xs
xsm
sm
md
lg

หมอจี้รัฐบาลพูดความจริง วัคซีนพอหรือไม่ สธ.ย้ำคนรับผิดชอบคือนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วัคซีนขาดช่วงซัดกันวุ่น "ศิริราช" เลื่อนคิวฉีดตลอดสัปดาห์นี้ ระบุยังไม่ได้รับวัคซีนจาก สธ. ขณะที่ 8 รพ.สังกัดกทม. ประกาศเลื่อนฉีดเข็มแรก ด้าน"ชมรมแพทย์ชนบท"ยัน สธ.กระจายวัคซีนตามแผน ศบค.กำหนด ย้ำวัคซีนที่กรุงเทพฯไม่พอ

วานนี้ (13 มิ.ย.) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด ของไวรัสโควิด-19 พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,804 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,334 ราย จากเรือนจำ 409 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ เข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 61 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 195,909 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 4,143 ราย รวมรักษาหายป่วยสะสม 154,414 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 40,046 ราย มีอาการหนัก 1,215 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 351 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 18 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,449 ราย

ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากสุดยังคงเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ 924 ราย รองลงมาเป็น จ.สมุทรปราการ 217 ราย พระนครศรีอยุธยา 206 ราย สมุทรสาคร 139 ราย นนทบุรี 122 ราย สงขลา 89 ราย

สำหรับคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังในกรุงเทพฯ 85 แห่ง โดยพบคลัสเตอร์ใหม่ 4 แห่ง ที่ เขตจตุจักร บริษัท เจเจจี อินเทลลิเจนท์ จำกัด, เขตห้วยขวาง แคมป์คนงานก่อสร้าง Syntec ถนนกำแพงเพชร 7, เขตคันนายาว แคมป์คนงานก่อสร้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และเขตบางนา แคมป์คนงานก่อสร้าง บริษัท จอมธกล จำกัด

"ศิริราช"เลื่อนคิวฉีดวัคซีนสัปดาห์นี้

เฟซบุ๊ก Siriraj Piyamaharajkarun Hospitalโพสต์ข้อความแจ้งว่า "เรียน ผู้จองฉีดวัคซีนที่ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เนื่องจากโรงพยาบาลยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข (ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค) จึงจำเป็นต้องขอเลื่อนการฉีดวัคซีนของท่านในสัปดาห์นี้ (14 - 20 มิ.ย.64)

ทั้งนี้หากโรงพยาบาลได้รับการจัดสรรวัคซีนมาเมื่อใด จะแจ้งให้ท่านได้รับทราบ ทาง SMSโดยเร็วที่สุด เพื่อมารับการฉีดวัคซีนต่อไป ขออภัยทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ หากท่านมีข้อสงสัย โปรดสอบถาม Call Center หมอพร้อม 02-7922333 ระหว่างเวลา 09.00 - 17.00 น.

8 รพ.สังกัดกทม.เลื่อนฉีดเข็มแรก

ขณะที่สำนักการแพทย์ กทม. ออกประกาศโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.สิรินธร รพ.คลองสามวา รพ.บางนากรุงเทพมหานคร) เรื่อง เลื่อนนัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่1 ผ่านการจองผ่านระบบหมอพร้อม หรือที่โรงพยาบาลระหว่างวันที่ 14-17 มิ.ย.64

เนื่องด้วยด้วยวัคซีนโควิด-19 อยู่ระหว่างรอการจัดสรรจากสธ. จึงขอเลื่อนการฉีดวัคซีนโควิด -19 ตามวันเวลาข้างต้น ทั้งนี้หากได้รับการจัดสรรวัคซีน ทางโรงพยาบาลจะแจ้งนัดหมายท่านเพื่อเข้ารับบริการอีกครั้ง

สำหรับท่านที่มีนัดหมายฉีดวัคซีนฯ เข็มที่ 2 ในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถเข้ารับบริการตามนัดหมายเดิม

จี้รัฐบาลแถลงความจริงเรื่องวัคซีน

ขณะที่ เพจ "ชมรมแพทย์ชนบท" เรียกร้องรัฐบาลให้เสนอความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วัคซีนของไทยว่า ในขณะนี้มีจำนวนเพียงพอในการให้บริการฉีดกับประชาชนหรือไม่ ว่า Kick offวัคซีน ตั้งแต่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ภาพรวมไปได้สวยในวันแรกๆ แต่ต่อมาเริ่มแผ่วลงไปไม่ใช่เพราะแรงตก แต่เป็นเพราะวัคซีนหมด

สัปดาห์ที่ 14-20 มิ.ย. 64 นี้ จะเป็นสัปดาห์แห่งความโกลาหลในการแก้ปัญหาหน้างานเช่นเดิม เพราะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1.5 ล้านโดส ที่รับปากว่าจะมาให้ทันฉีดในวันจันทร์ที่ 14 มิ.ย.นั้น ส่งมอบไม่ทัน กำหนดส่งเป็น16-18 มิ.ย. ทาง ศบค. กำลังเจรจาขอให้ส่งเร็วขึ้นเป็น15 หรือ16 มิ.ย. เร็วขึ้น1 วันก็ยังดี แอสตร้าฯ 1.5 ล้านโดสนี้ ต้องใช้สำหรับ 2 สัปดาห์อีกต่างหาก เพราะlotอีก 1.5 ล้านโดสสุดท้ายของเดือนมิ.ย. กำหนดส่งมอบไกลไปถึงวันจันทร์ที่ 28 มิ.ย.กว่าจะมาก็สิ้นเดือน จึงกลายเป็นสองสัปดาห์ที่ประชาชนคาดหวัง แต่มีวัคซีนให้ฉีดไม่พอมือ ไกลๆ นั้นยังมีความไม่แน่นอนสูง ใกล้ๆ นี่สิคือของจริง เมื่อแอสตร้าฯ มาช้ากว่าซิโนแวค จึงต้องรับบทหนักมาเป็นวัคซีนขัดตาทัพเช่นเดิม นำเข้ามาได้อีก1 ล้านโดส แต่รอบนี้จะสาหัสกว่าเก่า เพราะข้อเสียเปรียบของซิโนแวค เมื่อเทียบกับแอสตร้าฯ คือ ซิโนแวค ต้องนัดเข็ม 2 ห่างไป 3 สัปดาห์ ไม่ใช่ 16 สัปดาห์ เหมือนแอสตร้าฯ ทำให้ซิโนแวค ที่ได้มาไม่สามารถเอามาฉีดให้ผู้จองวัคซีนรายใหม่ได้ทั้งหมด จึงต้องเก็บไว้ปิดเข็มสองด้วย

สรุป สัปดาห์ที่ 14-20 มิ.ย.นี้ บางจังหวัดจะมีวัคซีนเพียงพอ เพราะมีเหลือมาจากสัปดาห์แรกมาสมทบ บางจังหวัดที่ยอดจองหมอพร้อมน้อยจะได้วัคซีนมาปริ่มๆ พอกับยอดจอง แต่หลายจังหวัดที่ยอดจองหมอพร้อมมีมาก จะได้วัคซีนไม่พอพอจัดสรร ลงระดับอำเภอก็ยิ่งโกลาหล การแจ้งเลื่อนการฉีดวัคซีนจึงจะมีให้เห็นทั่วไป

ดังนั้น ผู้ใหญในรัฐบาล ควรจะแถลงยอมรับความจริง สร้างความเข้าใจกับประชาชน และเอื้อให้หน้างานบริหารจัดการวัคซีนได้โดยไม่ต้องเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่องดังเช่นที่ผ่านมา อาทิ ขอให้ฉีดช้าๆ เพื่อให้ได้ฉีดทุกวัน หรือห้ามประกาศเลื่อนโฉ่งฉ่าง แต่ถ้าเลื่อน ก็ให้เงียบๆ รวมทั้งการห้ามพูด ห้ามให้ข่าวออกสื่อ เป็นต้น

วัคซีนกรุงเทพฯไม่พอคนรับผิดชอบไม่ใช่สธ.นะ

ชมรมแพทย์ชนบท ยังระบุด้วยว่า ดูเหมือนวัน 14 มิ.ย.นี้ การฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ จะโกลาหลที่สุด มีการประกาศเลื่อนการฉีด เพราะไม่มีการส่งวัคซีนมาให้ จนมีการประกาศออกสื่อ จากรพ.แห่งหนึ่ง ให้ไปสอบถามจากรมว.สาธารณสุข ก่อนจะมีการแก้ไขให้สุภาพขึ้น ในความเป็นจริง ก็ต้องบอกว่าการจัดสรรวัคซีนในกทม.ไม่เกี่ยวกับสธ.

การจัดสรรวัคซีนในขณะนี้ เป็นหน้าที่ ศบค. คือนายกฯประยุทธ์ และเลขาฯสมช. มานานแล้ว ตั้งแต่ที่นายกฯ แต่งตั้งตัวเองเป็นประธาน ศบค. ดังนั้น การตัดสินใจสุดท้ายว่าจะจัดสรรอย่างไร จะจัดแบ่งโควตากันอย่างไร สธ.ไม่ใช่คนตัดสินใจ เมื่อ ศบค.ตัดสินใจแล้วก็สั่งการสธ. ให้จัดส่งวัคซีนกระจายต่อไปรพ.ต่างๆ ตามโผ

ในส่วนของ กทม. คนที่จัดสรรโควตาให้ กทม.ก็คือ ศบค. อีกเช่นกัน สธ.ยิ่งไม่เกี่ยว เป็นเรื่องภายในของศบค. และกทม. รวมถึงโรงเรียนแพทย์ รพ.เอกชนต่างๆ ที่ตั้งในกทม. ต้องหารือกันเอง ว่าจะกระจายอย่างไร และตามยอดจัดสรรรอบที่แล้ว ศบค. มีมติจัดวัคซีนงวดมิ.ย.ให้ กทม. 1 ล้านโดส ซึ่ง สธ.ก็ส่งให้ 5 แสนโดส ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จึงได้ฉีดกันอย่างกว้างขวาง มีความสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ (ซึ่งปัจจุบันคงฉีดจนใกล้จะหมดแล้ว ส่วนอีก 5 แสนโดส ยังต้องรอเพราะยังไม่มีวัคซีนจะให้)

นี่คือสารที่ รมต.อนุทิน ได้สื่อสารในวันนี้ มายังผู้บริหารของสธ. และสาธารณชน เพื่อความเข้าใจร่วมกัน

จริงๆ ก็เป็นเช่นนั้น จากการประชุม ศบค.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 3 พ.ค.64 ที่ผ่านมา นายกฯประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค.ได้นัดประชุมนัดพิเศษเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้เข้ามาหารืออย่างเร่งด่วน และมีมติ ตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด19 กรุงเทพฯและปริมณฑล”โดยมีตัวนายกฯ รวบอำนาจมานั่ง ผอ.ศูนย์ฯ เสียเอง โดยไม่มีชื่อรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งในทีมเลย ไม่มีแม้รมว.สธ. เป็นกรรมการ

อันนี้จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับ รมต.อนุทินด้วย เพราะนายกฯ ประยุทธ์ ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่งตั้งตนเองเป็นผู้บัญชาการควบคุมโควิดในกทม.ไปแล้ว ดังนั้น ความโกลาหลจากการขาดแคลนวัคซีนในกรุงเทพฯ หรือการกระจายวัคซีนในกรุงเทพฯ ที่ไม่ตรงกลุ่มที่ควรจะได้ เช่น"ไทยร่วมใจ" มาแรงแซงคิวผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังนั้น ก็ต้องไปวิพากษ์ให้ถูกคน นั่นคือวิพากษ์นายกฯ ประยุทธ์นั่นเอง ไม่ใช่ความรับผิดชอบของ รมต.อนุทิน

ในยามที่เรือใกล้แตก การเอาตัวรอดก็ย่อมปรากฏ เรื่องอะไรจะปล่อยให้โดนรุมสกรัมผิดคน วัคซีนกรุงเทพฯไม่พอ สธ.ไม่เกี่ยวนะ คนที่ต้องรับผิดชอบคือนายกฯประยุทธ์เต็มๆ กรุณาวิพากษ์วิจารณ์ หรือนินทาให้ถูกคนด้วย นั่นคือบทสรุปของปรากฏการณ์ในครั้งนี้

สธ.แจงจัดส่งวัคซีนตามแผนศบค.

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง หลักการจัดสรรวัคซีนโควิดว่า สธ.ใช้ข้อมูลทางวิชาการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายเชิงประชากร โดยในช่วงก.พ. -พ.ค.เริ่มฉีดกลุ่มแรกคือ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่ดูแลผู้ป่วยหรือมีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และฉีดประชาชนบางส่วนในพื้นที่ระบาด ส่วนเดือนมิ.ย.ฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่หากติดเชื้อมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยเปิดให้นัดหมายเข้ารับวัคซีนผ่านระบบ"หมอพร้อม"

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนจำนวนมากพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นมา จึงมีนโยบายให้กลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรังได้รับการฉีดวัคซีนตามนัดหมายเป็นหลักก่อน นอกจากนี้ ยังมีการฉีดในประชาชน เพื่อควบคุมการระบาด และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพิ่มเติม เช่น กลุ่มครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมเปิดเทอม , คนทำงานขนส่งสาธารณะ เนื่องจากมีความใกล้ชิดประชาชน ช่วยป้องกันไม่ให้รับเชื้อและแพร่เชื้อต่อ เป็นต้น

สธ.ดำเนินการจัดส่งวัคซีนให้ทุกจังหวัด ตามนโยบายของศบค. ซึ่งคิดจากตัวเลขที่แต่ละจังหวัดตั้งมา และปรับตามสูตรการคำนวณให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ส่งมอบให้กรมควบคุมโรค โดยเดือนมิ.ย.มีการกระจายวัคซีนเป็น 2 งวด ครอบคลุมการฉีดใน ระยะ 2 สัปดาห์ คือ งวดแรก วันที่ 7-20 มิ.ย.ประมาณ 3 ล้านโดส คือ ซิโนแวค 1 ล้านโดส และ แอสตร้าฯ 2 ล้านโดส เบื้องต้นมีการจัดส่งไปยังกทม. 5 แสนโดส (แอสตร้าฯ 3.5 แสนโดส และ ซิโนแวค 1.5 แสนโดส) สำนักงานประกันสังคม 3 แสนโดส ฉีดกทม.เป็นหลัก กลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่ง ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 1.5 แสนโดส ฉีด กทม.เป็นหลัก กลุ่มหมอพร้อม 76 จังหวัด 1.1 ล้านโดส จุดฉีดต่างๆ สำหรับองค์กรภาครัฐ เช่น ขนส่ง ทหาร ตำรวจ และครู 1 แสนโดส และควบคุมการระบาด 5 หมื่นโดส ส่วนงวดที่ 2 สำหรับวันที่ 21 มิ.ย.- 2 ก.ค.อีก 3.5 ล้านโดส เป็น ซิโนแวค 2 ล้านโดส และ แอสตร้าฯ1.5 ล้านโดส รวมมากกว่า 6 ล้านโดส

"สธ.จัดส่งวัคซีนโควิด-19 ตามนโยบายรัฐ ส่วนภารกิจการกระจายต่อไปยัง รพ. หรือจุดฉีดในแต่ละจังหวัดเพื่อให้เกิดการฉีดวัคซีนได้อย่างต่อเนื่องนั้น มีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการต่อ ซึ่งขอให้แต่ละจังหวัดปฏิบัติตามนโยบาย โดยเน้นฉีดกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรัง ที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมก่อน เพื่อป้องกันกลุ่มมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต" นพ.โสภณ กล่าว

กทม.โต้ สธ.ปมจัดสรรวัคซีน

ด้านกทม. ชี้แจงจากกรณีที่ทางสธ.แจ้งว่า ได้ให้วัคซีนกทม.มาแล้ว 1 ล้านโดส ตามแผนเดือนมิ.ย. 64 นั้น กทม.ขอให้ข้อมูลดังนี้

1. ตามแผนการจัดสรรวัคซีนของสธ.นั้น กทม.ได้รับการแจ้งว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าฯ 2.5 ล้านโดส ซึ่งให้กทม.ไปทำแผนการฉีดให้สอดคล้อง

2. สำหรับวัคซีนที่ใช้ในวันที่ 7-14 มิ.ย. ทางกทม.ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ 350,000 โดส ซิโนแวค 150,000 โดส

แบ่งการใช้วัคซีนแอสตร้าฯ เป็น - ระบบหมอพร้อม 181,400 โดส- เข็มที่สอง 52,600 โดส - ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง 8,000 โดส - ประชาชนทั่วไป 100,000 โดส- สำรองสำหรับควบคุมโรค 8,000 โดส

ส่วนวัคซีนซิโนแวค แบ่งการใช้เป็น- เข็มที่สอง สำหรับการควบคุมโรค (พื้นที่ระบาดรุนแรง) 128,000 โดส- ควบคุมโรคพื้นที่ระบาดใหม่ 26,000 โดส

3. การจองผ่านระบบ"หมอพร้อม" เป็นการเปิดให้ รพ.ทุกแห่งในกรุงเทพฯ มาช่วยกันฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงที่เปิดพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้นกทม. จึงไม่ใช่ผู้ควบคุม และผู้ที่จัดสรรวัคซีน ซึ่งในเดือนมิ.ย.นี้ ผู้ที่ลงหมอพร้อมในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 450,000 ราย

4. กทม.ยืนยันว่ากทม.พร้อม สถานที่พร้อม บุคลากรพร้อม และหาก“วัคซีนพร้อม”ตามแผน กทม.พร้อมจะดำเนินการฉีดให้กับประชาชนทันที

"ซิโนแวค"เจอปัญหาภูมิคุ้มกันขึ้นน้อย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เริ่มเห็นปัญหาผู้ได้รับวัคซีน"ซิโนแวค" 2 เข็มแล้ว ภูมิคุ้มกันขึ้นน้อยถึงน้อยมาก ต้องเริ่มระมัดระวัง

ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบสองเข็มไปแล้ว สามถึงสี่สัปดาห์ พบว่ามีหลายรายที่ neutralizing antibodyไม่มี หรือที่สูงเพียง 20-30% การวัดตัดที่ 20% inhibition คือ ความสามารถในการยับยั้งไวรัสได้ต้อง มากกว่า 20% จึงจะถือว่ามีภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ อาจจัดแบ่งออกได้ เป็น 3 ลักษณะคือ 1. คนที่ได้รับวัคซีนตามปกติจะมีการตอบสนองที่สูง กลาง และต่ำ เป็นเรื่องปกติ แต่ต้องขึ้นวัคซีนเทคนิคเชื้อตาย เช่น วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดสามเข็มในวันที่ศูนย์ สามและเจ็ด ถึงจะเริ่มเห็นภูมิคุ้มกันในเลือด ประมาณวันที่ 10 และขึ้นในทุกคนในวันที่ 14 ดังนั้น วัคซีนซิโนแวค ฉีดสองเข็มห่างกันหนึ่งเดือน จึงทำการประเมินที่สาม หรือสี่สัปดาห์หลังจากเข็มที่สอง แต่ทั้งนี้ควรจะต้องมีภูมิขึ้นในระดับน่าพอใจในทุกคน

2. ในบางกลุ่มที่ได้รับวัคซีนในวันเดียวกัน รับการฉีดที่เดียวกัน ปรากฏว่า ไม่มีภูมิขึ้นเลย (น้อยกว่า 20%) อาจเป็นไปได้ว่า วัคซีนในชุดเดียวกันนั้น อาจจะมีปัญหา

3. มีภาวะประจำตัวที่สำคัญ เช่น สูงอายุและมีเบาหวาน ที่ภูมิไม่ขึ้น ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลของสถาบันแห่งหนี่ง

4. เริ่มมีการรายงานผู้ป่วยโควิด ทั้งๆ ที่ฉีดซิโนแวค ครบ 2 เข็ม และแอสตร้าฯ 1 เข็มแล้ว บางรายที่ติดมีการตรวจวัดภูมิคุ้มกันหลังฉีดแล้วว่าขึ้น แต่ไม่สูงมาก

ดังนั้น ในกรณีที่ภูมิไม่ขึ้น หรือขึ้นน้อยกว่า 68% ซึ่งเป็นตัวเลขในทางทฤษฎี ที่มีความสัมพันธ์กับการป้องกันการติด อาจจะต้องพิจารณาถึงการได้รับวัคซีนเข็มที่สาม ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อเก่า หรือยี่ห้อใหม่ก็ตาม

นอกจากนั้นในกรณีของการเกิดอาการแพ้ หรือมีผลข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า ทำให้ภูมิคุ้มกันยิ่งสูงขึ้น เพราะเป็นการอักเสบผ่านทางคนละระบบ


กำลังโหลดความคิดเห็น