ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสมรณะโควิด ในช่วงกลางปี 2020 จนทำให้ต้องตัดสินใจเลื่อนการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนไป 1 ปี ซึ่งก็สร้างความโล่งอกไปยังนักกีฬาเก่งระดับโลก ที่ไม่ต้องเสี่ยงมาเข้าแข่งขันแล้วอาจติดโรคร้ายนี้
เวลาผ่านมาใกล้ 1 ปีแล้ว ซึ่งตามกำหนดที่จะจัดในปีนี้คือ ช่วง 23 กรกฎาคมถึง 23 สิงหาคม และตามมาด้วยพาราลิมปิกฤดูร้อนในช่วง 24 สิงหาคมถึง 24 กันยายน
แม้จะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 8 อาทิตย์ แต่การระบาดรอบที่ 3 ของญี่ปุ่นกำลังอยู่ในสภาพที่ยังควบคุมไม่ได้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน และยอดผู้เสียชีวิตรายวันยังไม่ได้ลดลงจนหมดสิ้นไป และกำลังมีปัญหากับการรับคนไข้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากเตียงผู้ป่วยเริ่มเต็ม และบุคลากรทางการแพทย์ที่จะดูแลผู้ป่วยก็เริ่มตึงมาก
คนไข้หลายคนต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน และทำให้มีคนไข้เสียชีวิตที่บ้านเพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลของนายกฯ ซูกะ ยังเดินหน้าประกาศจะจัด 2 งานยักษ์ตามกำหนด เพราะปีนี้จะเป็นโอกาสสุดท้ายที่สามารถจะจัดได้ ไม่สามารถจะเลื่อนออกไปอีก 1 ปี เพราะในปีหน้า (2022) จะมีตารางการจัดโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งตามปกติจะจัดสลับกับโอลิมปิกฤดูร้อน โดยจะจัดสลับ 2 ปีหลังงานโอลิมปิกฤดูร้อน และไม่เคยจัดพร้อมในปีเดียวกันเพื่อให้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่จริงๆ
ถ้าฤดูร้อนปีนี้ ญี่ปุ่นไม่สามารถจัดงานใหญ่ 2 งานโอลิมปิกฤดูร้อนได้แล้ว ก็อาจจะต้องล้มเลิกการจัดไปเลย และจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อญี่ปุ่นอย่างมหาศาล
เพราะการจัดงานช้างนี้ ก็หวังจะทำรายได้ให้แก่ญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งจากการโฆษณาของผู้อุปถัมภ์อย่างเป็นทางการ, การขายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ตลอดจนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลพวงโดยตรงจากนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวทั่วญี่ปุ่น เพราะจะมีการตกแต่งและจัดงานพิเศษเฉลิมฉลองกีฬาโอลิมปิก
ในเดือนเมษายนที่เพิ่งผ่านมา เริ่มมีการขับเคลื่อนในหลายๆ วงการ ที่ออกมากดดันรัฐบาลให้เลิกล้มการจัดงาน เริ่มจากกลุ่มคนหนุ่มสาวลูกหลานของผู้สูงอายุ ที่ออกมาชี้ว่า ถ้าจัดงานนี้แล้วจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อไวรัส และจะมีอันตรายต่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายของพวกเขา ยิ่งญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะมีผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ถึงประมาณ 23% ของประชากรทั้งหมด
ซึ่งรัฐบาลเองเมื่อถูกกดดัน ก็ได้ประกาศจะจัดการแข่งขัน โดยไม่ต้องมีผู้เข้าชมจากต่างประเทศ เพราะเกรงผู้ชมจากต่างประเทศอาจนำเชื้อที่กำลังกลายพันธุ์ และมีคุณสมบัติแพร่เชื้อได้เร็วกว่าเชื้อโรคเดิมด้วยซ้ำ
นั่นหมายความว่า รายได้จำนวนมหาศาลจากการขายตั๋วเข้าชมจะหายไปในพริบตา พร้อมๆ กับการท่องเที่ยวทั่วเกาะต่างๆ ที่หวังจะทำเงินจากเหล่าผู้เข้าชมการแข่งขัน ที่จะต้องท่องเที่ยวทั้งก่อนและหลังการแข่งขัน
และคณะกรรมการจัดงานก็ต้องจัดการคืนเงินแก่ผู้ที่ได้ซื้อตั๋วไปตั้งแต่ปีที่แล้ว
น่าจะขาดทุนไปแล้วอย่างมหาศาลสำหรับการคืนตั๋วนี้
แต่ทางคณะกรรมการผู้จัดก็ยังใจป้ำเดินหน้าขายตั๋วให้แก่คนญี่ปุ่น เพื่อเข้าชมการแข่งขัน
ต่อมาเริ่มมีปฏิกิริยาจากจังหวัดต่างๆ ที่ประกาศขอระงับไม่รับทีมนักกีฬาที่จะมาฝึกซ้อมในจังหวัดของตน
จนมีข่าวบนหน้านสพ.รายงานถึงหญิงชราอายุเกินร้อย และอายุมากสุดของญี่ปุ่นได้ออกมาประกาศยกเลิกการเป็นผู้อัญเชิญคบเพลิงโอลิมปิก เพราะเกรงว่าจะติดเชื้อ...ตลอดจนพิธีอัญเชิญคบเพลิงที่ต้องวิ่งส่งคบเพลิงนี้ไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ก็มีคำสั่งไม่ให้ผู้คนประชาชนมาตั้งขบวนต้อนรับ!
และเมื่อต้นพฤษภาคมนี้เอง ทางสมาชิกแพทยสภาที่โตเกียว มีการลงนามในจดหมายเปิดผนึกของบุคลากรทางการแพทย์ 6 พันคน เขียนถึงนายกฯ ซูกะ ให้ระงับการจัดงานช้างทั้งสองของโอลิมปิก เพราะโรคกำลังระบาดหนัก โดยรัฐบาลได้ประกาศล็อกดาวน์ 4 เมืองใหญ่ นำโดย โตเกียว, โอซากา, เกียวโต และไฮยาโกะ และต่อมาก็ประกาศเพิ่มอีก 5 จังหวัด และตามมาด้วยจังหวัดที่ 10 คือ โอกินาวา...การล็อกดาวน์มีกำหนดถึง 31 พฤษภาคม และโอกาสขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปถึงเดือนมิถุนายนก็มีสูงมาก เพราะตัวเลขผู้ป่วยยังไม่ลดลง แม้จะมีการเริ่มระดมฉีดวัคซีนทั่วเกาะญี่ปุ่นแล้วก็ตาม แต่ก็มีความล่าช้ามากในการฉีดวัคซีน
มีนักธุรกิจบางคนออกมากดดันให้รัฐบาลยกเลิกการจัดโอลิมปิกในปีนี้ เพราะจะเป็นการทำฮาราคีรี (“Suicide mission”) หรือฆ่าตัวตายนั่นเอง
นายมาซาโยชิ ซัน แห่ง Soft Bank ก็เพิ่งออกมาขอให้รัฐบาลพิจารณาเลิกล้มการจัดในปลายเดือนกรกฎาคมนี้
ล่าสุดคือ นสพ.อาซาฮี ซึ่งเป็นนสพ.ที่ค่อนข้างเสรีก้าวหน้า ออกบทบรรณาธิการขอให้รัฐบาลประกาศงดจัดงานในหน้าร้อนนี้ เพราะการระบาดของโควิดยังรุนแรง และจะยิ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนที่จะติดเชื้อมากกว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ หรือหน้าตาของรัฐบาลญี่ปุ่น
นับเป็นสื่อใหญ่รายแรกที่กล้าหาญออกมากดดันรัฐบาล แม้อาซาฮีเองจะเป็นหนึ่งในผู้อุปถัมภ์อย่างเป็นทางการของงานโอลิมปิกครั้งนี้ ซึ่งหมายถึงเขาได้ลงเงินร่วมกับผู้อุปถัมภ์เป็นทางการรายอื่นๆ ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์มีชื่อระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทรถยนต์ ฯลฯ ที่ได้ผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการโอลิมปิก ทั้งที่ญี่ปุ่นและ IOC ให้เข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์อย่างเป็นทางการ และต้องลงเงินไปแล้วมหาศาล ตั้งแต่การเตรียมจัดในปีที่แล้ว และเลื่อนมาเป็นปีนี้
รวมทั้งมีนักเศรษฐศาสตร์บางรายที่ออกมาคำนวณให้รัฐบาลดูว่า ถ้าเดินหน้าจัดแข่งขัน-ท่ามกลางการระบาดที่ยังเอาไม่อยู่-จะทำให้เกิดการล็อกดาวน์ใหญ่ตามมาหลังการแข่งขัน และจะเกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจยิ่งขึ้น
ความกล้าหาญทางจริยธรรมของอาซาฮี จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ว่าเป็นสื่อที่มองผลประโยชน์ของชาติมาก่อนผลประโยชน์ของตน ซึ่งได้นำทางสำหรับสื่อยักษ์อื่นๆ จะกล้าพอที่จะออกมาเสนอรัฐบาลให้งดการจัดแข่งขันอีกหรือไม่?