ถ้าท่านผู้อ่านย้อนไปดูความเป็นมาของพระพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ และภายหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานแล้วมาจนถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่าพระพุทธศาสนาได้เผชิญกับปัญหาในการปกครองสังฆมณฑลมาตลอด เริ่มตั้งแต่ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เมื่อใดก็ตามที่นักบวชในพุทธศาสนา อันได้แก่ภิกษุ ภิกษุณี และสามเณรกระทำสิ่งที่ไม่ควรแก่สมณสารูป และผู้คนในสังคมติหนิติเตียนก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อผู้พบเห็น เมื่อความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงได้ทรงเรียกประชุมสงฆ์ และสอบถามผู้ที่กระทำ เมื่อผู้นั้นสารภาพว่าได้กระทำเช่นนั้นจริง ก็ทรงติเตียน และทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำเช่นนั้นอีก และหากผู้ใดกระทำก็ลงโทษโดยการปรับอาบัติแก่ผู้ล่วงละเมิด
ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงดับขันธปรินิพพานแล้วจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีการกระทำผิดพระธรรมวินัยเกิดขึ้น ทางฝ่ายศาสนจักรโดยพระเถระผู้ใหญ่ และทางฝ่ายอาณาจักรโดยพระราชาผู้ครองแคว้น ซึ่งเกิดเหตุได้ร่วมกันทำสังคายนา ชำระพระธรรมวินัย และขจัดสิ่งแปลกปลอมออกไป
ตามหลักฐานของพระเถระฝ่ายไทย ผู้รจนาหนังสือเรื่องสังคีติยวงศ์ หรือประวัติศาสตร์การทำสังคายนามี 9 ครั้ง รวมทั้งครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงกระทำในรัชสมัยของพระองค์ โดยการสอบทานแก้ไขพระไตรปิฎก แล้วจารึกลงใบลานเป็นหลักฐาน
การทำสังคายนาทั้ง 9 ครั้งนี้ มีเนื้อหาสาระและขั้นตอนในการดำเนินการโดยย่อดังนี้
ครั้งที่ 1 กระทำกันที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพตใกล้กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน 3 เดือน
มูลเหตุให้เกิดการทำสังคายนาในครั้งนี้คือ พระมหากัสสปะ ปรารภถ้อยคำของภิกษุชื่อสุภัททะ ผู้บวชเมื่อแก่เมื่อรู้ข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ภิกษุทั้งหลายร้องไห้เศร้าโศก ภิกษุชื่อสุภัททะ ห้ามมิให้ภิกษุเหล่านั้นมิให้เสียใจ เพราะว่าต่อไปนี้จะทำอะไรก็ตามใจ แล้วไม่ต้องมีใครมาชี้ว่า นี่ผิด นี่ถูก นี่ควร นี่ไม่ควรต่อไปอีก พระมหากัสสปะสลดใจในถ้อยคำของสุภัททะ จึงได้นำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมสงฆ์ แล้วเสนอให้มีการทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบ
การทำสังคายนาในครั้งนี้ ท่านเจ้าอชาตศัตรู ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ โดยมีพระอรหันต์ประชุมกัน 500 รูป และใช้เวลา 7 เดือนจึงสำเร็จ
ครั้งที่ 2 กระทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย
มูลเหตุแห่งการทำครั้งนี้เกิดจากการที่พระยสกากัณฑกบุตรได้ปรารภข้อปฏิบัติย่อหย่อน 10 ประการ ทางพระวินัยของพวกภิกษุ วัชชีบุตร เช่น การถือว่าการเก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์) เพื่อเอาไว้ฉันได้ ตะวันชายเกินเที่ยงไปแล้ว 2 นิ้ว ควรฉันอาหารได้ ควรรับเงินและทองได้ เป็นต้น พระยสกากัณฑกบุตร จึงได้ชักชวนพระเถระต่างๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัยแก้ความถือผิดในครั้งนี้
การทำสังคายนาในครั้งนี้ มีพระสงฆ์ประชุมกัน 700 รูป แต่ในพระไตรปิฎกมิได้บอกว่าใช้เวลานานเท่าใด มีเพียงอรรถาบอกว่าใช้เวลา 8 เดือนจึงสำเร็จ
ครั้งที่ 3 กระทำกันที่อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย
มูลเหตุแห่งการทำสังคายนาครั้งนี้ก็คือ พวกเดียรถีย์หรือนักบวชศาสนาอื่นปลอมเข้ามาบวชแล้วแสดงลัทธิศาสนา และความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวน กำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นจากพระธรรมวินัยแล้ว จึงทำสังคายนาพระธรรมวินัย
สังคายนาในครั้งนี้มีพระสงฆ์เข้าร่วม 1,000 รูป ใช้เวลา 9 เดือนจึงสำเร็จ
ครั้งที่ 4 กระทำกันในอินเดียภาคเหนือ และเป็นสังคายนาผสมกับฝ่ายมหายาน โดยได้ความอุปถัมภ์จากพระเจ้ากนิษกะ แต่สังคายนา
ทางฝ่ายเถรวาทคือ ฝ่ายที่นับถือพุทธในประเทศไทย ลาว เขมร พม่า และลังกา มิได้รับรองว่าเป็นสังคายนา
ตามนัยแห่งการนับการทำสังคายนาของไทย ตามที่ปรากฏในหนังสือสังคีติยวงศ์ ซึ่งรจนาโดยสมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ เป็นภาษาบาลีในรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่ครั้งเป็นพระพิมลธรรมได้ลำดับความเป็นมาดังนี้
สังคายนาครั้งที่ 1, 2 และ 3 ทำในประเทศอินเดีย ดังกล่าวข้างต้น
ครั้งที่ 4 และ 5 หรือครั้งที่ 1 และ 2 ในลังกา ซึ่งมีความโดยย่อดังนี้
ครั้งที่ 1 ในลังกากระทำในปี 238 หลังจากที่พระมหินทเถระเดินทางไปเผยแพร่พุทธศาสนาในลังกาหลังจากการทำสังคายนาครั้งที่ 3 ในปี 236
การทำสังคายนาในครั้งนี้ ได้อ้างเหตุว่าเพื่อให้พุทธศาสนาตั้งมั่น
ครั้งที่ 2 ในลังกา กระทำเมื่อประมาณ พ.ศ. 433 ในรัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย โดยอ้างเหตุว่า ถ้าจะท่องจำพุทธวจนต่อไป ก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ เพราะปัญญาการท่องจำของกุลบุตรเสื่อมถอยลง จึงตกลงจารึกพุทธวจนะลงในใบลาน
สังคายนาครั้งนี้ กระทำกันที่อาโลกเลณสถาน ณ มตเลชนบท โดยมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน
ครั้งที่ 6 ในลังกาในปี พ.ศ. 956 โดยพระพุทธโฆสะได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถาคือคำอธิบายพระไตรปิฎกจากภาษาลังกาเป็นภาษาบาลีในสมัยของพระเจ้ามหานาม
ครั้งที่ 7 กระทำในลังกาในปี พ.ศ. 1587 โดยมีพระกัสสปะเถระเป็นประธาน มีพระเถระกว่า 1,000 รูปได้รจนาคำอธิบายอรรถกถาเป็นภาษาบาลีเรียกว่า ฎีกา
ครั้งที่ 8 ทำในประเทศไทย ประมาณปี พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูป ให้ช่วยชำระพระไตรปิฎกที่วัดโพธาราม โดยใช้เวลา 1 ปีจึงสำเร็จ
ครั้งที่ 9 ทำในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2331 พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งจักรีวงศ์ ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก โดยมีพระสงฆ์ 218 รูปกับคฤหัสถ์ซึ่งเป็นบัณฑิตาจารย์ 32 คน ช่วยกันชำระพระไตรปิฎกใช้เวลา 5 เดือนจึงสำเร็จ ประชาชนที่มา : พระไตรปิฎกฉบับสำเร็จ รวบรวมและเรียงโดย อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ
ถ้านำกระบวนการจัดทำสังคายนาพระธรรมวินัยทั้ง 9 ครั้งมาพิจารณา ก็จะเห็นได้ว่า ครั้งที่ 1, 2 และ 3 ซึ่งกระทำในอินเดีย มีมูลเหตุมาจากการที่ภิกษุกระทำการอันมิบังควร และล่วงละเมิดพระวินัย แต่จากครั้งที่ 4-9 เป็นการชำระแก้ไขและปรับปรุงพระไตรปิฎก โดยการอธิบายขยายความเพื่อให้พุทธวจนชัดเจน และง่ายต่อการเรียนรู้
ส่วนประเด็นที่ว่า ขณะนี้วงการสงฆ์ไทยควรจะมีการทำสังคายนาหรือยัง ตอบได้ทันทีว่า ถึงเวลาแล้ว ทั้งนี้อนุมานจากพฤติกรรมของภิกษุสามเณรที่ล่วงละเมิดพระวินัยในรูปแบบต่างๆ เช่น ดื่มสุรา เสพยาเสพติด มั่วสีกา เป็นต้น รวมไปถึงการตั้งตนเป็นเจ้าสำนัก บิดเบือนคำสอน อ้างตนเป็นผู้วิเศษ อวดอ้างอิทธิปาฏิหาริย์ เพื่อหวังให้ชาวพุทธเกิดความศรัทธา และได้มาซึ่งลาภสักการะ และล่าสุดมีการตัดคอตัวเอง เพื่อถวายหัวเป็นพุทธบูชา ซึ่งล้วนแล้วแต่ผิดพระธรรมวินัยทั้งสิ้น