xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สภาล่ม วิรัช-เรืองไกร แท๊กทีมทิ่ม ประธานชวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิรัช รัตนเศรษฐ -  เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สภาล่มเพราะกลัวโควิด-19 หรือ เพราะความขัดแย้งภายในรัฐบาล เรื่องเนื้อหาบางมาตราของ ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตรายกันแน่
เพราะแม้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐจะเรียงแถวออกมายืนยันว่า สาเหตุที่ไม่อยู่ในสภาเพราะกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีทั้ง ส.ว.และแม่บ้านติดเชื้อ จนผวาจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่

เพราะแม้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐจะเรียงแถวออกมายืนยันว่า สาเหตุที่ไม่อยู่ในสภาเพราะกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีทั้ง ส.ว.และแม่บ้านติดเชื้อ จนผวาจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่

แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของ วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองประธานวิปรัฐบาล ที่ว่าเป็นเรื่องของแท็กติก มันทำให้ชวนคิด

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ แต่มีคนตั้งใจทำให้สภาล่มตั้งแต่ก่อนวันประชุม โดยมีรายงานว่า ก่อนวันประชุมสภา 1 วัน วิรัช ส่งข้อความทางไลน์ถึง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงได้หารือกับพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคเพื่อไทยแล้วว่า

เห็นควรให้งดประชุมสภาไปก่อน โดยอยู่ระหว่างหารือกับ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ทำให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐหลายคน โดยเฉพาะ ส.ส.ต่างจังหวัด บางคนทำหนังสือขอลาประชุม ขณะที่บางคนกระโดดร่มไปเลย

แต่ต่อมาได้รับแจ้งว่า ประธานชวน ปฏิเสธข้อเสนอของ วิรัช ที่ขอให้งดประชุมหนีโควิด-19 โดยอ้างว่า มีการบรรจุกฎหมายเข้าวาระไปแล้ว อย่างไรต้องประชุม

กรณีดังกล่าว สร้างความไม่พอใจให้กับ วิรัช เป็นอย่างมาก เพราะถูกปฏิเสธในลักษณะนี้จาก ประธานชวน หลายครั้ง จึงเปิดปฏิบัติการอารยะขัดขืน ไม่ให้ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐเข้าประชุม

ดังจะเห็นว่า ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ปรากฏว่า มีความเคลื่อนไหวขององคาพยพของพรรคพลังประชารัฐ คือ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ที่อยู่ๆ ลุกขึ้นมาตรวจสอบประธานสภาผู้แทนราษฎร แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

โดย เรืองไกร ออกมาเปิดเผยว่าจะยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ ชวน กรณีนำรถของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปใช้ในงานของมูลนิธิที่ตัวเองเป็นประธาน จึงอาจขัดระเบียบ

การที่อยู่ๆ เรืองไกร พุ่งโจมตี ชวน มันย่อมมีเชื้อมาจากความไม่พอใจของใครบางคนในพรรคพลังประชารัฐเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

แต่เรื่องการกลัวโควิด-19 จนส.ส.พรรคพลังประชารัฐไม่มาประชุม น่าจะเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของเหตุผลในการจงใจทำองค์ประชุมล่ม เพราะลึกๆ น่าจะมีอะไรมากกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐหลายคนอาจไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่เมื่อได้รับแจ้งจาก วิรัช ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องงานสภาของพรรค ทุกคนจึงปฏิบัติตาม และคิดว่าคงเป็นคำบัญชาจากผู้ใหญ่ที่ส่งผ่านมายัง วิรัช

แต่สำหรับ วิรัช ย่อมรู้อยู่เต็มอกแน่ จึงใช้ข้ออ้างเรื่องสถานการณ์โควิด-19 มาเป็นฉากบังไม่เข้าร่วมประชุม ซึ่งมันไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้คนวางหมากกลในสภาอย่าง วิรัช ใช้ยุทธวิธีนี้

มีหลายครั้งหากกฎหมายฉบับใด หรือวาระใด พรรคพลังประชารัฐต้องการจะเตะ หรือยื้อออกไปอีกหน่อย จะใช้กลยุทธ์ทำองค์ประชุมล่ม

หากจำกันได้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 สภาเคยล่มมาครั้งหนึ่งระหว่างการพิจารณารับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ครั้งนั้น วิรัช อ้างว่า วันเดียวกันมีการประชุมคณะกรรมาธิการไม่ต่ำกว่า 30 คณะ และขณะนี้กำลังมีการเตรียมการเพื่อประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นัดแรก เป็นเหตุให้เข้ามาแสดงตัวไม่ทัน

แต่มีคนจับไต๋ว่า การประชุมกรรมาธิการนั้นประชุมในสภา สถานที่เดียวกับที่ประชุมสภา อย่างไรย่อมต้องมาทัน ดังนั้น มันจึงเหมือนการจงใจให้ล่มมากกว่า

กระทั่งมีรายงานข่าวออกมาภายหลังว่า วิรัช ต้องการแสดงอิทธิฤทธิ์ให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า หากขาดตัวเองไปงานสภาจะสะดุด หลังไม่พอใจที่ตัวเองไม่มีชื่อเป็นกรรมาธิการงบประมาณฯ ซึ่งหลังเหตุการณ์นั้นไม่กี่วัน ก็มีการแต่งตั้ง วิรัช เข้าไปเป็นกรรมาธิการ

ขณะที่เหตุประชุมสภาล่มล่าสุด มีรายงานว่าเหตุผลของฝ่ายค้านที่จะไม่รับกฎหมายฉบับนี้ คือ มาตรา 6 เพราะมองว่า มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงิน

เนื่องจากมีประเด็นบางมาตราเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณเรื่องค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายของผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย

ดังนั้น หากร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตรายที่เป็นกฎหมายการเงินถูกคว่ำกลางสภาฯ อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภา ลาออก จึงวางแผนให้ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม

แต่ว่ากันตามข้อเท็จจริง เหตุผลข้างต้นดูจะย้อนแย้งไปสักหน่อย เพราะต่อให้ฝ่ายค้านจะใช้เหตุผลนี้มาขู่อย่างไร แต่หากฝ่ายรัฐบาลเองเหนียวแน่น อย่างไรเสียย่อมชนะโหวตฝ่ายค้านได้ไม่ยากเย็น โอกาสจะถูกคว่ำแทบไม่มี

ฉะนั้น มันเป็นไปได้สูงมากว่าเกิดความขัดแย้งภายในของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคภูมิใจไทยที่ ส.ส.หายไปหลายคน โดยมีรายงานออกมาว่า สองพรรครัฐบาลเคลียร์ปัญหากันไม่ลงในบางมาตรา ของร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย โดยพรรคภูมิใจไทย ต้องการนำยาบางชนิดกลับมาใช้

เมื่อเคลียร์ไม่ได้จึงชะลอไว้ก่อน ด้วยการโดดประชุมเพื่อให้องค์ประชุมล่ม ซึ่ง ประธานชวน คงจับได้ไล่ทันมาตั้งแต่ที่ วิรัช ขอเลื่อนการประชุมไปก่อน จึงไม่ยอมให้เลื่อน

สรุปแล้ว วิรัช รู้มาตลอดว่า ยังเคลียร์กันไม่ตก จึงแจ้ง ส.ส.ไม่ให้มาประชุมโดยอ้างโควิด-19 เพื่อให้องค์ประชุมล่ม ซื้อเวลาจนกว่าปัญหาภายในจะจบ แล้วค่อยมาโหวตกันอีกรอบหรือไม่

แท็กติกนี้ใช้บ่อยเหลือเกิน


กำลังโหลดความคิดเห็น