีเสียงปืนดังเป็นระยะๆ ในหลายพื้นที่ในเมืองหลวง ขณะที่ทหารได้นั่งรถตระเวนไปมาเพื่อรับสถานการณ์ ประชาชนถูกทหารสั่งให้อยู่ในเคหสถาน ห้ามออกมาเพ่นพ่าน

ภาพที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดียทำให้ประชาชนเห็นกอนเดนั่งอยู่บนโซฟา เสื้อผ้าที่สวมใส่ดูไม่เป็นระเบียบ มีทหารอารักขาหรือควบคุมตัวอย่างเข้มงวด

จากนี้ไปต้องดูว่าคณะรัฐประหารจะไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ และจะได้รับรองจากประเทศอื่นๆ ในแอฟริกาและสหประชาชาติหรือไม่ อนาคตของกินีอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหารเต็มที่


กำลังโหลดความคิดเห็น