การให้เอกชนตั้งโรงไฟฟ้า เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นมากว่า 3 ทศวรรษแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมีในยุค คสช.คือ ตั้งแต่ปี 2532
ประเทศไทยตอนนั้น เปลี่ยนผ่านจากการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบยุค “อำมาตยาธิปไตย” ที่มีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 8 ปี มาสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี
ในทางเศรษฐกิจกำลังจะเป็นเสือตัวที่ 5 เปลี่ยนโครงสร้างจากเศรษฐกิจการเกษตร มาเป็นอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า และอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก หลังการสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในอ่าวไทย ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม
การให้เอกชนผลิตไฟฟ้า ไม่ใช่การแย่งชิงหรือแข่งขันกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แต่เป็นการแบ่งเบาภาระของ กฟผ.ในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งแต่ละโรงใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้าน และใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี ไม่ทันกับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การคัดเลือกเอกชนมาผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ.ใช้ระบบประมูลที่มีการแข่งขัน ผู้ชนะคือ ผู้ที่เสนอราคาขายไฟต่ำที่สุด ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่า ใครเสนอราคาเท่าไร
ประเทศไทยมีระบบไฟฟ้าที่ดี ได้มาตรฐานโลก ก็เพราะนโยบายให้เอกชนผลิตไฟฟ้านี่แหละ ลองจินตนาการดูว่า หาก กฟผ.เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียวในประเทศไทย เราจะมีไฟฟ้าใช้เพียงพอ ในราคาที่ไม่แพงอย่างทุกวันนี้หรือไม่
ปัจจุบัน ค่าไฟฟ้าที่คนไทยต้องจ่าย ไม่ได้แพงกว่าสิงคโปร์ และไม่ได้แพงที่สุดในอาเซียน
ค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ในอัตราหน่วยละ 3.80 บาท ถูกกว่าสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ที่หน่วยละประมาณ 5.50 บาท แต่สูงกว่าเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ค่าไฟฟ้าจะสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับต้นทุนเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผลิตไฟฟ้าได้ในราคาถูกที่สุด รองลงมาคือ ถ่านหิน พลังน้ำจากเขื่อน ก๊าซธรรมชาติ แพงที่สุดคือ พลังงานหมุนเวียน
ไฟฟ้าในประเทศไทย ผลิตจากก๊าซธรรมชาติมากที่สุด อินโดนีเซียใช้ถ่านหินมาก เพราะมีอยู่แล้วในประเทศ เวียดนามใช้พลังน้ำถ่านหิน มาเลเซียใช้ถ่านหินมากพอๆ กับก๊าซธรรมชาติ
สิงคโปร์ถึงแม้จะใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนสูงมาก และฟิลิปปินส์ใช้ถ่านหิน แต่สองประเทศนี้มีค่าไฟแพงกว่าประเทศไทย เพราะใช้ระบบจำหน่ายไฟฟ้าแบบตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าหรือ Power Pool ต้นทุนโรงงานไฟฟ้าและค่าความเสี่ยงจากการลงทุน ถูกคิดรวมอยู่ในค่าไฟฟ้า แทนการคิดค่าพร้อมจ่ายแบบบ้านเรา
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประมาณ 17% ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนสูง เพราะรัฐต้องให้เงินอุดหนุน เพื่อจูงใจให้เอกชนมาลงทุน
ข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ระบุว่า ภาระการอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2563 มีมูลค่ารวม 53,168 ล้านบาท คิดเป็นภาระที่ประชาชนต้องร่วมจ่าย ที่บวกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าประมาณ 31.22 สตางค์ต่อหน่วย
ประเทศไทยมีนโยบายให้เงินอุดหนุนรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนมากว่า 10 ปีแล้ว ในรูปของ Adder หรือเงินส่วนเพิ่มสูงถึงหน่วยละ 8 บาท และ FIT หรือการรับซื้อในอัตราที่คิดตามต้นทุนผลิตที่แท้จริง
เป้าหมายคือ เป็นแรงจูงใจให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีต้นทุนสูงกว่าไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน หากไม่มีการอุดหนุนราคาแล้ว จะไม่มีการลงทุนเกิดขึ้น
เรื่องค่าไฟ และโรงไฟฟ้าเอกชน ถูกโยงให้เป็นประเด็นทางการเมืองอยู่เสมอ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เพราะค่าไฟเป็นส่วนหนึ่งของค่าครองชีพ โดยนำเสนอข้อมูลด้านเดียวให้เข้าใจผิดว่า ค่าไฟฟ้าของไทยแพง เพราะรัฐให้เอกชนผลิตไฟฟ้า แต่ในความเป็นจริง ค่าไฟฟ้าของไทยที่สูงกว่าบางประเทศ เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูงกว่า และนโยบายการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียน ส่วนการให้เอกชนผลิตไฟฟ้า เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และถึงวันนี้ พิสูจน์แล้วว่า เป็นนโยบายที่ดี เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของชาติ