วันที่ 10 กันยายนนี้ สัมปทานดาวเทียมไทยคมอายุ 30 ปีจะสิ้นสุดลง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือชื่อเดิม ชินแซทเทลไลท์ ซึ่งได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคมเมื่อ พ.ศ. 2534 ต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส
ไทยคมมีดาวเทียม 4 ดวงบนวงโคจร คือ ไทยคม 4 ,6 ,7 และ 8 ดาวเทียมที่หมดสัมปทานแต่ยังไม่หมดอายุใช้งานคือ ไทยคม 4 และ 6 ส่วนไทยคม 7 และ 8 ไทยคมอ้างว่า ไม่ใช่สัมปทาน แต่เป็นดาวเทียมในระบบใบอนุญาตของ กสทช.ขณะนี้กำลังเป็นข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างไทยคมกับดีอีเอส
ตามสัญญาสัมปทานข้อ 15 ไทยคมต้องมอบดาวเทียม สถานีควบคุมดาวเทียมรวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ครอบครองไว้เพื่อใช้งาน คืนให้กับกระทรวงดีอีเอส
ตรงนี้เป็นประเด็นที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี เห็นว่า “อุปกรณ์ต่างๆ” นั้น หมายรวมถึงสถานีแม่ข่ายรับส่งสัญญาณดาวเทียมหรือเกตเวย์ และสถานีบริการสัญญาณภาคพื้นดินหรือเทเลพอร์ต ซึ่งไทยคมต้องส่งคืนด้วย
ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมต.กระทรวงดีอีเอส ในวันที่ลุกขึ้นตอบข้อกล่าวหาของพรรคก้าวไกล ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระบุว่า ทรัพย์สินที่ไทยคมส่งคืนให้ คือ ดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 กับสถานีควบคุมดาวเทียมเท่านั้น
ส่วนสถานีเกตเวย์และเทเลพอร์ตนั้น เป็นอุปกรณ์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของไทยคม
เรื่องนี้ไม่ยากที่จะค้นหาความจริง เพราะในสัญญาสัมปทานเขียนไว้ชัดเจนว่า ทรัพย์สินที่ไทยคมต้องมอบคืนนั้น มีอะไรบ้าง คำว่า “อุปกรณ์ต่างๆ” นั้น หมายถึง อุปกรณ์ต่างๆ ของสถานีควบคุมดาวเทียม หรือกินความถึงเกตเวย์ และเทเลพอร์ต มีความหมายชัดเจนตามตัวอักษรและบริบทแวดล้อมอยู่แล้ว
กระทรวงดีอีเอส มอบหมายให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT รับมอบดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ไปบริหารต่อ โดย NT ได้เจรจากับไทยคมให้เป็นผู้บริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ต่อ ในรูปแบบของหุ้นส่วนหรือความร่วมมือทางธุรกิจ
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายชัยวุฒิ เมื่อวันที่ 3 กันยายน พรรคก้าวไกลกล่าวหาว่า การทำเช่นนี้เป็น “สัมปทานจำแลง” ให้ไทยคมบริหารต่อ โดยไม่มีการเปิดกว้างให้เอกชนรายอื่นๆ เข้ามาเสนอตัว
นายชัยวุฒิตอบข้อกล่าวหานี้ว่า ธุรกิจดาวเทียมถูกผูกขาดโดยไทยคมมา 30 ปี การหาผู้ประกอบการรายใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมเมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้ยื่นประมูลรายเดียวคือบริษัท ไทยคม ทาง กสทช.จึงต้องยกเลิกการประมูล
ตอนส่งมอบดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 คืนให้รัฐหลังครบสัญญา บริษัทไทยคมส่งเฉพาะดาวเทียมและสถานีควบคุมดาวเทียม ไม่ได้ส่งมอบสถานีแม่ข่าย (เกตเวย์) ตัวรับ-ส่งสัญญาณภาคพื้นดิน (เทเลพอร์ต) มาให้ เพราะเป็นทรัพย์สินของไทยคม จึงต้องขอเช่าอุปกรณ์ของไทยคมเพื่อดำเนินการต่อไปได้
ปัจจุบัน ดาวเทียมไทยคม 4 มีลูกค้า 87% เป็นต่างประเทศ ส่วนดาวเทียมไทยคม 6 ลูกค้าเป็นภาคเอกชนและรัฐไทยรวม 62% ซึ่งในส่วนของลูกค้าไทย NT ติดต่อเองทั้งหมด แต่ลูกค้าต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าไม่เชี่ยวชาญ อาจไม่มีศักยภาพในการติดต่อหรือทำธุรกิจด้วย เพราะ NT เป็นบริษัทใหม่ ไม่รู้จักลูกค้าต่างประเทศ อาจต้องใช้ไทยคมในการประสานงานหรือเพื่อให้ธุรกิจดำเนินการต่อไปได้
รมต.ดีอีเอส กล่าวว่า การเช่าอุปกรณ์ของไทยคม และการให้ตัวแทนติดต่อลูกค้าในต่างประเทศ ไม่ใช่การให้ “สัมปทานจำแลง” ตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่เป็นการทำธุรกิจร่วมกัน เป็นการช่วยกัน ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้นโยบายที่ว่าต้องไม่มีทีวีจอดำ และต้องคุ้มครองประชาชนไม่ให้เสียค่าบริการแพงกว่าเดิม
“ผู้ใช้บริการทุกคนต้องใช้งานได้ต่อเนื่อง ไม่มีทีวีจอดำ อะไรจำเป็นต้องร่วมมือก็ต้องร่วมมือ และที่สำคัญคุ้มครองผู้บริโภคประชาชน ไม่เสียค่าบริการที่แพงกว่าเดิม”
ไทยคม ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตกเป็นกิจการของกลุ่มเทมาเส็กจากสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2549 เมื่อทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของชินแซทฯ และเอไอเอส ทำให้เทมาเส็กได้เป็นเจ้าของธุรกิจสื่อสาร ที่ถือว่า เป็นทรัพยากรของประเทศไทยที่เป็นความมั่นคงของชาติ และขายหุ้นในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้การต่อต้านทักษิณที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จุดขึ้นก่อนหน้าไม่นาน จุดติดมีประชาชนเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ก่อนจะนำไปสู่การรัฐประหารโค่นล้มทักษิณ เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
ก่อนหน้าทักษิณจะขายชินคอร์ปให้เทมาเส็ก กระทรวงไอซีทีในขณะนั้น ได้แก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการสื่อสารดาวเทียมในประเทศ ลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ป ที่ต้องถือในชินแซทเทลไลท์ จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40%
หลังรัฐประหาร คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส.ได้สอบสวนเรื่องนี้ และฟ้องนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีไอซีที อดีตปลัดกระทรวงไอซีที และผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติในขณะนั้น เป็นจำเลย ตามมาตรา 157 ที่แก้สัญญาสัมปทานดาวเทียม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เห็นว่า การให้ชินแซทฯ ลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยจาก 51% เหลือ 40% ทำให้เกิดความเสี่ยงในการครอบงำกิจการของชาวต่างชาติที่จะมีผลต่อกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ
นพ.สุรพงษ์ ถูกตัดสินจำคุก 1 ปีไม่รอลงอาญา จำเลยที่ 2 และ 3 ตัดสินจำคุกคนละ 1 ปีรอลงอาญา 5 ปี
ดาวเทียมไทยคมของไทย ถูกสิงคโปร์ควบคุมนานถึง 15 ปี ก่อนที่จะกลับคืนมาสู่ประเทศไทยอีกครั้งหลังจากกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซื้อหุ้นอินทัช หรือชินคอร์ปในอดีต บริษัทแม่ของเอไอเอส และไทยคมกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับหนึ่ง 42.25% Singtel Global Investment ของเทมาเส็กหล่นไปอยู่อันดับสองถือหุ้น 21%
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไทยคมกำลังเริ่มต้นขึ้น ท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องการผูกขาด สวนทางกับความเป็นจริงในภูมิทัศน์อุตสาหกรรมสื่อสารผ่านดาวเทียมในปัจจุบัน ที่ผู้ต้องการประกอบธุรกิจสื่อสารผ่านดาวเทียม ไม่จำเป็นต้องยิงดาวเทียมของตัวเองที่มีค่าใช้จ่ายเป็นหมื่นล้าน สามารถเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมวงโคจรต่ำซึ่งมีอยู่เป็นร้อยๆ ดวงในอวกาศ และไม่นานมานี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุญาตให้ผู้ประกอบการกิจการสื่อสารผ่านดาวเทียมในประเทศไทย สามารถใช้ดาวเทียมต่างชาติได้