คำว่า อรหันต์ โดยพยัญชนะหรือตามตัวอักษร แปลว่า ผู้ห่างจากกิเลสโดยสิ้นเชิง และโดยอรรถหรือโดยใจความหมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุนิพพานคือ การดับกิเลสโดยสิ้นเชิง เริ่มตั้งแต่กิเลสอย่างหยาบ ซึ่งแสดงออกทางกาย และวาจา อันเป็นที่มาของกายทุจริตและวจีทุจริต กิเลสอย่างกลางเช่น กามฉันทะคือความพอใจในกาม และพยาบาท เป็นต้น อันที่มาของมโนทุจริต และกิเลสอย่างละเอียด ซึ่งนอนเนืองโดยสันดาน อันได้แก่อวิชชา ซึ่งเป็นที่มาของตัณหาคือ ความอยากมี อยากเป็น และความไม่อยากเป็น
ดังนั้น ผู้ที่เป็นอรหันต์ จึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และปัญญา
โดยนัยแห่งความเป็นอรหันต์ จึงหมายถึงผู้ไม่เบียดตน และเบียดเบียนคนอื่น ด้วยการพูด การกระทำ และแม้กระทั่งการคิด ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามไม่ว่าจะอยู่ในเพศและภาวะใด เป็นคฤหัสถ์ เป็นภิกษุสงฆ์ที่อ้างตนเป็นพระอรหันต์ แต่ยังมีพฤติกรรมหลอกลวง ต้มตุ๋นชาวบ้าน รูปแบบและวิธีการต่างๆ เฉกเช่นแม่ชีที่จังหวัดนครพนม และพระภิกษุที่ตัดคอตนเองเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ล้วนแล้วแต่เป็นการอวดอุตริมนุสธรรมทั้งสิ้น จึงอนุมานได้ว่าเป็นอริยบุคคลจอมปลอมทั้งสิ้น
อะไรคือเหตุแห่งการแอบอ้างเป็นอริยบุคคล และเหตุใดทำให้ผู้แอบอ้างทำนองนี้ดำรงอยู่ได้ ทั้งที่ผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมาย?
ก่อนที่จะตอบคำถาม 2 ประเด็นข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านย้อนไปดูคำสอนของพุทธที่ว่าด้วยรูปแบบพฤติกรรมของคนหรือจริต 6 ประการคือ
1. ราคจริต คือ ผู้มีความประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม
2. โทสจริต คือ ผู้ประพฤติหนักไปทางใจร้อนหงุดหงิด
3. โมหจริต คือ ผู้ประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึม งมงาย
4. วิตกจริต คือ ผู้ประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน
5. สัทธาจริต คือ ผู้ประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใส โดยง่าย
6. พุทธิจริต หรือ ญาณจริต คือ ผู้ประพฤติหนักไปทางใช้ความคิดพิจารณา
คนทุกคนจะมีจริตข้อใดข้อหนึ่งโดดเด่นเห็นได้ชัดเช่น คนที่มีโทสจริต เบื่ออะไรที่ตนเองไม่ชอบ ไม่พอใจมากระทบเพียงเล็กน้อย ก็โกรธง่าย และตอบโต้ออกไปทางกายหรือทางวาจาในทันที เนื่องจากขาดสติในการควบคุม เป็นต้น
ยิ่งกว่านี้ บางคนมีจริตหลายประการรวมกันเช่นมีโมหะ และโลภะรวมกัน เป็นต้น คนประเภทนี้ยากต่อการฝึกอบรม และควบคุมจิตใจให้เป็นเฉกเช่นปกติชนได้ เรียกว่าเป็นคนหนาด้วยกิเลสก็ว่าได้
ดังนั้น เมื่อเราได้พบเห็นใครสักคนอ้างตนเป็นอรหันต์ หรือแม้แต่เป็นอริยบุคคลซึ่งต่ำกว่าอรหันต์ เช่น โสดาบัน เป็นต้น แต่คนเหล่านี้ยังไม่สามารถควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมไม่ได้ อีกทั้งยังหลอกลวงผู้อื่น โดยหวังจะได้ประโยชน์จากการหลอกลวง พึงอนุมานได้เป็นอรหันต์จอมปลอม ผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมาย
ดังนั้น คำตอบในประเด็นที่อะไรคือเหตุแห่งการแอบอ้างดังกล่าวก็คือ ความหลง และความโลภนั่นเอง
ส่วนประเด็นว่าเหตุใดผู้ที่แอบอ้างดังกล่าวดำรงอยู่ได้ ทั้งๆ ที่ผิดทั้งศีลธรรม และกฎหมายนั้น ตอบได้ว่าเกิดจากฝ่ายปกครองทั้งในส่วนของศาสนจักร และอาณาจักร อันได้แก่สำนักพุทธฯ และส่วนราชการที่กำลังดูแลสำนักพุทธฯ ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน