xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เมื่อองค์การเภสัชฯ ขัดใจหมอชนบท ชุดตรวจ ATK “เล่อผู่” ก็ต้องถูกด้อยค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นพ นรนารถ



การเมืองเรื่องวัคซีนโควิด ทำให้วัคซีนซิโนแวคของจีน ถูกด้อยค่าหาว่าไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ในยามที่ประเทศไทยไม่มีวัคซีนแม้แต่โดสเดียวเมื่อต้นปีนี้ ก็ได้วัคซีนซิโนแวคนี่แหละช่วยชีวิตคนไทยเอาไว้

คนไทยไม่น้อยหลงไปตามกระแสด้อยค่า ไม่ยอมฉีดซิโนแวค จะรอวัคซีนเทพอย่างเดียว มีกรณีที่ต้องเสียชีวิตเพราะเชื้อโควิด ทั้งๆ ที่จะฉีดซิโนแวคก็ได้ แต่ไม่เอา

ชุดตรวจหาเชื้อโควิดแบบ Antigen Test Kit หรือ ATK ของบริษัท เป่ยจิง เล่อผู่ ผู้ผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งชนะการประมูล การจัดหาชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้นขององค์การเภสัชกรรม เพื่อแจกให้ประชาชนนำไปตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง กำลังจะถูกด้อยค่าแบบเดียวกับวัคซีนซิโนแวค เมื่อชมรมแพทย์ชนบท ประกาศผ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ว่า จะให้เครือข่ายชมรมแพทย์ชนบททั่วประเทศ ตรวจสอบคุณภาพการใช้งานชุดตรวจของเล่อผู่ เพื่อ “เช็กบิล” องค์การเภสัชกรรม คณะกรรมการอาหารและยา โรงพยาบาลราชวิถี และกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่ยอมเลือกยี่ห้อที่แกนนำแพทย์ชนบทอยากซื้อ

ชมรมแพทย์ชนบท ยังด้อยค่าชุดตรวจเล่อผู่ ด้วยการหยิบเอางานวิจัยในปากีสถานที่ระบุว่า ชุดตรวจ LEPU ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อตอบโต้กับข้อมูลของ อย.ไทยที่ใช้ผลการทดสอบของโรงพยาบาลรามาธิบดี รับรองมาตรฐานของ LEPU

ก่อนหน้านี้ ชมรมแพทย์ชนบทออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ด้อยค่าชุดตรวจ “เล่อผู่” โดยอ้างว่า FDA หรือสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ สั่งเก็บชุดตรวจเล่อผู่ออกจากท้องตลาด แต่เมื่อ อย.และองค์การเภสัชกรรม ร่วมกันแถลงข่าวเปิดเผยข้อมูลว่า ที่ FDA สั่งเก็บไม่ใช่เรื่องมาตรฐาน แต่เพราะชุดตรวจที่เข้าไปขายนั้น ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ FDA มีผู้ลักลอบนำเข้ามา เข้าข่ายชุดตรวจเถื่อน ชมรมแพทย์ชนบทจึงไม่อ้าง FDA อีกเลย แต่ไปเอางานวิจัยในปากีสถานมาด้อยค่าชุดตรวจของเล่อผู่แทน

เช่นเดียวกับการละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ชุดตรวจ ATK ทุกยี่ห้อที่ขายในประเทศไทย ผ่านการรับรองจาก อย.แล้ว และชุดตรวจของเล่อผู่ยังใช้กันที่เยอรมนี โรมาเนีย ออสเตรีย สวีเดน เบลเยียม และญี่ปุ่น และได้รับการรับรองมาตรฐานจากสหภาพยุโรปด้วย

การจัดหาชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น แจกให้ประชาชน ใช้งบประมาณ 1,014 ล้านบาท เป็นเงินจากพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นผู้ดำเนินการ

สปสช.นั้น เป็นเจ้าของเงิน แต่ซื้อเองไม่ได้ เพราะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเคยมีความเห็นว่า สปสช.ไม่ใช่หน่วยบริการตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ รวมทั้งวัคซีน กลางปี 2561 อำนาจการจัดซื้อยาชนิดที่หายาก มีราคาแพง เช่น ยาต้านเอดส์ น้ำยาล้างไต รวมทั้งวัคซีน ซึ่งปีหนึ่งๆ มีมูลค่าราวๆ 7,000 ล้านบาท จึงถูกโอนไปให้เครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถีจัดซื้อแทน โดยผ่านองค์การเภสัชกรรม

ในครั้งนั้น ชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายเอ็นจีโอที่มีส่วนได้เสียในการจัดสรรงบประมาณของ สปสช.เคลื่อนไหว คัดค้าน โดยเผยแพร่ข้อมูลต่อสังคมว่า การโอนอำนาจจัดซื้อยาจาก สปสช.ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา ได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงบัดนี้เกือบ 4 ปีแล้ว ไม่มีหลักฐานใดบ่งบอกว่า ข้อกล่าวหาของชมรมแพทย์ชนบทและเอ็นจีโอในตอนนั้น เป็นความจริงแต่อย่างใด

การจัดการชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดก็เช่นกัน ที่ สปสช.ซื้อเองไม่ได้ ต้องให้ โรงพยาบาลราชวิถีเป็นผู้ซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม โดย สปสช.เป็นผู้กำหนดทีโออาร์ หรือตั้งสเปก ซึ่งผู้มีหน้าที่ทำตรงนี้คือ หมอเกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะทำงานต่อรองราคาที่ สปสช. แต่งตั้ง

หมอเกรียงศักดิ์ จัดว่าเป็นพี่ใหญ่ของชมรมแพทย์ชนบท เคยนั่งเป็นประธานนานถึง 8 ปี ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เป็นประธานแทน ปีที่แล้ว หมอเกรียงศักดิ์ตกเป็นข่าวฉาวโฉ่ ถูกบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลขอนแก่น เคลื่อนไหวคัดค้านแต่งชุดดำประท้วง ไม่ให้มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการแทน หมอชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ซึ่งถูกมือมืดเขียนบัตรสนเท่ห์ ด้อยค่าหมอชาญชัยว่า รับค่าคอมฯ จากบริษัทยา จนถูกกระทรวงสาธารณสุขตั้งกรรมการสอบ โดยประธานสอบ เป็นหมอชนบท

แรงต่อต้านไม่เอาหมอเกรียงศักดิ์ ทำให้หมอเกรียงศักดิ์ ต้องถอยกลับที่ตั้งไปเป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี เหมือนเดิม อกหักซ้ำสอง เพราะเคยถูกต้านไม่ให้เป็น ผอ.รพ.มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2561

ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการต่อรองราคา หมอเกรียงศักดิ์ เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ต้องการให้องค์การเภสัชกรรมซื้อชุดตรวจ ATK แบบเจาะจง คือ ไม่ต้องเปิดประมูล ไม่เอาเรื่องราคาเป็นเกณฑ์ เอาเรื่องคุณภาพที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และมีคุณภาพแม่นยำ สองยี่ห้อที่หมอเกรียงศักดิ์ “เจาะจง” คือ ยี่ห้อ Panbio ของแอบบอต ที่หมอเกรียงศักดิ์ไปต่อรองราคามาแล้วจาก 160 บาทต่อชุดลดลงมาเหลือ 140 บาท กับยี่ห้อ STANDARD Q ของเกาหลีใต้ ราคา 120 บาทต่อชุด

หมอชนบทอีกคนที่เป็นกรรมการต่อรองราคาคือ หมออารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล ที่เป็นคนเดียวกับ “อารักษ์” ในคลิปเสียงโทรศัพท์ที่สำนักข่าวแห่งหนึ่งนำมาเปิดว่า คุยกับหมอวิฑูรย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เร่งให้จัดซื้อชุดตรวจ ATK ทำนองว่า ไม่อยากให้ลดสเป็กเรื่อง WHO ต้องรับรอง และแนะนำยี่ห้อของแอบบอตกับ STANDARD Q ทั้งยังบอกกับหมอวิฑูรย์ว่า “ถ้าเอาของจงของจีนอะไรมาเนี่ย ผมโวยวายแน่”

ชุดตรวจ STANDARD Q ได้รับการยอมรับในเรื่องความแม่นยำ อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่า อย.ฟิลิปปินส์สั่งถอนทะเบียน เพราะมีค่าความไวเพียง 71% ไม่ถึง 80% ตามมาตรฐาน WHO แต่ผู้อำนวยการ อย.ฟิลิปปินส์ ปฏิเสธว่า ไม่ได้ถอนทะเบียน แม้ค่าความไวของ STANDARD Q จะต่ำว่ามาตรฐาน WHO แต่ก็ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญมากนัก

ปมปัญหาเรื่องการซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด อยู่ตรงที่องค์การเภสัชกรรม ไม่ทำตามความต้องการของแกนนำหมอชนบท ในคณะกรรมการต่อรองราคาของ สปสช.ที่ต้องการให้ซื้อแบบเจาะจงยี่ห้อคือ STANDARD Q แต่ไปใช้วิธีการจัดซื้อแบบปกติ คือ เปิดประมูล มีผู้เข้าประมูล 16 ราย โดยใช้เกณฑ์ราคา เนื่องจากชุดตรวจ ATK ที่เข้าประมูลทุกรายผ่านมาตรฐานของ อย.แล้ว ผ่านการทดสอบทางคลินิกจากหน่วยวิจัย รพ.รามาฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งผลคือ บริษัทออสแลนด์ ที่เสนอชุดตรวจของเป่ยจิง เล่อผู่ ชนะประมูลด้วยราคาชุดละ 70 บาท ต่ำกว่าที่ สปสช.กำหนดไว้ชุดละไม่เกิน 120 บาท

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม บอกว่า ถ้า สปสช.ต้องการซื้อแบบเจาะจง ก็บอกมา องค์การเภสัชกรรมทำให้ได้เพราะมีระเบียบอนุญาต แต่ สปสช. ระบุสเปกอ้อมๆ ไม่บอกชื่อบริษัท ชื่อยี่ห้อที่ต้องการมาตรงๆ อีกทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายว่า ชุดตรวจ ATK มีหลายยี่ห้อที่ได้มาตรฐาน อย.จึงควรเปิดประมูล ให้มีการแข่งขัน

นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ยืนยันว่า คณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือคณะกรรมการต่อรองราคา ที่หมอเกรียงศักดิ์ เป็นประธาน เป็นผู้กำหนดทีโออาร์เอง โดยมีหนังสือจาก สปสช.ลงวันที่ 1 สิงหาคม ที่แนบทีโออาร์ดังกล่าว เป็นหลักฐาน แต่ไม่ได้ระบุว่า ให้ซื้อแบบเจาะจงจากบริษัทใด หากบอกมา องค์การเภสัชกรรมก็จัดให้ได้ ไม่มีปัญหา

เมื่อผลการประมูลไม่เป็นไปตามที่แกนนำหมอชนบทต้องการ ทั้งๆ ที่ไปคุยกันมาเรียบร้อยแล้วว่า จะซื้อนะ ขอให้ลดราคาลงมาให้อยู่ในวงเงิน เขาก็ลดให้แล้ว ชมรมแพทย์ชนบทจึงเคลื่อนไหวโจมตีด้อยค่าชุดตรวจ ATK ของเล่อผู่ โดยใช้เรื่องผลวิจัยในปากีสถาน และราคา หลังจากเรื่อง FDA ถูกจับได้ว่าข้อมูลของชมรมแพทย์ชนบทไม่ถูกต้อง

จากนี้ไป กระแสด้อยค่าชุดตรวจของเล่อผู่ก็จะทยอยออกมา ชมรมแพทย์ชนบทมีข้อได้เปรียบ พูดอะไร คนก็พร้อมจะเชื่อ เพราะเข้าใจกันเองว่า มีอุดมการณ์ เสียสละ ไม่โกง ไม่พูดโกหก

มีข้อสังเกตว่า เรื่องนี้ เลขาธิการ สปสช.หมอจเด็จ ธรรมธัชอารี ยังไม่มีท่าทีอะไรออกมา หากสัปดาห์นี้ยังเงียบ อาจทำให้สังคมเข้าใจไปว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของหมอชนบทล้วนๆ สปสช.ไม่เกี่ยว


กำลังโหลดความคิดเห็น