xs
xsm
sm
md
lg

ผุด#NoCPTPPอีกรอบ รบ.แจงแค่ขยายเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

FTA Watch เผยแพร่เอกสารที่อ้างว่า รัฐบาลประชุมลับและลงนามร่วมข้อตกลง CPTPP ทำให้ #NoCPTPP กลับมาขึ้นเทรนด์อีกครั้ง “ไทยสร้างไทย” ร่วมค้าน รองโฆษก รบ.ยันว่า ไม่มีการประชุมลับ ไม่มีลงมติ เป็นการขอขยายระยะเวลาศึกษาอีก 50 วัน

จากกรณีที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก FTA Watch เผยแพร่เอกสารที่ระบุว่าเป็นวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 โดยระบุว่าเป็นวาระลับ ที่เกี่ยวข้องกับการลงนามเข้าร่วมสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) นั้น

วานนี้ (6 พ.ค.) ได้มีการแชร์โพสต์ของ FTA Watch ในสังคมออนไลน์ และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ได้มีการติดแฮชแท็ก #NoCPTPP ที่เคยใช้คัดค้านการเข้าร่วม CPTPP มาก่อนอีกครั้ง จนได้รับความนิยมในอันดับต้นๆของเทรนด์ประจำวัน รวมทั้งมีกเชิญชวนลงชื่อคัดค้าน และมีการรณรงค์ให้ร่วมกันลงชื่อในแคมเปญ #NoCPTPP บนเว็บไซต์ change.org เพื่อร้องเรียนไปยังรัฐบาล โดยมีผู้ลงชื่อหลายหมื่นราย

ด้าน พรรคไทยสร้างไทย ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นแกนนำ ได้ออกแถลงการณ์เรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP โดยระบุว่า ความพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP มิได้มีการประเมินภาวการณ์ของโลกในบริบทต่างๆ อย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการลงทุนหรือห่วงโซ่อุปทานที่จะเปลี่ยนแปลงไปภายหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งการเข้าร่วม CPTPP มีผลกระทบต่อภาคการเกษตรและด้านการสาธารณสุขของไทย อย่างมาก ทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งๆ ที่การเข้าร่วม CPTPP ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายกลุ่มในประเทศไทย

“พรรคไทยสร้างไทยขอเรียกร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรให้คัดค้านการเจรจาเข้าร่วม CPTPP โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาด อีกทั้งรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมีการดำเนินการใดๆ ก็ตามที่มีผลผูกพันต่อประเทศไทยในระยะยาวในขณะนี้” แถลงการณ์พรรคไทยสร้างไทย ระบุ

วันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี จะได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ชี้แจงว่า "ไม่มีการประชุมลับ และไม่มีการลงมติ เรื่องที่เข้ามาคือ ขอขยายระยะเวลาศึกษาเพิ่มอีก 50 วันเพื่อความรอบคอบ"

ก่อนที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเปิดเผยว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ขอขยายระยะเวลาในการศึกษาการเข้าร่วมการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ได้ส่งข้อเสนอมายังรัฐบาลออกไปอีก 50 วันจากเดิมที่สิ้นสุดกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้การขยายระยะเวลาในการศึกษาเนื่องจากคณะทำงาน 8 คณะที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับกรณีเข้าร่วม CPTPP ยังต้องการระยะเวลาในการศึกษารายละเอียดต่างๆให้ครอบคลุมรอบด้านในทุกประเด็นก่อนที่จะเสนอข้อมูลให้ครม.และนายกรัฐมนตรีรับทราบ

“ขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจหรือมอบหมายอำนาจให้นายกฯไปเจรจาในเรื่องCPTPPแต่อย่างไร แต่หากข้อเสนอมีทิศทางให้ไปเจรจา ก็ต้องมีการกำหนดท่าที และข้อสงวนในการเจรจาที่จะเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย เกษตรกรไทย ซึ่งรัฐบาลจะต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้โดยรอบครอบและคำนึงถึงเรืองนี้มากที่สุด” น.ส.รัชดา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น