xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมพวก ‘บริษัทญี่ปุ่น’ จึงไม่ยอมถอนยวงออกจาก ‘จีน’ ไม่ว่า ‘ทรัมป์’ หรือ ‘อาเบะ’ ลงแรงใช้ความพยายามขนาดไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วิลเลียม เพเซค *-*



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Why Japan Inc can’t and won’t quit China
by William Pesek
12/02/2021

พวกบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นส่วนใหญ่แล้วพากันหลบเลี่ยงไม่ยอมถอนโรงงานการผลิตต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในจีนของพวกตนและกลับมาตั้งในแดนอาทิตย์อุทัย ถึงแม้รัฐบาลตั้งแต่ยุคนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่ถูกกดดันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้เสนอแผนการ “หวนกลับคืนสู่ชายฝั่ง” (re-shoring) โดยเสนอแรงจูงใจอันงดงาม ทั้งนี้เหตุผลประการสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ขนาดอันใหญ่โตมหึมาของเศรษฐกิจแดนมังกร บังคับให้พวกบริษัทแดนอาทิตย์อุทัยไม่สามารถทอดทิ้งตลาดที่น่าตื่นตาตื่นใจเช่นนี้ได้

โตเกียว - พร้อมๆ กับที่หมอกหนาทึบของสงครามเศรษฐกิจสลายจางคลายไป วิธีการต่างๆ ซึ่งจีนนำมาใช้เพื่อหลบหลีกทำเนียบขาวของโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยความรวดเร็วคล่องตัวกว่า ก็กำลังเป็นที่ชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน ไม่มีที่ไหนแล้วที่จะมองเห็นภาพดังกล่าวนี้แจ่มแจ้งยิ่งไปกว่าในญี่ปุ่น ประเทศที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นั้นได้ลงแรงไปมากทีเดียวเพื่อพยายามดึงลากเอาออกมาให้พ้นจากวงโคจรทางการพาณิชย์ของจีน

นโยบาย “หวนกลับคืนสู่ชายฝั่ง” (re-shoring) เพื่อดึงดูด เจแปนอิงค์ ให้กลับบ้าน

ถึงแม้ข้อเรียกร้องเชิงบังคับของทรัมป์ที่ให้หย่าร้างแยกขาดออกจากจีน อยู่ในลักษณะค่อนข้างถือเอาอเมริกาเป็นศูนย์กลางก็จริง แต่เขาก็ได้โน้มน้าวชักจูงโตเกียวตั้งแต่ต้นๆ และบ่อยๆ ให้เข้าร่วมในสงครามนี้ด้วย และ ชินโซ อาเบะ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแดนอาทิตย์อุทัยตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปี 2020 ซึ่งเป็นนักชาตินิยมญี่ปุ่นในแบบแผนเก่าๆ เดิมๆ ก็รู้สึกแฮปปี้ที่จะยึดมั่นปฏิบัติตาม

อาเบะเดินหน้าดำเนินแผนการ “หวนกลับคืนสู่ชายฝั่ง” (re-shoring) ที่แสนทะเยอทะยาน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://na01.safelinks.protection.outlook.com/?url=https%3A%2F%2Fwww.reuters.com%2Farticle%2Fus-health-coronavirus-japan-production-a-idUSKBN23F2ZO&data=04%7C01%7C%7Cad081f889c484dd3413008d8cea5ae63%7C84df9e7fe9f640afb435aaaaaaaaaaaa%7C1%7C0%7C637486558272306868%7CUnknown%7CTWFpbGZsb3d8eyJWIjoiMC4wLjAwMDAiLCJQIjoiV2luMzIiLCJBTiI6Ik1haWwiLCJXVCI6Mn0%3D%7C1000&sdata=mZyPOE9WxGmMwo%2FbymLX8FIxC3BGhx0G8jEkKbirqkA%3D&reserved=0) และในช่วง 6 เดือนสุดท้ายแห่งสมัยการเป็นนายกรัฐมนตรีของเขา ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เขาก็ยิ่งทุ่มเทมุ่งหวังจะอาศัยประโยชน์จากการที่สายโซ่อุปทานต่างๆ เกิดการสะดุดติดขัดสืบเนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เขากระทั่งเพิ่มแรงจูงใจในแผนการของเขาให้หอมหวลขึ้นไปอีก ด้วยการเสนอมาตรการอุดหนุนชดเชยต่างๆ แก่พวกบริษัทที่ตัดสินใจถอนยวงออกจากจีนและนำเอาตำแหน่งงานกลับมายังญี่ปุ่น

ทว่า แผนการนี้ยังคงคืบหน้าไปได้ไม่เท่าไรอยู่นั่นเอง ถ้าหากผลการสำรวจเมื่อเดือนกันยายน 2020 โดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization หรือ JETRO เจโทร) จะสามารถใช้เป็นตัวชี้นำแสดงแนวโน้มได้ ทั้งนี้ เจโทรค้นพบว่า พวกบริษัทญี่ปุ่นซึ่งกำลังดำเนินงานอยู่ในจีน มีเพียงแค่ 7.2% เท่านั้น ที่ได้วางแผนหรือได้พิจารณาเรื่องการโยกย้ายการผลิตออกจากแดนมังกร ตัวเลขนี้ลดลงไปอีกจากระดับ 9.2% ในปี 2019 ซึ่งก็ถือได้ว่าไม่มีความสลักสำคัญอะไรนักอยู่แล้ว

นอกจากนี้ เรายังสามารถโต้แย้งได้ด้วยซ้ำว่าตัวเลขจริงๆ น่าจะต่ำลงกว่านี้ไปอีก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากการที่ญี่ปุ่นกับจีนมีประสบการณ์แห่งความเกลียดชังไม่ลงรอยกันมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ จึงย่อมไม่ค่อยมี ซีอีโอ คนไหนหรอกที่ต้องการยอมรับตรงๆ ว่าพวกเขาไม่ได้แม้กระทั่ง -อย่างน้อยที่สุด--ก็ดำริตริตรองที่จะลดการปรากฏตัวในประเทศชาติของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้แหละ มันจึงติดตามมาด้วยตัวเลขของพวกบริษัทโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งกำลังสำรวจเสาะหาสถานที่ตั้งฐานการผลิตในญี่ปุ่น ที่อยู่ทางอีกฟากฝั่งหนึ่งของทะเลจีนตะวันออก ยิ่งมีจำนวนน้อยนิดลงไปใหญ่

อากิโอะ โตโยดะ แห่ง โตโยต้า มอเตอร์ส ประกาศว่า บริษัทจะก้าวเดินไปในจุดที่ตนเองสามารถเติบโตขยายตัวได้
จะว่ากันไปแล้ว ทีมงานของอาเบะ -รวมไปถึงทีมงานของทรัมป์ด้วย -ควรที่จะทราบดีอยู่แล้วว่านโยบายนี้แทบไม่มีศักยภาพความเป็นไปได้เอาเสียเลย ถ้าหากศึกษาเรียนรู้จาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส โตเกียวซึ่งมีประเพณีฝังแน่นอยู่กับระบบสั่งการจากบนลงล่างนั้นมีความชื่นชอบอย่างล้ำลึกในการเดินตามแบบอย่างของพวกขาใหญ่ และไม่มีขาใหญ่รายไหนอีกแล้วที่จะทรงความสำคัญมากไปกว่าบริษัทรถยนต์ผู้เปรียบเสมือนกองหน้าของ เจแปน อิงค์ (Japan Inc ภาคบรรษัทญี่ปุ่น) รายนี้ แล้ว โตโยต้า เลือกเดินเลือกกระทำอะไรบ้าง

โตโยต้า มอเตอร์ส เลือกที่จะก้าวเดินไปในจุดที่ตนเองสามารถเติบโต

ย้อนหลังกลับไปในปี 2015 อากิโอะ โตโยดะ (Akio Toyoda) ซีอีโอของโตโยต้า ได้ออกมาย้ำยืนยันถึงเจตนารมณ์ของยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ ที่จะก้าวเดินไปในจุดที่ตนเองสามารถเติบโตขยายตัวได้ ในตอนนั้นนี่ย่อมหมายถึง -และในตอนนี้นี่ก็ยังคงหมายถึง-ประเทศจีน ปรากฏว่าเศรษฐกิจใต้การกำกับดูแลของ สี เป็นผู้ได้ประโยชน์รายใหญ่รายหนึ่งจากแผนการของโตโยต้าในปีนั้น ซึ่งทุ่มเทเงินทองสูงถึง 1,400 ล้านดอลลาร์ในการลงทุนในโรงงานใหม่ๆ แห่งต่างๆ

หรือถ้าเราหมุนเวลากลับมายังช่วงไม่นานมานี้ อย่างเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ฮอนด้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นอีกรายหนึ่ง ได้ตัดสินใจเพิ่มการผลิตในโรงงานต่างๆ ที่จีนของตน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Business/Automobiles/Toyota-and-Honda-to-ramp-up-China-plants-to-make-up-lost-output) และอีกหนึ่งเดือนถัดมา โตโยต้าได้เปิดตัวการร่วมลงทุนกับพวกบริษัทแผ่นดินใหญ่ 5 แห่งเพื่อพัฒนาระบบเซลล์เชื้อเพลิงสำหรับใช้กับยานยนต์เชิงพาณิชย์

หุ้นส่วนแผ่นดินใหญ่เหล่านี้ 2 ในจำนวน 5 รายได้แก่ ไชน่า เฟิสต์ ออโตโมบิล เวิร์กส์ (China First Automobile Works) และ กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป (Guangzhou Automobile Group) ปรากฏว่าในเดือนตุลาคม โตโยต้ายังตกลงที่จะซัปพลายระบบไฮบริด ใช้ได้ทั้งเบนซิน-ไฟฟ้า ให้แก่กว่างโจว ออโต นี่ถือเป็นครั้งแรกทีเดียวที่บริษัทแบ่งปันเทคโนโลยีนี้ให้แก่ประเทศต่างชาติ

การที่ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาอาศัยจีนนั้น เป็นการสะท้อนถึงสภาพความเป็นจริงของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เมื่อ 20 ปีก่อน ผลผลิตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีขนาดที่ใหญ่โตกว่าของจีนกว่า 4 เท่าตัว อีก 1 ทศวรรษต่อมา นั่นคือเมื่อปี 2010 จีนกลับแซงหน้าญี่ปุ่นเสียแล้วเมื่อวัดกันที่มูลค่าจีดีพี มาถึงเวลานี้ จีนมีขนาดเศรษฐกิจซึ่งโตกว่าญี่ปุ่นกว่า 3 เท่าตัว การพูดถึงเรื่องการหย่าร้างแยกขาดจากกันจึงไม่มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงในทางปฏิบัติ เมื่อพิจารณาในแง่ที่ว่าใครกันที่กำลังซื้อสินค้าของญี่ปุ่นในปริมาณมหึมาอยู่เวลานี้

เนาโตะ ไซโตะ (Naoto Saito) นักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันวิจัยไดวะ (Daiwa Institute of Research) ชี้ว่า ถึงแม้ “การหลีกเลี่ยงไม่ให้พึ่งพาอาศัยจีนมากเกินไป” ถือเป็นเป้าหมายหลักประการหนึ่งของพวก ซีอีโอ ชาวญี่ปุ่นทั้งหลาย แต่การที่พวกเขา “จะไม่พิจารณา” ตั้งโรงงานการผลิตขึ้นมาในตลาดของจีนนั้น“เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขบคิดได้”

พวกนิสัยแปลกๆ ประหลาดๆของจีนจึงกลายเป็นอะไรบางอย่างที่บรรดาชาติค้าขายทั้งหลายจะต้องปรับตัวให้เคยชินเอาไว้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2021/02/xi-walks-a-tightrope-by-reining-in-jack-ma/)

“เป็นอย่างนั้นจริงๆ” เป็นคำยืนยันรับรองของ จอห์น ลี (John Lee) ผู้เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่lถาบันฮัดสัน (Hudson Institute)หน่วยงานคลังสมองซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน “ดูเหมือนว่าพวกกิจการระหว่างประเทศทั้งหลายมีข้อพิจารณากันมาตั้งนานแล้วว่า ความเสี่ยงต่างๆ ในทางการเมือง, สถาบัน, กฎหมาย และระเบียบกฏเกณฑ์ต่างๆ อะไรเหล่านี้ถือเป็นสิ่งซึ่งผูกติดเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจการเมืองของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่ก็จะได้รับการชดเชยจากพวกรางวัลระยะสั้นที่กิจการเหล่านี้จะได้รับกัน(จากตลาดของจีน)”

ลี ชี้ว่า เมื่อพูดกันอย่างกว้างๆ เป็นภาพรวมแล้ว“แม้กระทั่งในตอนที่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ-จีนขึ้นถึงจุดสูงสุด การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เข้าไปยังจีนจากทั่วโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” พร้อมกับบอกว่า “เหตุผลต่างๆ สำหรับการยังคงอยู่ในจีนต่อไปนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ยากเลยที่จะทำความเข้าใจ”

นี่คือสิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นมา ทั้งๆ ที่โตเกียวและคณะบริหารทรัมป์ต่างออกแรงบีบคั้นกดดันอย่างดุเดือดจริงจัง ทำเนียบขาวของทรัมป์พยายามกดดันประเด็นนี้ด้วยการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้บริษัทใดๆ ก็ตามทีแม้กระทั่งบริษัทต่างชาติ ขายสินค้าที่มีเทคโนโลยีสหรัฐฯ หรือทำขึ้นโดยมีเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เกี่ยวข้องด้วย ไปให้แก่ หัวเว่ยเทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่เทเลคอมของจีน ขณะที่รัฐบาลของอาเบะ ภายใต้การรบเร้าไม่หยุดหย่อนจากคณะบริหารของทรัมป์ ก็เริ่มต้นเสนอมาตรการอุดหนุนชดเชยแก่พวกบริษัทญี่ปุ่นที่ถอนตัวออกจากจีน–เริ่มต้นเลยก็เสนอที่จะให้ประโยชน์กันคิดเป็นมูลค่า 2,200 ล้านดอลลาร์แล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-04-08/japan-to-fund-firms-to-shift-production-out-of-china)

ชินโซ อาเบะ เดินตามการก้าวนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ในความพยายามที่จะหย่าร้างแยกขาดออกจากจีน  ทว่าเหล่ายักษ์ใหญ่ของ เจแปนอิงค์ ไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วย
ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว อาเบะแถลงว่า “มีความจำเป็นสูงสุดที่จะต้องเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่พวกสายโซ่อุปทานในญี่ปุ่น และทำให้พวกสายโซ่อุปทานที่อยู่ในต่างแดนมีความกระจายตัว เพื่อรับประกันว่าจะมีแหล่งที่มาของอุปทานเพิ่มมากขึ้น” การเปลี่ยนสายโซ่อุปทานนั้น อาเบะย้ำว่า “จำเป็นที่จะต้องกระทำโดยคำนึงถึงทัศนะมุมมองแบบระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรเท่านั้น”

โยชิฮิเดะ ซูงะ ทายาทของอาเบะ ก็กำลังพยายามผลักดันเพื่อทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็น “แผน บี” ของ เจแปน อิงค์ และจริงๆ แล้ว มีพวกบริษัทระดับไอคอนหลายๆ แห่ง ตั้งแต่ นินเทนโด ไปจนถึง เคียวเซรา จาก ริโก้ ไปจนถึง ชาร์ป กำลังโยกย้ายการผลิตบางส่วนของตนมายังเวียดนามและไทย

อย่างไรก็ตาม ไม่มีคู่แข่งรายไหนหรอกที่สามารถแข่งขันเทียบชั้นกับขนาดของจีนได้ ยิ่งพิจารณาจากการที่แดนมังกรเท่าที่เห็นกันอยู่จนถึงเวลานี้ ยังคงประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่โควิด-19 , มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับ 2.3% ในปี 2020 และมีลู่ทางที่จะทำได้ถึง 8% ในปีนี้ เจแปนอิงค์จึงดูแทบไม่มีแรงจูงใจอะไรเลยที่จะถอยหนีออกจากจีน พวก ซีอีโอ ของญี่ปุ่นดูเหมือนเข้าอกเข้าใจอะไรบางอย่างซึ่งทั้งทรัมป์และอาเบะต่างก็ไม่เข้าใจ นั่นคือ เกมที่จะต้องเล่นได้แก่การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับจีนให้ได้ ไม่ใช่ถูกใช้ให้เป็นตัวเบี้ยในความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://asiatimes.com/2020/12/trade-wars-to-become-currency-wars-in-2021/)

กระนั้น เมื่อมองจากอีกมุมหนึ่ง เรื่องที่เกิดขึ้นมานี้ก็คือการที่ญี่ปุ่นได้พลาดโอกาสไปอย่างเยอะแยะขนาดไหนในขณะที่จีนก้าวผงาดขึ้นมา

ถ้าหาก อาเบะ ได้ใช้ระยะเวลาเกือบๆ 8 ปีที่อยู่ในอำนาจของตน ไปในการสร้างสรรค์โมเดลใหม่สำหรับตลาดญี่ปุ่นขึ้นมา จากสภาพที่ประชากรกำลังลดต่ำลงและมีอายุเพิ่มมากขึ้น, การจัดเก็บภาษีอยู่ในอัตราสูง, ต้นทุนด้านที่ดินและด้านแรงงานก็แพง ขณะที่ผลิตภาพอยู่ในระดับต่ำอย่างเรื้อรัง พวกบริษัทอย่างโตโยต้าก็อาจจะมีความยินดีเข้าร่วมในการปฏิบัติการ “หวนกลับคืนสู่ชายฝั่ง”

เนื่องจาก อาเบะ ไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เลยในเป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ พวกบริษัทนานาชาติทั้งหลายจึงแทบไม่มีแรงจูงใจอะไรที่จะเข้าไปเพิ่มการผลิตในประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียรายนี้

กระทั่งเมื่อพรมต้อนรับที่จีนปูเอาไว้ให้แก่พวกบริษัทต่างประเทศทั้งหลาย อยู่ในสภาพที่ยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มขึ้นภายใต้การนำของ สี ทางเจแปนอิงค์ก็ยังคงมีเวียดนาม, ไทย, และ อินโดนีเซีย ยืนเตรียมพร้อมอยู่แล้วสำหรับการอำนวยความสะดวกให้เข้าไปเปิดโรงงานแห่งใหม่ๆ อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าแปลกใจอย่างที่สุดขณะที่ปี 2021 กำลังเคลื่อนผ่านไปเรื่อยๆ ก็คือ ทำไมสงครามการค้า –หรือการที่ อาเบะ เลียแข้งเลียขาสนับสนุนทรัมป์ – จึงแทบไม่มีผลอะไรในการหันเหญี่ปุ่นให้ออกห่างจากจีน

เส้นทางที่ “พานาโซนิค คอร์ป” เลือก คือ การเดินตามดีมานด์ของทั่วโลก ที่ตนเองสามารถเป็นผู้นำอยู่หัวขบวน ไม่ใช่เอาแต่ทุ่มเทใส่ใจอยู่กับอดีต

ในรายงานแบบเจาะลึกชิ้นหนึ่งที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Decoupling-denied-Japan-Inc.-lays-its-bets-on-China) โดยมุ่งพูดถึงผลลัพธ์ซึ่งแน่นอนทีเดียวว่าทั้งทรัมป์และอาเบะจะต้องชิงชังมาก ทาง นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) ได้เน้นหนักที่บริษัท พานาโซนิค คอร์ป (Panasonic Corp) ซึ่งมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานและเต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการวางเดิมพันเพื่อเข้าไปประกอบกิจการในจีนอย่างแน่วแน่มาตั้งแต่ปี 1987 ในปีนั้น มหาอำนาจด้านกิจการอิเล็กทรอนิกส์รายนี้ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 103 ปีแล้ว ได้ลงนามในกิจการร่วมทุนแห่งแรกบนแผ่นดินใหญ่ ทุกวันนี้จีนมีสัดส่วนคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 16,000 ล้านดอลลาร์หรือเสี้ยวหนึ่งเต็มๆ ของธุรกิจทั้งหมดของพานาโซนิค

การวางเดิมพันในตอนนั้น ซึ่งกระทำโดย โคโนสุเกะ มัตสึชิตะ (Konosuke Matsushita) ผู้เป็นประธานของกลุ่มบริษัทแห่งนี้ในขณะนั้น แลดูสมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่งในทุกวันนี้ ขณะที่ระบบเศรษฐกิจภายใต้การดูแลของ สี กลายเป็นผู้ผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าประมาณครึ่งหนึ่งของโลก และเครื่องปรับอากาศราว 85% ของที่มีการผลิตกัน กระนั้นตามเส้นทางนี้ ยังคงมีพวกยักษ์ใหญ่ที่กำเนิดขึ้นมาจากภายในแดนมังกรเอง อย่างเช่น ไฮเออร์ และ มิเดีย ปรากฏตัวออกมายึดครองฐานะครอบงำเหนือใครๆ ในแวดวงเครื่องใช้ไฟฟ้าระหว่างประเทศ

พวกลูกจ้างพนักงานทำงานอยู่ในสายการผลิตเครื่องปรับอากาศ ที่โรงงานของไฮเออร์ ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน (ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2020)
ขณะที่เรื่องแบบนี้ฟังแล้วชวนให้รู้สึกสับสนมึนตึ๊บ แต่มันกลับกระตุ้นให้พวกบริษัทญี่ปุ่นตระหนักถึงกฎเกณฑ์การแข่งขันทั่วไปทางการพาณิชย์ แล้วรีบปรับตัวและหนีไปสู่ตลาดบน จุดสำคัญในกรณีที่พูดกันอยู่นี้ก็คือ พานาโซนิคกำลังเดินหน้าด้วยความใหญ่โตยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำเพื่อเข้าสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเกมแห่งแบตเตอรี่

ถึงแม้มรดกที่ตกทอดกันมายาวนานของ พานาโซนิค ได้แก่การประดิษฐ์คิดสร้างและนวัตกรรมในด้านเครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์ให้แสงสว่าง, วิทยุและโทรทัศน์ แต่ปรากฏว่าไพ่ตัวเด็ดที่สุดของบริษัทในเวลานี้ กลับกลายเป็นการวิจัยและพัฒนาในเรื่องแบตเตอรี่ชนิดชาร์จไฟได้ ซึ่งอยู่ในระดับเหนือชั้นยิ่งกว่าใครๆ

ในปี 2014 เมื่อตอนที่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ของบริษัท เทสลา (Tesla) กำลังจัดตั้ง “อภิมหาโรงงาน” (Gigafactoty) เพื่อสร้างแบตเตอรี่ มูลค่าเบื้องต้น 5,000 ล้านดอลลาร์ของเขา ขึ้นในทะเลทรายของรัฐเนวาดา, สหรัฐอเมริกานั้น พานาโซนิคคือบริษัทติดอันดับสูงสุดในรายชื่อของบริษัทหุ้นส่วนที่เขาติดต่อเจรจาให้มาร่วมงานกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.usatoday.com/story/money/cars/2014/07/31/tesla-panasonic-gigafactory-agreement/13396717/) สำหรับพานาโซนิคแล้ว นวัตกรรมในแวดวงพลังงานหมุนเวียนคือเรื่องของการเดินตามดีมานด์ความต้องการของทั่วโลก โดยที่ตนเองกำลังเป็นผู้นำอยู่ตรงหัวขบวน ไม่ใช่การทุ่มเทใส่ใจอยู่กับอดีต

ทฤษฎีเก่าๆ ของ ‘ทรัมป์-อาเบะ’ และสิ่งที่ ‘อาเบะ’ สมควรทำแต่ไม่ได้ทำ

เป็นเพราะเอาแต่พึ่งพาอาศัยพวกยุทธศาสตร์เก่าๆ นั่นเอง ซึ่งทำให้ทั้ง อาเบะโนมิกส์ (Abenomics) และ ทรัมโปนอมิกส์ (Trumponomics) ถูกน็อกตกหล่นออกนอกเส้นทางไป สิ่งที่ ทรัมป์ กับ อาเบะ มีอยู่ร่วมกัน นอกเหนือจากลัทธิประชานิยมเก๊ๆ แล้วก็คือ ความศรัทธามุ่งอุทิศตนให้แก่หลักเศรษฐศาสตร์ “ไหลริน” (“trickle-down” economics) สไตล์ยุคทศวรรษ 1980 (ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบ “ไหลริน” หรือ “ฝนหล่นจากฟ้า” เชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจส่วนบนได้รับสิทธิประโยชน์ ก็จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจส่วนล่างๆ ลงมาพลอยดีตามไปด้วย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Trickle-down_economics -ผู้แปล)

ทั้งคู่ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ แก่การทำให้ค่าเงินตราอ่อน, การผ่อนคลายทางการเงินอย่างชนิดล้นเหลือ, และการลดภาษีนิดๆ หน่อยๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเศรษฐกิจกำลังต้องการการยกระดับเชิงโครงสร้างอย่างห้าวหาญ และจากการที่ทั้งคู่ต่างหันมาจ้องมองข้างหลังแทนที่จะมุ่งไปที่อนาคต จึงทำให้ประเทศจีนใต้การนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ของ สี สามารถดำเนินชีวิตไปอย่างง่ายดายขึ้นเยอะ

ถ้าหากในโตเกียว สิ่งต่างๆ ออกมาในทางที่แตกต่างออกไปจากนี้ สี ก็อาจจะต้องดิ้นรนต่อสู้ในสภาพแวดล้อมที่ผิดแผกไปมากมายนักขณะที่ปี 2021 เริ่มต้นขึ้นมา สี กับ อาเบะ นั้นเข้ากุมบังเหียนประเทศชาติของพวกเขาในระยะเวลาใกล้เคียงกันเมื่อตอนช่วงปลายปี 2012 ลองจินตนาการดูเถอะ ถ้าหาก อาเบะ เริ่มต้นเดินหน้าสิ่งต่างๆ ด้วยความรวดเร็วและกระตือรือร้น สามารถหยิบฉวยการครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภาที่หาได้ยากยิ่งมาเดินเครื่องผลักดันเรื่องต่างๆ อย่างฉับไว

ลองจินตนาการดูเถอะ ว่าญี่ปุ่นอาจจะไปถึงไหนแล้ว ถ้า อาเบะ ตัดทอนระบบราชการที่ขึ้นชื่อฉาวโฉ่ของโตเกียว, ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ควบคุมในตลาดแรงงาน, กระตุ้นให้พวกกิจการสตาร์ทอัปเฟื่องฟู, ส่งเสริมให้สตรีมีอำนาจและบทบาท, เพิ่มผลิตภาพ, หรือแก้ไขนโยบายด้านพลังงานให้มีความสร้างสรรค์มากขึ้น

ลองจินตนาการดูเถอะ ถ้า อาเบะ ได้ดำเนินการต่อรองแบบยื่นหมูยื่นแมวกับภาคบริษัทญี่ปุ่น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cnbc.com/2020/09/03/charts-show-successes-and-failures-of-abenomics-in-lifting-japans-economy.html) เป็นต้นว่า ลดภาษีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการขึ้นค่าจ้างและเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา หรือถ้า อาเบะ เดินหน้าไปในอีกทางหนึ่ง กล่าวคือ ลงโทษพวกซีอีโอที่เก็งกำไรมากจนเกินงาม, เกี่ยวข้องกับการถือหุ้นไขว้ซึ่งเป็นการทำลายการสร้างนวัตกรรม, ตลอดจนล้มเหลวไม่ว่าจ้างกรรมการบริษัทจากภายนอกเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในบอร์ดบริษัท

ยานขับเคลื่อนได้โดยอัตโนมัติ ที่มีชื่อว่า SPACe_L  ถูกนำมาเปิดตัวในเวทีประชุม Panasonic Cross-Value Innovation Forum ปี 2018 ในโอกาสครบรอบ 100 ปีของพานาโซนิค ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2018 (ภาพจากโยมิอูริ ชิมบุง)
อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าหาก อาเบะ ได้ขยายขนาดของโมเดลเขตวิสาหกิจพิเศษ ไปทั่วประเทศชาติที่มีประชากร 126 ล้านคนของเขา? การเพิ่มความสะดวกง่ายดายในการทำธุรกิจ, การเสนออัตราภาษีต่ำสุดๆ แก่พวกผู้ประกอบการ, การสร้างโครงข่ายความปลอดภัยเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความกล้าเสี่ยง และการจัดตั้งแผนการทำเวนเจอร์แคปิตอลที่ได้รับงินทุนจากภาครัฐ –หรือได้รับการอุดหนุนเป็นบางส่วนจากภาครัฐ – ซึ่งมุ่งขับดัน เจแปนอิงค์ ให้เข้าสู่ศตวรรษที่ 21

การที่ไม่มีความเคลื่อนไหวเหล่านี้เลยสักอย่างปรากฏขึ้นมาภายใต้การกำกับดูแลของอาเบะ กลายเป็นการปล่อยให้เกิดเวทีที่ทางอันกว้างขวางสำหรับ ไชน่าอิงค์ แน่นอนทีเดียว มันมีผลอยู่แล้วสำหรับการที่พรรคของ สี กำลังมุ่งสร้างมัดกล้ามทางเศรษฐกิจด้วยความกระตือรือร้น ขณะที่ญี่ปุ่นกลับปล่อยให้กล้ามเนื้อทางเศรษฐกิจเสื่อมถอยโรยราไปอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่ สี กระทำระหว่างการครองอำนาจนั้น ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายและเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่สมเหตุสมผลด้วย การที่ปักกิ่งจำกัดควบคุมอินเทอร์เน็ต, เสรีภาพของสื่อมวลชน, การปกครองตนเองของฮ่องกง, และการมีความทะเยอทะยานแบบนักลัทธิแผ่ขยายดินแดนในทะเลจีนใต้ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการสร้างบาดแผลขึ้นมาด้วยตนเองซึ่งกระทบกระเทือนอำนาจละมุน (soft power) ในระดับโลกของปักกิ่ง กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ กำลังพิจารณาที่จะเรียกร้องให้บอยคอตต์กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่งปีหน้า
ท่ามกลางเสียงกล่าวหาอึงคะนึงที่ว่าจีนล่วงละเมิดบรรดาชาวชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.axios.com/2022-beijing-winter-olympics-boycott-china-759c66df-df19-4f1b-92a1-744b98276dc9.html)

แต่ถ้าหากถามว่ารัฐบาลของ สี มีผลงานอะไรเป็นที่ประจักษ์แล้วมันก็คือการมีทักษะความชำนาญในการทำภารกิจหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันจุดสำคัญในกรณีนี้ก็คือ โครงการ “เมดอินไชน่า 2025” (Made in China 2025) อันใหญ่โตมโหฬารซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้จีนกลายเป็นผู้นำในอนาคตทั้งในด้านการบินและอวกาศ, ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), ระบบอัตโนมัติ, เทคโนโลยีชีวภาพ,สกุลเงินตราดิจิทัล, ยานยนต์ไฟฟ้า, ความก้าวหน้าต่างๆ ทางด้าน 5จี,พลังงานหมุนเวียน, หุ่นยนต์, เซมิคอนดักเตอร์ และการสร้าง “กิจการยูนิคอร์น” ด้านเทคระลอกใหม่ๆ

ตั้งแต่เข้าแทนที่ อาเบะในเดือนกันยายนปีที่แล้วซูงะไม่ได้ทำอะไรเลยที่เป็นการนำญี่ปุ่นให้กลับเข้าไปในเกมที่ประเทศจีนของสี มุ่งหมายที่จะขึ้นมามีฐานะครอบงำโดดเด่นเหนือกว่าคนอื่นๆ

ยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมหาศาลในเรื่องที่ว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯจะปรับปรุงกระเตื้องขึ้นมาได้มากน้อยขนาดไหนภายใต้การกำกับดูแลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกระทบได้อย่างมหาศาลก็คือ ไบเดนจะเดินหน้าอย่างไรในเรื่องที่สหรัฐฯ แซงก์ชันเล่นงานพวกแชมเปี้ยนของไชน่าอิงค์ อย่างเช่น หัวเว่ย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2021/01/trump-takes-a-final-swipe-at-huawei/)

มันไม่ใช่คำถามเล็กๆ น้อยๆ เลยเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ในปี 2020 พวกบริษัทญี่ปุ่นมีรายรับประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์จากยอดขายที่ทำได้กับหัวเว่ย สำนักข่าวหลายๆ แห่งรายงานข่าวโดยอ้างเจ้าหน้าที่คณะบริหารไบเดนผู้หนึ่งได้พูดเอาไว้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในนโยบายการค้าของสหรัฐฯ “จะไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีและในเวลาเดียวกันนั้นเราก็จะยังไม่ยกเลิกการขึ้นภาษีศุลกากร”

ซูงะยังจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ด้วยเช่นกันการที่ปักกิ่งกล่าวอ้างดินแดนต่างๆ ในบรรดาทะเลรอบๆ แผ่นดินใหญ่จีนเป็นภัยคุกคามที่อาจจะระเบิดขึ้นมาในช่วงจังหวะเวลาตอนไหนก็ได้ทั้งนั้น ขณะที่การเผชิญหน้ากันระหว่างเรือของญี่ปุ่นกับเรือของจีนใกล้ๆ หมู่เกาะเซงกากุซึ่งพิพาทช่วงชิงกันอยู่ก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศเกิดการพลิกผันได้

โจ ไบเดน ที่เวลานั้นยังเป็นรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ กับ สี จิ้นผิง ขณะเข้าร่วมการประชุมของพวกผู้ว่าการรัฐต่างๆ  ณ เมืองลองแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2012
สี ยังอาจจะแสดงปฏิกิริยาอย่างเลวร้ายต่อการที่ ซูงะ กำลังโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมสหรัฐฯให้หวนกลับเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคฟื้นแปซิฟิก การที่ ไบเดน เข้าร่วมในข้อตกลงการค้านี้ หมายความถึงการมุ่งปิดล้อมควบคุมการก้าวผงาดของจีน และเรื่องนี้อาจกลับเป็นอุปสรรคขัดขวางความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ระหว่างปักกิ่งกับโตเกียวขึ้นมาอีก

แต่ขนาดอันมหึมาองจีนทำให้แดนมังกรกลายเป็นสถานที่ผลิตแห่งหนึ่งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงต่อรองอะไรได้ ซึ่งญี่ปุ่นมีแต่จะต้องพยายามเรียนรู้ถึงวิธีการที่จะเคลื่อนที่ไปอย่างไม่ติดขัด ทั้งนี้ สกอตต์ เคนเนดี (Scott Kennedy) นักเศรษฐศาสตร์ที่ศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies) ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ได้เรียกความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในเวลานี้ว่า เป็น “ละครคาบูกิแห่งการหย่าร้างแยกขาดจากกัน” (decoupling kabuki)

เขาอธิบายว่า สิ่งที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่นี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความพยายามของญี่ปุ่นในการรีเซตความสัมพันธ์ที่ตนเองมีอยู่กับจีน ไม่ใช่การยุติความสัมพันธ์นี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น