xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตการเมืองหลังวิกฤตโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



วิกฤตการเมืองเบาบางลงในช่วงนี้เพราะวิกฤตโควิดศัตรูที่มองไม่เห็นเข้ามาถาโถม แต่โชคดีที่แอสตร้าเซนเนก้าที่รัฐบาลแทงไว้กำลังจะวิ่งเข้าวิน และคาดว่าอีกสองสามเดือนข้างหน้าเราจะได้ฉีดวัคซีนกันเป็นสิบล้านคนดูจากยอดจองตอนนี้ 7 ล้านกว่าคนแล้ว และฉีดไปแล้วกว่า 2 ล้านคน

ถ้าเราสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่หรือ 50 ล้านคนภายในปีนี้ หรือเราจัดการได้ดีหลังจากนี้ไป 3 เดือน มีการผ่านงบประมาณปี 2565ไปแล้ว มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ผมคิดว่า รัฐบาลจะยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งกันใหม่

ส่วนวิกฤตการเมืองหรือความขัดแย้งทางการเมืองจะหมดไปหรือไม่ ต้องดูว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านการแก้ไขนั้นเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายหรือไม่ เรื่องสำคัญเรื่องแรกที่จะทำให้รัฐธรรมนูญพอใจกับทุกฝ่ายก็คือ อำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.ต้องหมดไป ถ้าทำอย่างนั้นได้ผมคิดว่า จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองลดลง เพราะการแพ้ชนะของแต่ละฝ่ายทางการเมืองจะถูกตัดสินด้วยเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

หากกติกาที่ใช้เลือกตั้งและสรรหานายกรัฐมนตรีมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาเพื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง ไม่ว่าผลเลือกตั้งฝ่ายไหนจะชนะได้เป็นรัฐบาลก็เชื่อว่า ความขัดแย้งทางการเมืองบนท้องถนนจะลดลงไป

แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้องได้รับฉันทานุมัติจากคนที่กุมอำนาจ นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้เคาะโต๊ะหรือส่งสัญญาณให้ ส.ว.ที่แต่งตั้งมาด้วยมือเปิดทางให้ในการยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจตัวเองลง

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูแนวคิดในการแก้รัฐธรรมนูญที่ปล่อยให้ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกของพรรคเป็นตัวชูโรงนั้น ยังมองไม่เห็นเลยว่า จะตัดอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีลง เพราะข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น 13 มาตราของไพบูลย์นั้น ยังไม่ใช่สาระความขัดแย้งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย มีเพียงเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้งที่สร้างความสับสนเท่านั้นที่คิดว่าทุกพรรคน่าจะเห็นร่วมกัน

เมื่อเงื่อนไขที่พรรคการเมืองอื่นมองว่า พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบที่มีเสียง ส.ว. 250 คนอยู่ในมือยังคงอยู่ ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม

ดูท่าทีที่เกิดขึ้นแล้วราวกับว่าพรรคพลังประชารัฐมิได้นำพาว่าความขัดแย้งในชาติบ้านเมืองจนนำผลกระทบไปสู่สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีส่วนมาจากปัญหาทางการเมือง และปัญหาทางการเมืองที่สำคัญก็คือ การสืบทอดอำนาจโดยใช้กลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเครื่องมือ

ต้องยอมรับนะครับว่า ที่คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ด้านหนึ่งเพราะพวกเขานำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ไปผูกโยงกับเงื่อนไขทางการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ถ้าเงื่อนไขเหล่านี้ถูกขจัดไป ผมไม่เชื่อว่า กลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวจะหยิบยกเอาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาปลุกระดมมวลชนให้ลงถนนได้

และจริงๆ แล้วถ้าม็อบไม่เอาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเงื่อนไขการชุมนุมด้วย มีแต่ข้อเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญและยุบสภาฯ เลือกตั้งกันใหม่ก็ต้องถือว่า การชุมนุมของพวกเขามีความชอบธรรมสูงมากเลยทีเดียว

แต่เราก็รู้นั่นแหละว่า เบื้องหลังที่พวกเขาต้องการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะมีผู้ใหญ่จำนวนมากหนุนหลัง และทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้เชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์รวมจิตใจของคนไทยจำนวนมาก ประชาชนจำนวนมากศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองเสมอมา

แน่นอนล่ะว่าวันนี้การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นเรื่องที่คนจำนวนหนึ่งกล้าแสดงออกต่อสาธารณะไปแล้ว เราจึงเห็นพวกเขาแสดงท่าทีที่หยาบคายบนท้องถนนและในโซเชียลมีเดีย และพวกเขาก็เคลื่อนไหวจนเกินเลยข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปไปสู่การเรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบของรัฐเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าหากพวกเขาเปิดเผยความต้องการที่แท้จริงออกมา คนไทยส่วนใหญ่ยากที่จะยอมให้เกิดขึ้นได้ และสุดท้ายสิ่งที่จะตามมาก็คือความรุนแรง

เพราะประชาชนจำนวนมากจะออกมาปกป้องสิ่งที่พวกเขาศรัทธา ที่กำลังถูกหมิ่นแคลนจากประชาชนอีกฝั่ง เมื่อนั้นเลือดไทยก็จะนองแผ่นดินอีกครั้ง

ดังนั้นทางออกที่รัฐบาลจะต้องทำก็คือ ลดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองลงให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้การเมืองถูกใช้เป็นเงื่อนไขกระทบชิ่งไปสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ และต้อนพวกที่มีแนวคิดเปลี่ยนรูปแบบการปกครองและล้มล้างระบอบเดิมไปสู่มุมอับ

แต่จะทำอย่างนั้นได้พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเข้าใจและรับรู้ว่าตัวเองนั้นเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของความขัดแย้ง และปลดชนวนความขัดแย้งทางการเมืองให้ออกไปให้หมด ไม่ใช่การพยายามทำตัวเสมอเป็นตัวกลางของความขัดแย้งระหว่างประชาชนกลุ่มหนึ่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์

แน่นอนเราเชื่อมั่นได้ว่ารัฐบาลนี้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่รัฐบาลนี้ต้องทำให้เห็นด้วยว่า จะปกปักรักษาและขจัดเงื่อนไขที่จะเป็นภยันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ให้หมดไปด้วย ไม่ใช่ให้เขาครหาว่าใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเกราะกำบังในการอยู่ในอำนาจของตัวเอง

ประชาชนจำนวนหนึ่งอาจจะหวาดกลัวระบอบทักษิณ หวาดกลัวการล้มล้างและเปลี่ยนแปลงการปกครอง หากอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาสู่อำนาจด้วยการชนะเลือกตั้ง เชื่อเถอะว่าความคิดแบบนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังคงศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่มีทางที่รัฐบาลไหนก็ตามจะกระทำเช่นนั้นได้โดยง่ายดาย และเชื่อว่าคนในฝั่งตรงข้ามกับพรรครัฐบาลในขณะนี้จำนวนมากก็ยังคงศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

แน่นอนไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าสรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาตามเงื่อนไขของสภาวะสังคมตามความเชื่อของแต่ละยุคสมัย แต่เชื่อเถอะว่าการเปลี่ยนแปลงที่ขัดกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่นั้นไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้

แต่นั่นแหละรัฐบาลเองต้องทำตัวให้ปราศจากข้อครหาต้องมีความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจและได้มาซึ่งอำนาจ มีความคิดที่จะทำประโยชน์ให้ชาติบ้านเมือง ปฏิรูปและขจัดอุปสรรคขวากหนามที่จะนำพาประเทศไปสู่ความล้มเหลว อย่าคิดเพียงว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะปกครองประเทศนี้อย่างไรก็ยังคงมีคนจำนวนหนึ่งสนับสนุนอยู่เสมอเพราะเกรงกลัวว่าอีกฝ่ายจะกลับมาสู่อำนาจ

วันนี้รัฐบาลคงเห็นแล้วว่า คนที่เขาสนับสนุนจำนวนหนึ่งก็เริ่มเบื่อหน่ายกับความไม่เอาจริงที่จะปฏิรูปชาติบ้านเมืองตามเสียงเรียกร้องของประชาชน และนับว่าคนกลุ่มนี้จะยิ่งขยายตัวมากขึ้น ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถดูแคลนได้เลยหากคนที่เคยสนับสนุนกลับพุ่งเป้ามาเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลเสียเอง

เอาเถอะวันนี้รัฐบาลยังมีภาระหนักหนาจากวิกฤตโควิด แต่ถ้าจะแก้ไขวิกฤตการเมือง ถ้ารัฐบาลนี้อยากอยู่ในอำนาจต่อไม่ว่าหลังหมดสมัยนี้ หรืออาจจะยุบสภาฯ ภายในปีนี้อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์กัน การจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งนั้นควรจะพิสูจน์ด้วยเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

รัฐบาลต้องตัดเงื่อนไขของความขัดแย้ง และเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลถูกมองว่ามีที่มาที่ไม่ชอบธรรมอย่างทุกวันนี้ให้หมดไป

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น