รมว.ดีอีเอส ตอกกลับ ส.ส.ก้าวไกล เรียกระบบปรสิต ดูถูก ส.ส. ปัดสัมพันธ์ลึกธุรกิจสื่อสาร เอื้อสัมปทานกลุ่มทุน ยัน รบ.ไม่เคยทำเฟกนิวส์ เข้ามาทำหน้าที่ปกป้องสถาบันหลักของประเทศ
วันนี้ (3 ก.ย.) เวลา 16.45 น. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ชี้แจงว่า การที่ท่านใช้คำว่าระบอบปรสิต ท่านกำลังดูถูกเพื่อนสมาชิกทุกคนในสภาฯ ทุกคนมาจากการเลือกตั้ง การใช้คำปรามาสแบบนี้ไม่เหมาะสม ถ้าท่านรู้จักตนจะรู้ว่าเป็นคนแบบไหน ตนไม่ใช่คนอย่างที่ท่านคิด ตนไม่ใช่ครอบครัว ลูกหลานนักการเมือง แต่เมื่อได้เข้ามาทำงานการเมือง และได้เป็น รมว.ดีอีเอส ตนไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ผู้อภิปรายระบุถึง ตนไม่ทราบมาก่อนว่าบริษัทดังกล่าวทำธุรกิจสื่อสารอะไร เพราะลาออกมานานแล้ว แต่ภายหลังเมื่อทราบก็ระมัดระวังเพื่อป้องกันการครหา และไม่ได้เอื้อประโยชน์แต่อย่างใด
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ดาวเทียมไทยคมเป็นสัมปทานที่ดำเนินการมา 30 ปี จะสิ้นอายุวันที่ 30 ก.ย.นี้ ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสำคัญเมื่อปี 2553 ให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขึ้นมากำกับดูแลธุรกิจดาวเทียม โดยไม่ใช้ระบบสัมปทาน ซึ่งดาวเทียมที่ถูกยิงขึ้นไปบนอวกาศ 8 ดวง เหลืออยู่ 4 ดวง คือ ดาวเทียมไทยคม 4 6 7 และ 8 ที่ต้องส่งคืนมาเป็นของรัฐบาล เพราะสิ้นสุดสัมปทานแล้ว แต่เมื่อมีข้อพิพาทจากรัฐบาลในอดีต บริษัท ไทยคม ก็อ้างว่าดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ไม่ใช่ดาวเทียมในสัญญาสัมปทาน และส่งมอบให้เพียง 2 ดวง คือ ดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ซึ่งการส่งมอบ และดำเนินการจะเริ่มหลังวันที่ 10 ก.ย.นี้ สิ่งที่เป็นนโยบายหลักคือต้องหาคนมาดูแล
รมว.ดีอีเอส กล่าวอีกว่า จากการศึกษาเรื่องดังกล่าวกับผู้เกี่ยวข้องในอดีต มีข้อสรุปว่า เราจะโอนสิทธิ์ในการดูแลดาวเทียมให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ตนจึงลงนามทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อมอบสิทธิให้เอ็นทีดูแล แต่ประเด็นที่ผู้อภิปรายไม่เข้าใจ คือ ธุรกิจดาวเทียมถูกผูกขาดโดยบริษัท ไทยคม มา 30 ปี วันนี้การจะหาผู้ประกอบการรายใหม่มาทำไม่ใช่เรื่องง่าย กสทช.เปิดประมูลวงโคจรไม่นานนี้เพื่อนำดาวเทียมใหม่มาบริการประชาชน ซึ่งมีผู้ยื่นประมูลรายเดียว คือ บริษัท ไทยคม ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจเฉพาะเมื่อมีผู้ประมูลเพียง 1 ราย กสทช.จึงยกเลิกประมูลไปก่อน เช่นเดียวกันเมื่อดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ส่งมอบให้รัฐบาลโดยให้เอ็นทีดูแล เขาส่งสถานีดาวเทียมมา แต่ไม่ได้ส่งเกตเวย์ในการเชื่อมต่อ และรับส่งสัญญาณมาให้ แต่ยังเป็นของบริษัท ไทยคม ดังนั้น การทำธุรกิจดาวเทียม เราจำเป็นต้องใช้ตัวส่งสัญญาณบางส่วนของบริษัท ไทยคม ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคที่เอ็นทีต้องไปศึกษา แต่ไม่ใช่การยกสิทธิ์หรือสัมปทานให้บริษัท ไทยคม ต่อ แต่เป็นกรณีที่หากเอ็นทีไม่พร้อมก็ไปใช้หรือเช่าอุปกรณ์จากบริษัท ไทยคม เพื่อให้การส่งสัญญาณเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
รมว.ดีอีเอส กล่าวต่อว่า ที่สำคัญ ดาวเทียมไทยคม 4 เป็นลูกค้าต่างประเทศถึง 87% ซึ่งต้องยอมรับว่าเอ็นทีไม่สามารถไปทำธุรกิจต่างประเทศในเวลาอันจำกัดได้ ส่วนดาวเทียมไทยคม 6 จะเป็นดาวเทียมที่เรียกว่า “บรอดแคส” คือ ใช้สื่อสาร ดูทีวี ลูกค้าเป็นเอกชน ภาครัฐ ประมาณ 60% คือ ลูกค้าในประเทศ ซึ่งบริษัท ไทยคม คุยกับเอ็นทีแล้วว่าให้ไปดูลูกค้าในส่วนนี้เอง แต่ที่เหลือที่เป็นลูกค้าต่างประเทศก็อาจต้องใช้บริษัท ไทยคม เป็นตัวแทนในการประสานงาน เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
“การทำธุรกิจดาวเทียมของเอ็นที ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ไทยคม ที่เป็นลักษณะสัมปทานผูกขาด ตัดตอน ต่อเนื่อง แบบที่กล่าวหา ผมให้นโยบายว่าผู้ใช้บริการทุกคนต้องได้รับการบริการอย่างต่อเนื่องไม่มีทีวีจอดำ อะไรที่จำเป็นต้องร่วมมือกับบริษัท ไทยคม ก็ต้องร่วมมือกัน และอะไรทำเองได้ก็ต้องทำให้มากที่สุด ที่สำคัญคือต้องคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้เสียค่าบริการแพงกว่าเดิม การจัดสรรคลื่นความถี่ ผมไม่มีความคิดที่จะเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ไทยคม เพราะในการเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียม อย่างที่ทราบมีรายเดียวคือไทยคมแบบนี้ได้สัมมปทานแน่นอน ผมทำหนังสือไปถึง กสทช. ว่าไม่เห็นด้วยกับการประมูลวงโคจรให้กับไทยคม เพราะจะได้อยู่รายเดียว ผมจึงให้ทบทวนว่าเลื่อนออกไปก่อน เพราะเห็นว่ายังไม่เหมาะสมไม่ต้องรีบ และ กสทช อยู่ระหว่างการสรรหา การประมูลวงโคจร และให้ไทยคมทั้งหมด เท่ากับผูกขาดวงโคจรของประเทศ สิ่งที่ผมทำนอกจากไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ไทยคม ยังดำเนินการขัดกับผลประโยชน์ของไทยคมด้วย” รมว.ดีอีเอส กล่าว
สำหรับเรื่องอนุญาโตตุลาการตนไม่รู้จักใครเลย แต่เมื่อทราบว่ามีตำแหน่งว่างก็ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด (อสส.) ให้ส่งคนใหม่ที่เหมาะสมมา ทั้งหมดเป็นเรื่องของอสส. ตนไม่ทราบรายละเอียด เราต้องให้เกียรติอัยการที่มีความเป็นกลาง ทั้งหมดจึงเป็นการคาดเดาของผู้อภิปราย ประติดประต่อเรื่องราวที่เลื่อนลอยมาก ยืนยัน ตนไม่แทรกแซงปล่อยให้เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม
นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า เรื่องเฟกนิวส์ที่พูดกันมากในสังคมว่ารัฐบาลใช้เฟกนิวส์เป็นเครื่องมือทำลายทางการเมืองขั้วตรงข้ามนั้นไม่เป็นความจริง ตนต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพ์ เพื่อความสงบสุขความเรียบร้อยในการใช้คอมพ์ เพราะตอนนี้มีการใช้โซเชียลมีการใช้อย่างแพร่หลาย เต็มไปด้วยสิ่งผิดกฎหมายเราควบคุมไม่ได้ เราจึงมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไว้ควบคุมดูแลเอาผิดอาชญากรที่หลอกลวงประชาชน รวมถึงสร้างความแตกแยกให้กับแผ่นดินของเราด้วย ขณะที่กระบวนการดำเนินการเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม การปิดกั้นเฟกนิวส์ไม่เกี่ยวกับกระทรวงดีอี แต่เมื่อกระทรวงเห็นข้อความใดเข้าข่ายผิดกฎหมายจะรวมรวมส่งให้ศาล จึงไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงดีอีทั้งหมด แต่เป็นเรื่องของศาล และกระบวนการยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองเลย ส่วนศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ภารกิจหลักคือเผยแพร่ให้ข้อมูลกับประชาชน หากตรวจสอบว่าพบข่าวปลอมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ศูนย์ฯก็จะแจ้งเตือนผ่านระบบต่างๆ เพื่อที่หน่วยงานต่างๆ จะได้ประชาสัมพันธ์ต่อไป
“ผมเข้ามาทำงานในฐานะ รมว.ดีอีเอส เพื่อปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และพี่น้องประชาชน วันนี้สถาบันกำลังถูกทำลายโดยโซเชียลมีเดีย เป็นข้อมูลเท็จ ทำให้คนเกลียดชังกัน เป็นที่สังคมไทยรับไม่ได้ เป็นการล้างสมองคนรุ่นใหม่ให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในประเทศ จนผมรับไม่ได้ จึงต้องทำหน้าที่ปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติไว้ ท่านอาจจะไม่ไว้วางใจผมที่มีความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน แต่เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศเข้าใจผม เข้าใจสิ่งที่กระทรวงดีอีเอสทำ เพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง ปกป้องสถาบันหลักของชาติ ให้เข้มแข็งคงอยู่เพื่อคนไทยทุกคนตลอดไป”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลัง นายชัยวุฒิ ชี้แจงจบ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นประท้วงว่า ภาพ และข้อความ ที่ รมว.ดีอีเอส ใช้ในการชี้แจงท่านทำให้สังคมเห็นว่า พรรคก้าวไกล เป็นผู้สร้างเฟกนิวส์ต่างๆ ในสังคม ทั้งที่สิ่งที่พรรคก้าวไกลทำมาตลอด มีเพียงการให้ข้อมูลแก่สังคมเท่านั้น ตนรู้สึกผิดหวังต่อท่านในฐานะ รมว.ดีอีเอส เป็นอย่างมาก