xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กตู่ย้ำป่วยโควิดรักษาฟรี วัคซีนวาระชาติ โลกกังวลสายพันธุ์อินเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 -WHO เตือนโควิดสายพันธุ์อินเดียเป็น "ตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวลระดับโลก" ขณะที่ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,919 ราย เดินทางกลับจากอินเดีย 11 ราย เสียชีวิตอีก 31 ราย นายกฯ เชื่อควบคุมสถานการณ์โควิดได้ในไม่ช้า หลังปูพรมตรวจเชิงรุก ตัวเลขผู้ติดเชื้อกทม.เริ่มทรงตัว ประกาศฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ยันจัดหาวัคซีนให้กับทุกคนได้แน่นอน พ.ค.ได้เพิ่มอีก 3.5 ล้านโดส พร้อมดูแลค่ารักษาทุกคนฟรี รพ.เอกชน สปสช. จ่ายส่วนต่าง ห้ามเรียกเก็บจากปชช. ส่วนรพ.สนามบุษราคัมเตรียมเปิดสัปดาห์นี้ ด้าน 3 นพ.ชี้อัตราระบาดเพิ่ม 15 เท่า เชื้อลงปอดเพียบ ผู้ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจ 1 ใน 4 เสียชีวิด วอนปชช. ฉีดวัคซีนสู้ไว้รัส ดึงยอดติดเชื้อต่ำ ก่อนเกิดเชื้อสายพันธุ์ไทย ผู้ประกาศข่าว "ชลรัศมี" ติดเชื้อโควิด

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ว่า เชื้อกลายพันธุ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดในอินเดีย เป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ง่ายกว่า และจัดอยู่ในฐานะ “ตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวล” โดยระบุว่า ตัวกลายพันธุ์ B.1.617 ที่พบครั้งแรกในอินเดียเมื่อ ต.ค. ก่อน จะแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าตัวดั้งเดิม “ข้อมูลที่มีมาบางส่วนบ่งชี้ว่ามีการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นของ B.1.617” มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ นักระบาดวิทยาด้านโรคติดต่อ และผู้นำฝ่ายเทคนิคของโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัย ระบุ

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงจัดให้มันอยู่ในฐานะตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวลของโลก” เธอกล่าว

เธอยังชี้ถึงผลการศึกษาต่าง ๆ นานาในเบื้องต้น “ที่บ่งชี้ว่ามันลดแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์บางส่วน” นั่นหมายความว่า ดูเหมือนแอนติบอดีจะส่งผลน้อยลงกับตัวกลายพันธุ์ ในผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กในห้องปฏิบัติการวิจัย

อย่างไรก็ตาม ทางองค์การอนามัยโลก ยืนยันว่า มันยังเร็วเกินไปที่จะตีความผลการศึกษาดังกล่าวว่าตัวกลายพันธุ์อาจต้านทานการป้องกันจากวัคซีนได้มากกว่า “บนพื้นฐานข้อมูลปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการล้มป่วยและเสียชีวิตในคนที่ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์นี้” ถ้อยแถลงระบุ

ฟาน เคิร์กโฮฟ เผยว่า จะมีการให้รายละเอียดต่าง ๆ ในวันอังคาร (11 พ.ค.)

อินเดีย กำลังประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยในวันจันทร์ (10 พ.ค.) พวกเขารายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันเพิ่มอีกเกือบ 370,000 คน และเสียชีวิตเพิ่มอีกกว่า 3,700 ราย

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอย่างเป็นทางการนั้น น้อยกว่าตัวเลขที่แท้จริงหลายเท่า

ก่อนหน้านี้ เคยมีความกังวลมากพักใหญ่เกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์ B.1.617 ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ มีการกลายพันธุ์และลักษณะจำเพาะต่างกันเล็กน้อย ว่าอาจเป็นตัวส่งเสริมการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางอย่างน่าวิตก

เวลานี้ B.1.617 ถูกเพิ่มเติมเข้าไปในบัญชีตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวลร่วมกับตัวกลายพันธุ์โควิด-19 อื่นๆ อีก 3 ตัว ประกอบด้วยตัวที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร บราซิลและแอฟริกาใต้ ตัวกลายพันธุ์เหล่านี้ถูกมองว่ามีความอันตรายมากกว่าไวรัสตัวดั้งเดิม

อย่างไรก็ตาม แม้หากประสิทธิภาพของวัคซีนอาจลดลงในการรับมือกับตัวกลายพันธุ์บางตัวของโควิด-19 แต่วัคซีนยังคงสามารถปกป้องผู้คนจากการล้มป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

ในเรื่องนี้ ฟาน เคิร์กโฮฟ เน้นย้ำว่า จนถึงตอนนี้ในส่วนของตัวกลายพันธุ์ B.1.617 “เรายังไม่พบข้อบ่งชี้ใด ๆ ที่บ่งชี้ว่าการวินิจฉัยโรคของเรา หรือการรักษา และวัคซีนของเรานั้นไม่ได้ผล”

พบผู้ป่วยใหม่ 1,919 ราย-เสียชีวิต 31

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 1,919 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 86,924 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 1,829 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 29,435 ราย รักษาหาย 57,037 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก (ปอดอักเสบ) 1,207 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 390 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต 31ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 452 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่มีผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 17 ราย พบเป็นคนไทยที่เดินทางมาจากอินเดีย 11 ราย เดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดย 5 ราย ตรวจพบเชื้อทันที่ที่ถึงด่านคัดกรองสนามบิน ส่วนอีก 6 คน ตรวจพบขณะกักตัวในสถานกักกัน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในความดูแลของแพทย์และอยู่ในมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด

"บิ๊กตู่"เชื่อควบคุมโควิดได้ในไม่ช้า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมครม. ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากห้อง PMOCชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ไปยังกระทรวงต่างๆ โดยหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ แถลงว่า ในเรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่คลองเตย ได้สั่งการ เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานได้ระดมสรรพกำลังเข้าป้องกันการลุกลามอย่างเต็มที่ นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีการตรวจไปแล้วกว่า 70,000 ราย ในชุมชนที่มีความเสี่ยง เฉลี่ย 7,000 รายต่อวัน เราสามารถระบุตัวผู้ติดเชื้อ และคัดแยกผู้ติดเชื้อไปรักษาได้อย่างทันการณ์ รวมทั้งแยกผู้มีความเสี่ยงจากการอยู่ใกล้ชิดไปกักตัว

ดังนั้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจจะเห็นยอดผู้ติดเชื้อต่อวันเพิ่มขึ้น แต่ทางทีมแพทย์เชื่อมั่นว่าด้วยวิธีนี้ จะทำให้เราควบคุมสถานการณ์ได้ในไม่ช้า ซึ่งล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ เริ่มทรงตัว

ถึงวันนี้ได้มีการฉีดวัคซีนในพื้นที่คลองเตยไปแล้วมากกว่า 13,000 คน หรือเกือบ 30% ของเป้าหมายที่จะฉีดให้ได้อย่างน้อย 50,000 คน และพื้นที่ปทุมวัน ได้ฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 50% ของเป้าหมาย 14,000 คน โดยเฉลี่ยแล้วทั้งสองเขต ฉีดได้มากกว่าวันละ 2,000 คน โดยผลการดำเนินการจากคลัสเตอร์คลองเตย จะใช้เป็นแนวทางในการจัดการกับการแพร่ระบาดในพื้นที่เขตอื่นๆ

ฉีดวัคซีนวาระแห่งชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าได้เสนอให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ผมขอยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้าทุกชนิด มีการตรวจสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยโดยได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว และปัจจุบันมีใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างยืนยันว่า วัคซีนโควิดทุกชนิด สามารถป้องกันการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ และป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 100% ส่วนโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงนั้น มีน้อยมาก ฉีดดีกว่าไม่ฉีด ซึ่งผมเอง รวมทั้งคณะรัฐมนตรี ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ต่างก็มีผู้ฉีดวัคซีนโควิดกันไปแล้วโดยไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ในขณะนี้

ล่าสุดจากการเปิดลงทะเบียนยืนยันและนัดหมายการฉีดวัคซีน ผ่านระบบหมอพร้อมและช่องทางต่างๆ สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง มีผู้ลงทะเบียนแล้ว กว่า 1.6 ล้านคน สูงสุด คือ กทม. มากกว่า 5 แสนคน ตามมาด้วยลำปาง ซึ่งมียอด มากกว่า 2 แสนคน

ย้ำโควิดรักษาฟรีทั้งรพ.รัฐ-เอกชน

สำหรับผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิดนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า รัฐบาลจะดูแลค่ารักษาพยาบาล ออกค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทุกคนตามสิทธิตั้งแต่การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การรับวัคซีน การชดเชยกรณีได้รับผลข้างเคียงการฉีดวัคซีน และการรักษาพยาบาล ส่วนในกรณีของรพ.เอกชน รัฐจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายไปที่ รพ.เอกชน เพิ่มร้อยละ 25 ทุกรายการ หากมีประกันส่วนบุคคล ให้ รพ.เรียกเก็บประกันส่วนบุคคลก่อน ที่เหลือให้เรียกเก็บกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยห้ามรพ.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย

กรณีที่เกิดความเสียหายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บ เจ็บป่วยต่อเนื่อง เสียอวัยวะ พิการ ทุพพลภาพถาวร หรือเสียชีวิต สามารถยื่นขอรับเงินเยียวยาได้จาก สปสช. และยังมีค่าประกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยวันนี้ตนได้พบกับนายกสมาคมประกันภัย และได้มีการทำกรมธรรม์ประกันภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ จำนวน 270,000 ราย วงเงินความคุ้มครองมากกว่า 270,000 ล้านบาท

รพ.บุษราคัมเตรียมเปิดสัปดาห์นี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการจัดตั้ง รพ.บุษราคัม ที่อาคารอิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี มีการจัดเตรียมพื้นที่ในโซนแรก สำหรับผู้ติดเชื้อ ในอาคารชาเลนเจอร์ 3 ได้ประมาณ 1,092 เตียง โดยจัดแบ่งเป็น 4 โซน ดังนี้ โซน A 270เตียง B242เตียง C จำนวน 290 เตียง และ D290 เตียง ดูแลผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว สีเหลือง ขณะนี้ได้วางเตียง เครื่องนอน พร้อมติดตั้งท่อช่วยหายใจไว้บริเวณหัวเตียงสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อสีเหลืองที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้ก่อสร้างห้องอาบน้ำ สำหรับผู้ติดเชื้อ 364 ห้อง แยกโซนหญิง-ชาย

ศบค.ถกประเมินสถานการณ์

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) และประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่ามีแนวโน้มการแพร่ระบาดยังไม่ลดลง ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี ยังถือเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น หรือพื้นที่แดงเข้ม และแนวโน้มพบผู้ป่วยอาการหนัก คือ ปอดอักเสบ และผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในชุมชนแออัด โรงงาน สถานประกอบการ และตลาด โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อคือการทำกิจกรรมรวมกลุ่มกัน ทั้งในสถานประกอบการ ในที่ทำงาน และในครอบครัว

3 นพ.ชี้อัตราการระบาดเพิ่มขึ้น 15 เท่า

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนาเรื่อง “ผ่าวัคซีนโควิด -19 กับ 3สถาบันการแพทย์” โดยเปิดเผยว่า ขณะนี้อยากให้ประชาชนเข้าใจในสถานการณ์ของโควิด และหันมาฉีดวัคซีนโควิด เพื่อป้องกัน ลดความรุนแรงของโรค เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ป่วยเฉลี่ย 1,000 คนต่อวัน และจำนวนผู้ป่วยหนักก็เพิ่มมากขึ้น หากไม่แก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางด้วยการลดจำนวนผู้ป่วย จะหวังให้แก้ปัญหาผู้ป่วยแบบปลายทางด้วยการรักษาอย่างเดียวคงไม่ได้

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ป่วยโควิด ใน 3 สถาบัน พบเฉลี่ยที่ละ 150-200 คน แต่ภาพรวมประเทศพบ ผู้ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจ 400 คน และร้อยละ 25 มีแนวโน้มรุนแรง ในจำนวน 1 ใน 4 มีโอกาสเสียชีวิต หากให้วิเคราะห์สถานการณ์การเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยส่วนหนึ่งมาจากการ์ดตก คนหนุ่มสาวไม่ได้ป้องกันตนเอง ยังคงมีการสังสรรค์ และพบภาวะโรคอ้วน หรือมี BMI30 เสี่ยงป่วยรุนแรงและชีวิต และพบการติดเชื้อในครอบครัว พร้อมย้ำทุกคนต้องช่วยกันด้วยการฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้จำนวนผู้ป่วยล้นรพ.

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวยอมรับว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิดในการระบาดรอบนี้จากโควิดสายพันธุ์อังกฤษ รุนแรงมากขึ้น อัตราการติดเชื้อป่วยเพิ่มขึ้น 15 เท่า ที่ รพ.รามาจักรีนฤบดินทร์ มีการรับผู้ป่วย 140 คน เป็นผู้ป่วย 32 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 4 คน และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเสียชีวิตทุกวัน และจากจำนวนผู้ป่วยหนัก 400 คน ในจำนวน 80-100 คน มีโอกาสเสียชีวิต จากเดิมอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ ร้อยละ 0.2-0.3 และปัจจุบันอยู่ที่ ร้อยละ 0.6-1 ขณะนี้พบการระบาดใน กทม.มากที่สุด การควบคุมโรคยังทำได้ช้า ดังนั้นต้องเร่งคัดกรองให้เร็ว แยกผู้ป่วยและ นำเข้ารักษาให้เร็วที่สุด หากประเมินตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อใน 4-5 วันที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อไม่พุ่งขึ้น เป็นผลพวงมาจากมาตรการใน 10-14 วัน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจะยังเพิ่มขึ้นอยู่ดี เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่มาก

ส่วน ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางรพ.จุฬาลงกรณ์ รับรักษาผู้ป่วยไปแล้ว 1000 คน และอยู่ในฮอสพิเทล 200 คน จากการรักษาพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อลงปอดเร็วมากขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มเตียงผู้ป่วยในห้องไอซียูมากขึ้น หากช่วยกันป้องกันไม่เพิ่มจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ต้นทาง และช่วยกันฉีดวัคซีนก็จะเป็นการติดอาวุธ ป้องกันตัวเอง คนในครอบครัว ทำให้อัตราการป่วยและติดเชื้อค่อยๆ ลดลง

"ชลรัศมี" ผู้ประกาศข่าว-พิธีกรติดโควิด

รายงานข่าวแจ้งว่า น.ส.ชลรัศมี งาทวีสุข หรือ ทิพย์ ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรรายการ เปิดเผยข้อมูลไทม์ไลน์ หลังพบเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 บนเฟซบุ๊กบัญชี "ชลรัศมี งาทวีสุข" ระบุข้อความว่า ตอนนี้ทิพย์เป็นผู้ป่วยโควิด19 เนื่องจากได้รับเชื้อจากคุณแม่ ซึ่งท่านเป็นผู้ป่วยฟอกไตที่โรงพยาบาล ทางคุณหมอแจ้งว่าท่านน่าจะได้รับเชื้อมาจากในห้องฟอกไต ทิพย์จึงขอเรียนชี้แจง timeline ของทิพย์ที่ได้พบกับคุณแม่ในช่วงที่ผ่านมาคือ วันที่ 1,2 และ 6 พ.ค. 2564 ค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น