xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ "การแจ้งตาย" เป็นเรื่องใหญ่กว่า "การตาย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ



รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ

นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สาขาศัลยกรรม รพ.ราชวิถี และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา

การตายเป็นเรื่องใหญ่แล้ว แต่จากเคสสะท้านโลกSocialเกี่ยวกับการตายของผู้ต้องหายาเสพติดยิ่งทำให้ประเด็น "การแจ้งตาย" ดูเหมือนจะใหญ่กว่า "การตาย" ไปเสียแล้ว

[การตายในโรงพยาบาล การตายภายใต้การดูแลของแพทย์ การตายโดยธรรมชาติ] ดีกว่า [การตายนอกโรงพยาบาล การตายภายใต้การควบคุมของเจ้าพนักงาน การตายผิดธรรมชาติ] อย่างไร?

การแจ้งตายนั้นเกี่ยวข้องในสี่แง่มุมคือ เอกสารเกี่ยวกับการตาย.....การตายใน/นอกสถานพยาบาล....ตายตามธรรมชาติ/ตายผิดธรรมชาติ...ตายภายใต้สถานการณ์ปกติกับการตายภายใต้การควบคุมของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

แง่มุมแรก เอกสารเกี่ยวกับตาย
(๑) เอกสารรับรองการตาย ท.ร. 4/1 ...ออกให้โดยแพทย์สาขาใดก็ได้ ขอให้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ "ต้อง" ออกเมื่อการตายเกิดขึ้นในสถานพยาบาลเท่านั้น

(๒) ใบรับแจ้งการตาย ท.ร. 4 ตอนหน้า ...ออกโดยหน่วยงานทางปกครอง เหตุเพราะการเสียชีวิตเกิดนอกสถานพยาบาล

(๓) เอกสารการชันสูตรพลิกศพ ...มักออกโดยแพทย์เฉพาะทางด้านนิติเวช ซึ่งไม่ว่าจะตายในหรือนอกสถานพยาบาล ไม่ว่าจะตายตามธรรมชาติหรือผิดธรรมชาติ...แต่จะออกให้ก็ต่อเมื่อมีการขอให้ออก หรือมีกฎหมายบังคับให้ออก ...ส่วนใหญ่ออกเมื่อญาติติดใจการตาย เมื่อแพทย์สงสัยสาเหตุการตาย หรือเมื่อมีการตายที่เกี่ยวข้องกับคดีความ

(๔) มรณบัตร (Death certificate) ..ออกโดยหน่วยงานทางปกครอง หลังจากมั่นใจว่ามีการเสียชีวิตจริงโดยอิงกับเอกสารตามที่ระบุมากข้างต้น มักถูกนำไปใช้ในการทำธุรกรรมโดยญาติ เหตุเพราะผู้ตายสิ้นสภาพบุคคลตามกฎหมายแล้ว

แง่มุมที่สองคือ สถานที่ที่ถึงแก่ความตาย มี ๒ กรณี
(๑) ตายภายในสถานพยาบาล (ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นโรงพยาบาล) ...การตายแบบนี้ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย ในการออกเอกสารรับรองการตาย (ท.ร. 4/1) ซึ่งมีศัพท์แสลงของแพทย์ว่า "ออกวีซ่า!!!" ทั้งนี้ในวีซ่าจะระบุเนื้อหาสำคัญคือ สาเหตุตายทางการแพทย์ "เบื้องต้น" และวันเวลาที่เสียชีวิต ให้กับญาติเพื่อไปใช้ประกอบการแจ้งตายกับหน่วยงานทางปกครองต่อไป โดยกฎหมายกำหนดให้ออกภายใน ๒๔ ชม.หลังการตาย

(๒) ตายนอกสถานพยาบาล มี ๒ แบบ
๒.๑ ตายภายใต้เคหสถานหรือบ้าน ซึ่งอาจเป็นของผู้ตายหรือไม่ก็ได้ ...กฎหมายกำหนดให้เจ้าบ้าน ผู้พบศพ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายต้องแจ้งการตายต่อหน่วยงานทางปกครองภายใน ๒๔ ชม.เช่นกัน
๒.๒ ตายนอกบ้าน เช่นตายในรถ ตายในทุ่งนา ตายตามตรอกซอกซอย เป็นต้น ..กฎหมายกำหนดให้ผู้พบศพแจ้งตายภายในไม่เกิน ๗ วัน

ด้วยเหตุที่การตายแบบนี้เกิดขึ้นนอกสถานพยาบาล จึงไม่อยู่ภายใต้การรับรู้ของแพทย์ ดังนั้นจึงเป็นการพ้นวิสัยที่แพทย์จะออกเอกสารรับรองการตาย (ท.ร. 4/1)ให้ได้ กฎหมายจึงกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองเป็นผู้ออก "ใบรับแจ้งการตาย ท.ร. 4 ตอนหน้า" โดยข้อมูลที่กรอกจะเป็นไปตามประวัติที่ญาติหรือผู้แจ้งการตายบอกเล่าเท่านั้น ..เพราะเป็นการสุดวิสัยที่ผู้แจ้งการตายหรือนายทะเบียนจะทราบเองได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมักไม่มีการะบุสาเหตุการตายไว้ หรือลงไว้เพียงแต่ว่า "สาเหตุไม่ชัดแจ้ง"

แง่มุมที่สามคือ ตายตามธรรมชาติ หรือตายผิดธรรมชาติ
(๑) การตายตามธรรมชาติ (Natural death) ส่วนใหญ่ก็คือตายที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันดี คือเจ็บป่วยแล้วเสียชีวิต...ซึ่งการตายประเภทนี้แพทย์ที่ให้การรักษามักทราบดีแล้วว่า อะไรเป็นสาเหตุทางการแพทย์ที่ทำให้ถึงแก่ความตาย จึงมักจบลงด้วยการหนังสือรับรองการตาย (ท.ร. 4/1) เท่านั้น

(๒) การตายผิดธรรมชาติ (Unnatural death) อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา อันได้แก่ ฆ่าตัวตาย ถูกฆาตกรรม ถูกสัตว์ทำร้าย ตายด้วยอุบัติเหตุ ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ..ซึ่งกฎหมาย "บังคับ" ให้ต้องมีการชันสูตรศพ เพื่อระบุสาเหตุของการตายที่แน่นอนลงไป..ซึ่งหากเป็นได้ควรให้ "แพทย์เฉพาะทางด้านนิติเวชศาสตร์" ที่ได้รับอนุมัติหรือวุฒิบัตรจากแพทยสภา เป็นผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ ยกเว้นหาแพทย์นิติเวชไม่ได้จริง ๆ

แง่มุมที่สี่คือ ตายภายใต้การควบคุมของเจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือไม่...เหตุที่ต้องแยกออกมาเพราะการตายจำพวกนี้มักเกี่ยวข้องกับคดี โดยเฉพาะคดีอาญา อันเป็นที่น่าเคลือบแคลงว่า การตายนี้มีมูลเหตุจูงใจพิเศษอื่นใดหรือไม่ จึงจำเป็นต้องทำความจริงให้ปรากฏว่าการตายนี้มิใช่เกิดจากการกระทำหรือการบกพร่องของเจ้าพนักงาน...ดังนั้นกฎหมายจึงบังคับให้เจ้าพนักงานที่ควบคุมตัวผู้ตายอยู่ก่อนหน้านี้ เป็นผู้ยื่นเรื่องเพื่อให้มีการทำชันสูตรศพ...และกฎหมายยังล็อคไว้อีกหลายชั้นคือ ภายหลังการชันสูตรศพเสร็จสิ้น ต้องยื่นสำนวนไปยังอัยการเพื่อตรวจสอบ..และยังต้องไปจบที่ศาลให้ทำคำสั่งสุดท้ายสรุปสาเหตุแห่งการตายออกมา

จากความรู้ในมุมมองทางการแพทย์+มุมมองทางกฎหมายประกอบกัน.. คงพอจะมองออกว่า เหตุใดข่าวที่ออกมาจึงดูเสมือนว่าผู้ตายเสียชีวิตระหว่างยังไม่ถูกจับกุม(อยู่ระหว่างวิ่งหนีการจับกุม) และเหตุใดจึงต้องมาเสียชีวิตที่สถานพยาบาลจนเกิดดราม่ากับแพทย์ที่ออกใบ ท.ร. 4/1 เพราะหากปล่อยให้เสียชีวิตระหว่างการถูกจับกุมจะถูกบังคับโดยปริยายให้ต้องมีการชันสูตรศพ และหากเสียชีวิตนอกสถานพยาบาลก็จะชวนสงสัยให้เป็นการตายผิดธรรมชาติที่อาจตามมาด้วยการชันสูตรพลิกศพเช่นกัน !!!! และแม้แต่ว่าจะมีการชันสูตรแต่หากการตายเกิดขึ้นในโรงพยาบาล ผลการชันสูตรก็มีโอกาสชี้ไปทางการตายแบบธรรมชาติมากกว่าผิดธรรมชาติ

ส่วนประเด็นที่อาจต้องของความเห็นใจแทนแพทย์ทั่วประเทศที่มีหน้าที่ออก "หนังสือรับรองการตาย (ทร.4/1)" ที่มักมีประเด็นกล่าวหาอยู่เนือง ๆ ว่า ทำไมหลายครั้ง สาเหตุตายทางการแพทย์ที่แพทย์ระบุ(ที่ถูกบังคับให้ออกภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการตาย) จึงไม่ตรงกับใบชันสูตรพลิกศพ(ที่ออกมาภายหลังและมีเวลาไม่จำกัดในการออกผล)

เหตุก็เพราะกฎหมายนั้นเร่งรัดเหลือเกินที่กำหนดให้ต้องมีการแจ้งตายภายใน ๒๔ ชม. และ "ต้องระบุด้วยว่าตายเพราะอะไร" จึงทำให้หลายครั้งแพทย์ถูกบีบให้ต้องรีบออกเอกสาร ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ..แม้ผู้ป่วยจะอยู่ภายใต้การดูแลก็ตาม เช่น กรณีที่เสียชีวิตกะทันหันระหว่างการรักษา ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร

ซึ่งหากญาติไม่ติดใจก็แล้วไป แต่หากญาติติดใจและเรียกร้องให้มีการชันสูตรพลิกศพ ความจริงที่ได้จากการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งมีเวลาไม่จำกัดในการหาความจริง อาจไม่ตรงกับหนังสือรับรองการตาย (ท.ร. 4/1) ซึ่งแพทย์เป็นผู้ออกให้ในเบื้องต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรสำหรับคนที่มีความรู้ความเข้าใจตามที่ได้กล่าวมา

แต่สำหรับญาติที่มีความเคลือบแคลงระแวงสงสัยแต่ต้น ก็มักเข้าใจผิดว่า แพทย์เจตนาปกปิดความจริงเพราะตนเองให้การรักษาผิด .. ส่วนแพทย์เองก็ต้องระมัดระวังในการกรอกเอกสาร ท.ร. 4/1 โดยต้องยึดหลักการ ว่าต้องกรอกข้อมูลเพื่อสื่อสารออกไปยังผู้เกี่ยวข้องว่า อะไรคือ “สาเหตุทางพยาธิหรือทางการแพทย์ (Underlying causes of deaths)" ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เช่น ตายเพราะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ตายเพราะขาดอากาศหายใจ ตายเพราะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เป็นต้น

ในขณะเดียวกันแพทย์ก็พึงระลึกว่า จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงการกล่าวถึง "พฤติการณ์แห่งการตาย" เช่น ตายจากการถูกผู้อื่นทำร้าย ตายจากการทำร้ายตนเอง ตายจากการเกิดอุบัติเหตุ ตายจากการตกบันได... เพราะแพทย์เองมักไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ จึงไม่อาจไปสรุปได้เองว่า "พฤติการณ์แห่งการตายที่แท้จริง" คืออะไร ....

ยิ่งหากแม้แต่แพทย์เองก็ยังสงสัยว่าผู้ป่วยตายจากอะไรกันแน่ หรือ มิได้รักษาผู้ป่วยเองมาแต่ต้น จนไม่แน่ใจหรือพอจะทราบตื้นลึกหนาบาง...แพทย์ยิ่งต้องระมัดระวังในการออกเอกสาร ท.ร. 4/1 หรือจะดียิ่งขึ้นคือ แพทย์เป็นผู้ร้องขอให้มีการชันสูตรพลิกศพเอง


......มิฉะนั้นแล้วแพทย์อาจตกเป็นผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยเองได้ ว่ามีเจตนาออกใบรับรองการตายอันเป็นเท็จ
ปล.คดีนี้คล้าย ๆ กับคดีดังเมื่อไม่นานมานี้ โดยจัดฉากการตายว่าเกิดจากอุบัติเหตุรถชนต้นไม้ แล้วปล่อยให้แพทย์นำผู้ป่วยไป CPRและปล่อยให้เสียชีวิตในโรงพยาบาล ...เมื่อญาติไม่ติดใจการตาย ทำให้มีการเผาศพโดยเร็ว จนกว่าจะทราบว่าเป็นฆาตกรรมอำพราง ก็เมื่อทราบข่าวการโอนหุ้นโดยมิชอบ..ยังดีที่ว่ามีการชันสูตรพลิกศพคร่าว ๆ ไปก่อนเผาศพ เพราะเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ (อุบัติเหตุรถชน)...จึงยังพอมีช่องทางคืนความเป็นธรรมให้กับญาติ ที่แม้ศพจะถูกญาปนกิจไปก่อนแล้ว... โดยอ้างอิงผลการชันสูตรเบื้องต้น ประกอบกับความเห็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ยืนยันชัดเจนว่าเป็นการเสียชีวิตด้วยการกระทำของมนุษย์












กำลังโหลดความคิดเห็น