ส่อถูกเตะตัดขา หลังมีคนร้อง ป.ป.ช.เรื่องดาวเทียมสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อาจเข้าข่ายทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในจังหวะชิงดำสรรหา กสทช.ที่จะสัมภาษณ์สัปดาห์หน้า เพราะพ่วงชื่อ ‘ฐากร-ก่อกิจ’ เป็นแพะเข้าไปด้วย ด้าน ‘ฐากร’ ตอบทุกข้อสงสัยเรื่องดาวเทียมที่ร้อง ป.ป.ช.
เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์ในการแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พร้อมทั้งเชิญผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มาแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์
โดยในวันอังคารที่ 31 ส.ค. ด้านกิจการกระจายเสียง (12 คน) และด้านกิจการโทรทัศน์ (11 คน) วันพฤหัสบดีที่ 2 ก.ย. ด้านกิจการโทรคมนาคม (13 คน) และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (11 คน) วันศุกร์ที่ 3 ก.ย. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (13 คน) และด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. คือ ด้านกฎหมาย (12 คน) และด้านเศรษฐศาสตร์ (6 คน) รวมเป็นผู้สมัครที่เข้ารับการแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ทั้งหมด 78 คน
‘ในขณะที่กระบวนการสรรหา กสทช.กำลังเดินหน้า ก็มีปฏิบัติการบางอย่างออกมาสกัดผู้สมัคร กสทช.บางคน’ แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมระบุ
หลังรับรู้ในวงกว้างถึงวันเวลาที่จะให้ผู้สมัคร กสทช.แสดงวิสัยทัศน์ ก็เกิดปฏิบัติการสกัดดาวฤกษ์ โดยในวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา นายประเสริฐ อภิปุญญา อดีตกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. (กตป.) เข้ายื่นหนังสือและเอกสารหลักฐานต่างๆ ถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ว่า อาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย
โดยระบุว่า การที่ กสทช. ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมประเภทที่ 3 เลขที่ 3ก/51/003 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2555 และหมดอายุวันที่ 25 มิ.ย.2575 และแก้ไขเมื่อวันที่ 31 มิ.ย.2563 เลขที่ TEL3/2555/002 ให้ บมจ.ไทยคม โดยอ้างมติคณะรัฐมนตรี ชุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มาออกใบอนุญาตนั้น อาจเป็นการออกใบอนุญาตที่บกพร่องและไม่เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งอาจเข้าข่ายทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงสมควรให้ตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ ครม. คณะผู้บริหารสำนักงาน กสทช.ในขณะนั้น ได้แก่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และนายก่อกิจ ด่านวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. รวมถึงคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง
*** ‘ฐากร’ ชี้แจงความจริง
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช.และเป็นหนึ่งในผู้สมัคร กสทช.ได้ชี้แจงในทวิตเตอร์ส่วนตัวโดยระบุว่า ‘ตามที่มีข่าวว่ามีคนร้องเรียนผม เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. กับ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเรื่องดาวเทียมไทยคม นั้น ผมขอเรียนว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสำนักงาน กสทช. หรือเลขาธิการ กสทช. ที่จะดำเนินการแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้ตรวจสอบในรายละเอียดเบื้องต้น เพื่อจะนำมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ดังนี้
1.การที่ดาวเทียมจะทำงานได้จะต้องมีการอนุญาต 2 ส่วนเพื่อใช้งาน
1.สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม
2.ใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อตั้งสถานีภาคพื้นดิน
ทั้งนี้ อำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ตามข้อ 1 ในขณะนั้นตามกฎหมายเป็นของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลจัดสรรแล้วจะส่งเรื่องให้ กสทช. พิจารณาออกใบอนุญาตตามข้อ 2 ซึ่งในขณะนั้นเป็นอำนาจของ กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ตามกฎหมายที่จะพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ แล้วจึงส่งเรื่องให้ กสทช. เพื่อรับทราบมติ
2.ซึ่งในเรื่องนี้ กทค. ได้มีการพิจาณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ตามที่รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้ กสทช. พิจารณาดำเนินการ
3.ในปี 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ใหม่ ได้กำหนดให้อำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่เคยเป็นของรัฐบาล มาเป็นอำนาจของ กสทช. ซึ่งไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะ กสทช. เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ
ดังนั้น หลังจากปี 2560 กสทช. จึงมีหน้าในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และตามข้อมูล ดาวเทียมไทยคม 5 กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงในเดือน ก.ย.2564 เมื่อกฎหมายให้ กสทช. มีอำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมซึ่งเป็นสมบัติของชาติ กสทช. จึงได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อจะได้มีการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในระบบใบอนุญาตโดยจะใช้วิธีการประมูล ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่มีความโปร่งใส ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม สามารถตรวจได้ และเป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วโลก และ กสทช. ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จนเปิดให้ยื่นเข้าประมูล แต่มีผู้ยื่นเข้าประมูลเพียงรายเดียว จึงได้ยกเลิกการประมูลไป เพื่อความโปร่งใส และเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
อนึ่ง สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรสิทธิในเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และใบอนุญาตประกอบกิจการน่าจะมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องดังกล่าวต่อไป’