xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญ : เครื่องมือกำหนดทิศทางประชาธิปไตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



“The Constitution is Closely Bound up With the Future of the Country and the Destiny of the People” แปลโดยใจความว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญ ผูกพันใกล้ชิดกับอนาคตของประเทศ และชะตากรรมของประชาชน นี่คือ วาทกรรมของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน จากหนังสือ Xi Jinping the Governance of China

จากคำพูดข้างต้น จะเห็นได้ว่า ผู้นำประเทศสังคมนิยมเช่นจีน ยังให้ความสำคัญแก่กฎหมายรัฐธรรมนูญถึงขั้นเป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศ และชะตากรรมของประชาชน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมอนาคตของประเทศจีน และชะตากรรมของคนจีน 1,300 ล้านคน ภายใต้การปกครองของผู้นำท่านนี้ จึงเจริญแบบก้าวกระโดด ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคมขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากอเมริกา

หันมาดูรัฐธรรมนูญของประเทศไทย นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่า ประเทศไทยได้มีการร่างและประกาศใช้มาแล้วหลายฉบับ แต่ไม่เคยปรากฏว่ามีฉบับใดได้รับการยอมรับจากนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และนักปกครองในระบอบเผด็จการ จะเห็นได้จากการยกเลิกและร่างกันใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า จึงพูดได้ว่าไม่มีฉบับใดมีความสมบูรณ์ถึงขั้นเป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศ และชะตากรรมของประชาชน และที่เป็นเช่นนี้อนุมานได้ว่า น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ผู้ร่างมุ่งสนองความต้องการของผู้มีอำนาจในขณะนั้น ซึ่งมีเจตนาจะใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการแสวงหาอำนาจทางการเมืองของตนเอง และพวกพ้อง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่เกิดหลังการปฏิวัติรัฐประหาร

2. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ในแวดวงนักวิชาการที่รับใช้นักการเมือง และนักปกครอง ซึ่งมีอำนาจในขณะนั้น

ด้วยปัจจัย 2 ประการข้างต้น รัฐธรรมนูญของไทยจึงไม่เป็นที่ถูกใจของนักการเมือง และนักปกครอง ซึ่งอยู่คนละขั้วมาตลอด และนี่เองคือที่มาของการยกเลิก และร่างกันใหม่ทุกครั้งที่ขั้วอำนาจเปลี่ยน

อันที่จริงประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญตัวอย่างที่มีอายุยืนยาว และยังมีผลบังคับใช้ได้อย่างสมบูรณ์จนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ ศีลในพระพุทธศาสนาเริ่มตั้งแต่ศีล 5 ของสาธุชน ศีล 8 ของอุบาสก อุบาสิกา ศีล 227 ของภิกษุ และ 311 ของภิกษุณี โดยเฉพาะศีล 227 ของภิกษุ เปรียบได้กับรัฐธรรมนูญการปกครองสังฆมณฑล ซึ่งภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม

นอกจากศีลแล้ว การปกครองสังฆมณฑลยังมีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าความเป็นประชาธิปไตยของชาวโลก ทั้งนี้จะเห็นได้จากการประชุมสงฆ์ เพื่อขอฉันทมติในการทำสังฆกรรม เช่น การให้อุปสมบทแก่ผู้มาขอบวช เป็นต้น จะต้องได้รับความเห็นชอบ 100% แม้มีผู้คัดค้านเพียงเสียงเดียวก็ทำสังฆกรรมไม่ได้ เป็นต้น

ทำไมศีลของภิกษุจึงดำรงอยู่ได้ แม้กาลเวลาล่วงเลยมาแล้ว 2,500 กว่าปี โดยที่ไม่มีการแก้ไข?

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ตอบได้ว่า เพราะนอกจากมีศีลแล้ว ภิกษุรูปจะต้องมีธรรมถือปฏิบัติควบคู่กันไปกับศีล จึงทำให้ศีลดำรงอยู่ได้

ในทำนองเดียวกัน ถ้านักการเมือง และนักปกครองประเทศทุกคนควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย ทุกอย่างคงดำเนินไปได้ด้วยดี

แต่ที่ทุกอย่างสับสนวุ่นวายในหมู่นักปกครอง และนักการเมือง ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากไม่มีธรรม โดยเฉพาะหิริและโอตตัปปะ คือ ความละอายต่อบาป และความเกรงกลัวต่อบาป จึงเป็นเหตุให้มีการหลบเลี่ยงกฎหมายในรูปแบบของการกระทำหลบๆ ซ่อนๆ หรือในบางรายกระทำผิดโดยโจ่งแจ้งชนิดไม่เกรงกลัวกฎหมายก็มีให้เห็น

ในขณะที่ประเทศไทย ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ และล่าสุดปรากฏว่า ประเด็นที่หลายฝ่ายต้องการจะแก้คือ อำนาจของ ส.ว.ที่กำหนดให้ออกเสียงเลือกนายกฯ ได้ตกไปแล้ว

ดังนั้น ถ้ามีการยุบสภาฯ หรือรัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอมแล้วเลือกตั้งใหม่ ส.ว.ก็จะมีโอกาสเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง และนี่เองที่อนุมานได้ว่า การเลือกตั้งสมัยหน้า การเมืองคงวุ่นวายไม่ต่างไปจากที่ผ่านมาแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น