เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องลองไปสำรวจตรวจสอบ ระดับความสัมพันธ์ระหว่างคุณพี่จีนกับคุณพ่ออเมริกากันอีกสักรอบ เพราะหลังจากที่ “วิ่ง-สู้-ฟัด” กันมาตลอด 4 ปี ในยุค “ทรัมป์บ้า” จากสงครามการค้ากลายมาเป็นสงครามทางเทคโนโลยี และทำท่าว่าจะเป็น “สงครามเย็นยุคใหม่” อย่างค่อนข้างชัดเจน แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนฉาก เปลี่ยนผ้าม่านกั้ง มาเป็นยุค “ผู้เฒ่าโจ” หรือ “โจเมืองจีน” (China Joe) ดังที่พวกสนับสนุนประธานาธิบดีอเมริกันคนก่อนได้ตั้งชื่อ ฉายา เอาไว้ก่อนล่วงหน้า บรรดาความเข้มขมึง ตึงเครียด มันจะมีโอกาสคลี่คลาย ผ่อนคลาย ไปในแนวไหน หรือไม่และอย่างไร บรรดาประเทศเล็กประเทศน้อยอย่างไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาทั้งหลาย คงหนีไม่พ้นต้อง “เจาะ-เกาะ-ติด” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้...
คือถ้าใครได้มีโอกาสอ่านข้อเขียน ความคิด ความเห็น ของอดีตทูตอินตะระเดีย ที่กลายมาเป็นคอลัมนิสต์ชื่อดัง อย่างท่าน “เอ็ม เค ภัทรกุมาร” (MK Bhadrakumar) ที่เว็บไซต์ “ผู้จัดการ” ของหมู่เฮา ได้นำมาแปล มาถ่ายทอด ไปเมื่อวันสองวันนี้ (18 ก.พ.) ก็น่าจะพอมองโลกออกไปทางสวยขึ้นๆ ได้มั่ง เพราะการหยิบยกเอาเรื่องที่ผู้นำรายใหม่ของอเมริกา ยกหูโทรศัพท์ไปเจ๊าะๆ แจ๊ะๆ กับผู้นำจีนนานร่วม 2 ชั่วโมงนั้น ในสายตาของอดีตทูตอินเดียรายนี้ ท่านเห็นว่า...อย่างน้อยน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี หรือไม่ได้ออกไปทางกระโชกโฮกฮากเหมือนกับยุค “ทรัมป์บ้า” ที่เล่นเอาบรรดาประเทศเล็กประเทศน้อย ต้องปวดหัว ปวดประสาทตามไปด้วย อย่างช่วยไม่ได้ ท่ามกลางบรรยากาศ “ช้างชนช้าง” ที่บรรดา “หญ้าแพรก” ทั้งหลายนั่นแหละ หนีไม่พ้นต้องแหลกราญ อย่างมิพึงสงสัย...
แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้...ไม่ว่า “ผู้เฒ่าโจ” และทีมงาน ท่านจะคิดเห็นไปในแบบไหนและอย่างไร ดูเหมือนว่าการ “ยุทธศาสตร์ยุคสงครามเย็น” ต่อต้าน แข่งขัน หรือการคิดจะ “ปิดล้อมจีน” แบบเก่าๆ เดิมๆ หรือแบบเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่แล้ว มันคงจะ “เป็ง-ปาย-ม่าย-ล่าย” ยิ่งเข้าไปทุกที เพราะโดย “ขนาด” “อำนาจ” และ “อิทธิพล” ของคุณพี่จีนในทุกวันนี้ คงต้องยอมรับอย่างมิอาจปฏิเสธได้ว่า นับวันชักจะโตกับโต หนักซะยิ่งกว่า “โตโยต้า” ยิ่งเข้าไปทุกที ไม่เพียงแต่คาดกันว่าจะมีขนาดเศรษฐกิจแซงหน้ามหาอำนาจอันดับหนึ่งอย่างคุณพ่ออเมริกา ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่ปริมาณเงินลงทุนโดยตรง (FDI) แซงหน้าคุณพ่ออเมริกาไปเรียบร้อยแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา จาก “ข่าวล่า-มาเรือ” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ยังชี้ให้เห็นเป็นที่ชัดเจน ว่าปริมาณการค้าหรือการ “ส่งออก-นำเข้า” ระหว่างจีนกับพันธมิตรที่ร่วมเคียงบ่า-เคียงไหล่กับคุณพ่ออเมริกามาโดยตลอด คือกับ 27 ประเทศอียูมาถึง ณ ขณะนี้ หรือเมื่อปีที่แล้ว ตามตัวเลขสถิติของหน่วยงาน “Eurostat” (European Union’s statistics office) ของยุโรปเอง ก็ได้สรุปเอาไว้ชัดเจน ว่าได้มาแรง แซงโค้ง เลยหน้าคุณพ่ออเมริกาไปอีกเป็นที่เรียบโร้ยย์ย์ย์โรงเรียนจีนอีกเช่นกัน...
คือขณะที่การ “นำเข้า” สินค้าจีนไปยังอียูเพิ่มขึ้นไปถึง 383,500 ล้านยูโร หรือ 465,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.6 เปอร์เซ็นต์ การ “ส่งออก” สินค้าอียูไปยังจีน ก็เพิ่มขึ้นไปถึง 202,500 ล้านยูโร หรือ 245,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.2 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยเหตุเพราะ “เชื้อโควิด” หรือ “เชื้อบ้า” ของผู้นำคนก่อน อย่าง “ทรัมป์บ้า” ก็แล้วแต่ สินค้าเข้า-สินค้าออกระหว่างอเมริกาและอียูกลับลดฮวบๆ ฮาบๆ ลงไปถึง 13 เปอร์เซ็นต์และ 8 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ อันส่งผลให้โอกาสที่จะต่อต้าน แข่งขัน และแย่งยื้อกับคุณพี่จีนอย่างเป็นระบบและเป็นการกระบวนการ ย่อมเป็นอะไรที่ยากลำบากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น เพราะเรื่องของการค้าๆ-ขายๆ เรื่องปาก เรื่องท้อง ยังไงๆ ย่อมน่าจะสำคัญซะยิ่งกว่าเรื่องประชาธิปตง ประชาธิปไตย ที่ “เท่...แต่อาจไม่มีจะแ-ก” อยู่แล้วแน่ๆ...
เช่นเดียวกับในภูมิภาคเอเชีย หรือแถวๆ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับใครก็ตามที่มีโอกาสได้อ่านข้อเขียน บทความของ “นายWilliam Pesek” เรื่อง “Why Japan Inc can’t and won’t quit China” ที่เว็บไซต์ “ผู้จัดการ” ของหมู่เฮานำมาแปลและถ่ายทอดเอาไว้เมื่อช่วงวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็คงพอได้ถึง “บางอ้อ” กันมั่งแล้ว ว่าเหตุใดที่แม้ว่าผู้นำอเมริกาคนเก่าอย่าง “ทรัมป์บ้า” และผู้นำญี่ปุ่นคนเก่าอย่าง “นายชินโสะ อาเบะ” จะพยายามออกแรงทั้งเคี่ยว ทั้งเข็ญ ให้บรรดา “นักลงทุนญี่ปุ่น” ถอนตัว ถอนยวง ออกมาจากการลงทุนในเมืองจีน ตามแนวทาง “หวนกลับคืนสู่ชายฝั่ง” (Re-Shoring) กันถึงขั้นไหน แต่เหตุใดมีนักลงทุนซามูไรเพียงแค่ 7.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ที่คิดจะเดินตามหมาก ตามเกม ในการยื้อแย่ง แข่งขัน และปิดล้อมประเทศจีนกันแบบจริงๆ จังๆ หรือแบบที่อดีตผู้นำทั้งสองเพียรพยายามเสนอโน่น เสนอนี่ กันมาโดยตลอด...
หรือโดยเหตุผลง่ายๆ...ก็เพราะด้วย “แรงดึงดูด” หรือ “แรงจูงใจ” อันเนื่องมาจากเรื่องปาก เรื่องท้อง หรือด้วยเหตุเพราะ “ขนาด” ตลาดเศรษฐกิจในจีนที่ใหญ่โตมโหฬาร ซะเหลือเกินนั่นเอง ที่ทำให้บรรดานักลงทุนชาวญี่ปุ่นทั้งหลาย ยังคงอิดๆ ออดๆ ไม่ยอมทิ้งฐานการลงทุน ทิ้งห่วงโซ่อุปทานกลับมายังบ้านเกิด หรือแม้แต่ย้ายฐานไปยังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามแผน 2 หรือแผนสำรอง ที่ผู้นำรายเก่าและรายใหม่ อย่าง “นายโยชิฮิเดะ ซูงะ” หวังให้เป็นไปตามนั้น หรือแม้กระทั่งพยายามสร้างความ “ตึงเครียด” ให้เกิดขึ้นภายในภูมิภาคดังกล่าว เช่น การหยิบเอาเรื่องบรรดา “ข้อพิพาท” ต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ไปจนถึงเรื่องไต้หวันมาเป็นเชื้อ เป็นชนวน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการต่อต้านและปิดล้อมประเทศจีนเอาไว้ให้จงได้ แต่สำหรับใครก็ตามที่เคยได้ฟังการป่าวประกาศของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ “นายโรดริโก ดูเตอร์เต” (Rodrigo Duterte) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (12 ก.พ.) ขณะที่เดินทางไปเยือนฐานทัพอากาศคลาร์ก (Clark Air Base) ที่ถูกยกเลิกสัญญาข้อตกลงกับอเมริกา ไม่ให้ใช้ฐานทัพแห่งนี้ปฏิบัติการต่อต้าน หรือปิดล้อมจีนและใครต่อใครอีกต่อไปแล้ว ก็คงพอได้รับรู้ถึงอารมณ์-ความรู้สึกของผู้นำฟิลิปปินส์รายนี้ ซึ่งคงไม่ต่างไปจากบรรดาผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากมายสักเท่าไหร่...
โดยเฉพาะถ้อยคำที่ว่า... “ผมต้องการบอกให้รับรู้กันโดยทั่วไป รวมทั้งถ้ามีสายลับอเมริกันอยู่ในที่นี้ด้วย ว่าถ้าหากคุณต้องการข้อตกลง VEA (Visiting Forces Agreement) คุณก็ต้อง...จ่าย!!! นี่คือการร่วมกันในความรับผิดชอบ เพราะไม่มีอะไรที่จะได้มาฟรีๆ อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากถ้าหากสงครามเริ่มขึ้นมาเมื่อไหร่ เราทั้งหมดต่างต้องมีค่าใช้จ่ายด้วยกันทั้งสิ้น” คือจะให้ไปต้านจีน ปิดล้อมจีน แล้วได้แค่ “กล่อง” หรือได้ “เหรียญตรา” สรรเสริญและยกย่อง แบบประเทศพันธมิตร “อินโด-แปซิฟิก” หรือประเทศ “QUAD” อย่างญี่ปุ่นและอินเดีย แม้จะเป็นอะไรที่ “เท่” แต่ก็อาจ “ไม่มีจะแ-ก” อีกนั่นแหละ หรือเหมือนอย่างที่ผู้นำสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี “ลี เซียนลุง” ท่านให้สัมภาษณ์เอาไว้ก่อนหน้านั้นนั่นแหละว่า ความพยายามควานหาพันธมิตรเพื่อเอาไว้ต่อต้านและปิดล้อม ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มันน่าจะเป็นอะไรที่หายาก หาเย็น พอๆ กับหาหนวดเต่า เขากระต่าย อะไรประมาณนั้น...
ด้วยเหตุนี้นี่เอง...ที่อาจสรุปเอาไว้ได้ ณ ที่นี้ ว่าไม่ว่า “ผู้เฒ่าโจ” หรือ “ทีมงาน” ต่างประเทศอเมริกายุคใหม่ จะคิดเห็นเป็นประการใดก็แล้วแต่ แต่ด้วยเหตุที่ “โลกทั้งโลก” มันได้เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว ไม่ใช่โลกแบบยุคสงครามเย็นเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว และไม่ใช่โลกที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง สามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ไม่ใช่ “โลกที่มีอำนาจขั้วเดียว” อีกต่อไปโดยเด็ดขาด แต่ได้กลายเป็น “โลกที่ประกอบไปด้วยหลายขั้วอำนาจ” อย่างเห็นได้โดยชัดเจน การหาทาง “อยู่ร่วมกันโดยสันติ” กับบรรดาขั้วอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจีน-รัสเซีย-หรืออิหร่าน ฯลฯ จึงกลายเป็น “ข้อเท็จจริงอันมิอาจปฏิเสธได้” หรือมิอาจหลีกเลี่ยงไปเป็นอื่นได้เลย...