xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’ โทรศัพท์พูดคุยกับ‘สี’ เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการเริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่การย้ำท่าทีเผชิญหน้าแบบยุค‘ทรัมป์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร


โจ ไบเดน เคยพบปะกับ สี จิ้นผิง มาแล้วหลายครั้ง ทั้งในสหรัฐฯและในจีน อย่างในภาพนี้เป็นตอนที่ไบเดนไปเยือนจีนในฐานะรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Biden’s New Year call to Xi marks a fresh start
by MK Bhadrakumar 13/02/2021

ทำเนียบขาวแถลงข่าวประธานาธิบดีโจ ไบเดน โทรศัพท์ไปสนทนากับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ครั้งแรก โดยใช้ภาษาที่เคร่งขรึมและประหยัดถ้อยคำ ขณะที่สื่อจีนกลับมองโลกในแง่ดีว่า ว่าการพูดคุยกันเป็นเวลา 2 ชั่วโมงระหว่างผู้นำทั้งสองที่รู้จักคุ้นเคยกันมานานในคราวนี้ จะเป็นผลบวกต่อสายสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ


ไบเดนคือประธานาธิบดีอเมริกันที่มีประสบการณ์ด้านการต่างประเทศมากที่สุด รวมทั้งเป็นผู้ที่ได้เคยพบปะพูดคุยกับ สี จิ้นผิง มากยิ่งกว่าผู้นำโลกคนอื่นๆ

สิ่งที่โดดเด่นมากๆ สำหรับคณะบริหารสหรัฐฯชุดใหม่ก็คือ ไม่เคยมีประธานาธิบดีอเมริกันคนไหนอีกแล้วซึ่งมีประสบการณ์ด้านนโยบายการต่างประเทศถึงระดับเฉียดใกล้กับที่ โจ ไบเดน มีอยู่ ประสบการณ์อันยาวนานมากกว่าครึ่งศตวรรษของเขามาจากการสั่งสมเพิ่มพูนต่อเนื่อง ระหว่างดำรงตำแหน่งในวุฒิสภาสหรัฐฯ และในทำเนียบขาว ตั้งแต่ปี 1973 ถึงปี 2016 ตลอดจนภายหลังจากนั้นอีก

ตัวไบเดนเองพูดทบทวนความหลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “ผมได้ยินคำบอกเล่าพูดกันว่า บางทีผมน่าเป็นคนที่ใช้เวลาอยู่กับ สี จิ้นผิง (ประธานาธิบดีของจีน) มากยิ่งกว่าผู้นำโลกคนไหนๆ”

ไบเดน เป็นเจ้าภาพต้อนรับ สี ตอนที่เขาไปเยือนสหรัฐฯเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ในฐานะที่เป็นรองประธานาธิบดีของจีน และได้ร่วมอยู่ในคณะตลอดการทัวร์ของ สี ครั้งนั้น ตามการเสนอแนะของตัว สี เอง ทั้งนี้ ไบเดนกำลังตอบแทนท่าทีที่ สี ได้แสดงออกเมื่อปีก่อนหน้านั้น ตอนที่ ไบเดน ไปเยือนจีนในฐานะรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งคู่สั่งสมระยะเวลาแห่งการได้สนทนากันแบบเก็บเป็นความลับไม่เปิดเผยต่อภายนอกยาวนานนับชั่วโมงไม่ถ้วนทีเดียว

สามารถที่จะกล่าวได้ว่า การที่ ไบเดน โทรศัพท์ไปถึง สี เมื่อวันพฤหัสบดี (11 ก.พ.) ที่ผ่านมา คือความต่อเนื่องของความสัมพันธ์ระดับส่วนบุคคล สีได้ทบทวนย้อนความหลังเอาไว้อย่างคมกริบ ด้วยการพูดเรื่องที่เคยคุยกันในการรับประทานอาหารค่ำเป็นการส่วนตัว ณ ที่ราบสูงทิเบต ระหว่างที่ ไบเดน ไปเยือนเป็นเวลา 4 วันเมื่อปี 2011

สี ชวนให้ ไบเดน ระลึกถึงตอนหนึ่งในการสนทนากันครั้งนั้น “คุณบอกว่าอเมริกานั้นสามารถที่จะนิยามจำกัดความได้ด้วยคำๆ เดียว คำว่า ความเป็นไปได้ เราก็วาดหวังว่าความเป็นไปได้ที่ว่านี้ในตอนนี้จะชี้ไปที่การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ”

คำพูดแท้ๆ เลย ที่ ไบเดน ได้พูดเอาไว้เมื่อปี 2011 คือ “เราเชื่อว่าอะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าหากเราตั้งใจตั้งความคิดของเราไปที่สิ่งนั้น ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าชาติไหนในโลก” แน่นอนทีเดียว การที่ ไบเดน โทรศัพท์ไปถึง สี เมื่อวันพฤหัสบดี (11 ก.พ.) จำเป็นที่จะต้องชั่งน้ำหนักกันภายใต้ฉากหลังอันโดดเด่นพิเศษเฉพาะและก็สลับซับซ้อน

ไม่ว่าบันทึกการสนทนาของฝ่ายทำเนียบขาวซึ่งอยู่ในอาการขรึมๆ ประหยัดถ้อยคำ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/02/10/readout-of-president-joseph-r-biden-jr-call-with-president-xi-jinping-of-china/) หรือรายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัวที่มีรายละเอียดมากขึ้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.xinhuanet.com/english/2021-02/11/c_139737284.htm) ต่างก็ไม่สามารถสะท้อนให้เห็นภาพอันชัดเจนยุติธรรมออกมาได้

ไบเดนคุยกับสี จิ้นผิงคราวนี้ 2 ชั่วโมง เขาชมเชยแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟของจีน ขณะตนเองก็กำลังผลักดันให้สหรัฐฯเดินหน้าเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน

ไบเดนได้เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (12 ก.พ.) ระหว่างการพบปะหารือกับพวกวุฒิสมาชิกสหรัฐฯในทำเนียบขาวว่า “เมื่อคืนนี้ ผมพูดคุยทางโทรศัพท์รวดเดียว 2 ชั่วโมงกับ สี จิ้นผิง และพวกคุณทั้งหมดต่างก็ทราบดีพอๆ กับที่ผมรู้ พวกคนที่รู้จักคุ้นเคยกันมานมนานเหล่านี้ – และมันก็เป็นการสนทนากันที่ดี ผมรู้จักเขาเป็นอย่างดี เราเคยใช้เวลาด้วยกันเยอะทีเดียวตลอดเวลาหลายๆ ปีที่ผมยังเป็นรองประธานาธิบดีอยู่”

ไบเดนพูดต่อไปโดยยกย่องสรรเสริญจีน ในเรื่องที่มี “แผนการความริเริ่มใหม่ขนาดใหญ่ๆ ในเรื่องทางรถไฟ พวกเขาตอนนี้มีทางรถไฟที่วิ่งได้ 225 ไมล์ต่อชั่วโมง (360 กิโลมตรต่อชั่วโมง) ได้อย่างง่ายดายแล้ว พวกเขากำลังทำงาน –พวกเขากำลังทำงานกันหนักมากเพื่อทำสิ่งที่ผมคิดว่าเราก็กำลังจะต้องทำ

“พวกเขากำลังจะ –พวกเขากำลังทำงานกันหนักมากเพื่อพยายามเข้าไปอยู่ในตำแหน่งซึ่งพวกเขาจะจบลงด้วยการเป็นแหล่งที่มาของ – ของวิธีการใหม่ ในการให้พลังแก่พวกรถยนต์ ซึ่งจะ –พวกเขากำลังจะลงทุนกันเป็นเงินเยอะแยะมากมาย

รถไฟไฮสปีดแบบ CR400AF-G ของจีน เตรียมออกให้บริการเที่ยวแรกจากกรุงปักกิ่งในวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา รถไฟแบบนี้สามารถทำความเร็วได้ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (217 ไมล์ต่อชั่วโมง)
“พวกเขากำลังลงทุนกันเป็นหลายหมื่นล้านหลายแสนล้านดอลลาร์ และกำลังจัดการกับประเด็นปัญหาต่างๆ แบบครอบคลุมทั่วทั้งแถบไปเลย ทั้งในด้านการคมนาคมขนส่ง, สิ่งแวดล้อม, และครอบลุมทั่วทั้งหมดในเรื่องอื่นๆ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องยกระดับขึ้นไป”

คำพูดเช่นนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างฟุ้งๆ ไบเดนนั้นกำลังอยู่ในการประชุมครั้งแรกกับพวกวุฒิสมาชิกกลุ่มหนึ่งที่มาจากทั้งสองพรรคในห้องทำงานของเขาเมื่อวันศุกร์ (12 ก.พ.) เพื่อ “อภิปรายหารือกันถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องดำเนินการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอเมริกันเพื่อให้มีความทันสมัยและยั่งยืน”

บันทึกการสนทนาของทำเนียบขาว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/02/11/readout-of-president-biden-vice-president-harris-and-secretary-buttigiegs-meeting-with-senators-on-infrastructure/) พูดถึงการประชุมคราวนี้ เอาไว้ดังนี้:

“ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันอย่างมั่นคงขึ้นมาว่า\อเมริกาจำเป็นที่จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในตลอดทั่วทั้งพื้นที่เขตเมืองและเขตชนบทต่างๆ และสร้างตำแหน่งงานที่จ่ายค่าตอบแทนดีๆ เป็นล้านๆ ตำแหน่งขึ้นมาในกระบวนการที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตลอดระยะเวลาหลายๆเดือนและหลายๆ ปีข้างหน้า” และ

“ทางวุฒิสมาชิกทั้งหลายมีความรู้สึกได้รับแรงกระตุ้นเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของคณะบริหารในเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยั่งยืน ซึ่งจะสามารถยืนหยัดต้านานผลกระทบต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และเป็นเชื้อเพลิงให้แก่การปฏิวัติด้านพลังงานสะอาดของอเมริกัน ...วิธีการที่คณะบริหารจะนำเอาการก่อสร้าง, การผลิตทางอุตสาหกรรม, งานทางวิศวกรรม, และตำแหน่งงานในแวดวงที่ต้องมีทักษะ –โดยมีทางเลือกที่จะเข้าร่วมในสหภาพแรงงานได้— ตรงเข้าไปถึงชุมชนต่างๆซึ่งบ่อยครั้งเกินไปแล้วที่ถูกทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง”

ไบเดนยังดูเหมือนจะได้เดินหน้าต่อจากประโยคที่ใช้ปิดท้ายในบันทึกการสนทนาของทำเนียบขาวว่าด้วยการสนทนาระหว่างไบเดนกับสี (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/02/10/readout-of-president-joseph-r-biden-jr-call-with-president-xi-jinping-of-china/) เมื่อวันก่อน นั่นคือ “ประธานาธิบดีไบเดนมีความมุ่งมั่นผูกพันที่จะเดินหน้าปฏิสัมพันธ์ต่างๆซึ่งมุ่งผลทางปฏิบัติ, และเน้นที่ผลลัพธ์ (กับประเทศจีน) ในเวลาเดียวกับที่เดินหน้าไปเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ของประชาชนชาวอเมริกัน”

ทหารหญิงของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ขณะฝึกอยู่ในซินเจียง  ทั้งนี้การปฏิบัติของจีนต่อประชากรชาวอุยกูร์ในซินเจียง เป็นประเด็นหนึ่งซึ่งสร้างความแตกร้าวให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน
ฝ่ายจีนมองว่าการที่ไบเดนโทรศัพท์มาในช่วงตรุษจีนเป็นการแสดงไมตรีจิต พร้อมย้ำความคิดไบเดนคือ แข่งกับจีนสุดฤทธิ์ แต่ไม่ให้กลายเป็นความขัดแย้ง

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรที่ฝ่ายจีนแสดงน้ำเสียงของการมองโลกในแง่ดี ความคิดเห็นของพวกผู้เชี่ยวชาญของจีนก็คือว่า จังหวะเวลาซึ่งไบเดนโทรศัพท์ไปถึงสีเป็นครั้งแรกในฐานะเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯนั้นคือวันสุกดิบก่อนหน้าวันขึ้นปีใหม่ของจีน เรื่องนี้สมควรได้รับการตีความว่าเป็นท่าทีของความมีไมตรีจิต “เพื่อสร้างความสมดุลให้แก่ข้อความอันแข็งกร้าวต่างๆ ซึ่งคณะบริหารสหรัฐฯชุดใหม่ชุดนี้ได้ส่งออกมาในระยะไม่กี่วันหลังๆ นี้ รวมทั้งก่อให้เกิดการตีความกันอย่างหลายหลากเกี่ยวกับข้อความเหล่านี้”

ขณะเดียวกับที่ดำเนินการประเมินผลเกี่ยวกับการที่ไบเดนโทรศัพท์พูดคุยกับสี พวกผู้เชี่ยวชาญชาวจีนก็มีการประมาณการด้วยว่า คณะบริหารสหรัฐฯชุดใหม่ชุดนี้กำลัง “อยู่ตรงทางแยกของการหาวิธีการในการบริหารจัดการกันใหม่และในการควบคุม” ความผิดแผกแตกต่างกันทั้งหลายระหว่างจีนกับอเมริกา ตลอดจนการแตกแยกออกไปคนละทางในเชิงยุทธศาสตร์ และส่วนสำคัญที่สุดสำหรับไบเดนก็คือ สหรัฐฯจะต้องดำเนิน “การแข่งขันอย่างสุดฤทธิ์กับจีน แต่ก็จะไม่ยินยอมให้การแข่งขันพัฒนากลายเป็นความขัดแย้ง”

แน่นอนทีเดียว ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯกำลังกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน ดังมีหลักฐานมองเห็นได้จากการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจชุดใหม่ของเพนตากอน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.axios.com/biden-pentagon-task-force-china-policy-a15b3ecf-f387-4c1b-8edb-3669af902cff.html) เมื่อวันพุธ (10 ก.พ.) ให้ทำหน้าที่ทบทวนนโยบายด้านกลาโหมของสหรัฐฯที่ใช้กับจีน โดยที่นโยบายกลาโหมของอเมริกาที่ปฏิบัติต่อจีนนี้ สำหรับฝ่ายทหารสหรัฐฯแล้ว ถือเป็น “การดำเนินการเชิงสถาบันที่ไม่ได้เคยทำกันมาก่อน” และถ้าหากแนวโน้มเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไปแล้ว “มันจะ
นำมาซึ่งความเสี่ยงต่างๆ ทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯไม่สามารถแบกรับได้”ด้วยเหตุนี้ คณะบริหารไบเดนจึงต้องพูดจากับจีนเกี่ยวกับวิธีบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง

สื่อจีนชี้ ไบเดนยังคงโทรศัพท์ถึงสี แม้เจอแรงกดดันในสหรัฐฯไม่ให้ใกล้ชิดจีนมากเกินไป

บทวิจารณ์ที่ปรากฏในสื่อจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202102/1215530.shtml และ https://www.globaltimes.cn/page/202102/1215521.shtml) มีการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเอาไว้ดังนี้:

**“สิ่งซึ่งมีความสำคัญที่สุดก็คือ จะมองความสัมพันธ์นี้กันอย่างไรถือว่าเป็นความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างกันหรือว่าเป็นความร่วมมือกันและความสมเหตุสมผลในทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายจักสามารถขึ้นมาเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากกว่าได้หรือไม่ นี่จะกลายเป็นสิ่งที่ตัดสินอนาคตของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ”

**การที่ ไบเดน โทรศัพท์ถึง สี สามารถกลายเป็น “ตัวกำหนดทิศทางแนวโน้ม” ขึ้นมาได้เนื่องจากมันแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีความปรารถนาที่จะผลักดันสายสัมพันธ์ทวิภาคีให้ก้าวไปข้างหน้าในทิศทางซึ่งเป็นบวกเพิ่มขึ้น โดยที่มันก็จะกลายเป็นการ “วางรากฐานสำหรับการติดต่อกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า”

**ต้องยอมรับกันว่า มีแรงต่อต้านจากพวกแนวคิดแข็งกร้าวผู้ซึ่งจะสร้างอุปสรรคเครื่องกีดขวางอันใหญ่โตมหึมาเอาไว้ในเส้นทางแห่งความพยายามซ่อมแซมแก้ไขความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯมีอยู่กับจีน ทว่าตรงนั้นแหละที่ “ไบเดนสามารถแสดงออกซึ่งจินตนาการของเขา และนำพาความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้ให้กลับเข้าสู่เส้นทางอันถูกต้องแห่งกระบวนการกลับคืนสู่ภาวะปกติ”

**ไบเดนนั้น “กำลังเผชิญแรงกดดันภายในประเทศให้หลีกเลี่ยงจากการเข้าใกล้ชิดจีนมากเกินไป” กระนั้น เขาก็ยังคงโทรศัพท์ถึง สี อยู่ดีซึ่งสาธิตให้เห็นถึงความปรารถนาของเขาที่จะปรับปรุงสายสัมพันธ์และที่จะนำเอาความแตกแยกไปกันคนละทาง เข้ามาอยู่ใต้การควบคุม “มันเป็นสัญญาณที่ดีซึ่งแสดงว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีจะไม่เลวร้ายเสื่อมโทรมลงไปอีก และจะไม่ปั่นป่วนเคว้างคว้างจนควบคุมกันไม่ได้”

**อย่างที่สามารถคาดหมายกันได้อยู่แล้ว ไบเดนได้หยิบยกเอาเรื่องฮ่องกง, ไต้หวัน, และซินเจียง ขึ้นมาพูด“ทว่าไม่เหมือนกับผู้ดำรงตำแหน่งคนก่อนหน้าเขาไบเดนแสดงความปรารถนาที่จะนำเอาความแตกแยกไปกันคนละทางเหล่านี้เข้ามาอยู่ใต้การควบคุม โดยผ่านการสนทนาพูดจากันแทนที่จะประกาศมาตรการแซงก์ชั่นใส่จีนตามอำเภอใจฝ่ายเดียว นี่แสดงถึงไมตรีจิตของไบเดนเมื่อมาถึงเวลาที่ต้องป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์เสื่อมทรามเลวร้ายลงไปอีก”

**เพื่อเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งของไมตรีจิต เมื่อวันอังคาร (9 ก.พ.) ไบเดนได้ยกเลิกคำสั่งฉบับหนึ่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำหนดให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆของสหรัฐฯต้องรายงานเปิดเผยการที่พวกเขาเข้าเป็นหุ้นส่วนร่วมมือกับสถาบันขงจื๊อ กระนั้นในวันรุ่งขึ้น เขาก็ยังคงสั่งการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจของกระทรวงกลาโหมขึ้นมาเป็นที่ชัดเจนว่า คณะบริหารไบเดนกำลังใช้ยุทธศาสตร์ “วิธีการแบบไม้อ่อนและไม้แข็งผสมผสานกัน” โดยที่ความร่วมมือกันจะขยายตัวไปได้ทว่าจุดยืนอันแข็งกร้าวต่อจีนก็จะยังมีน้ำหนักมากกว่า

พิจารณากันเป็นภาพรวม พวกผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายจีนกำลังดำเนินการประเมินผลอย่างชนิดสอดคล้องกับความเป็นจริง สี ได้เสนอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่โควิด-19, การส่งเสริมสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว, และการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค

สี ยังเสนอให้รื้อฟื้นกลไกการสนทนากันที่มีอยู่อย่างหลากหลากระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน จีนยังกำลังเฝ้ามองอย่างใกล้ชิดว่า เมื่อสหรัฐฯเผชิญกับความเสี่ยงด้านภาวะเงินเฟ้อและการขาดดุลงบประมาณอย่างบานเบิกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่ต้องเอ่ยถึงความท้าทายต่างๆทางเศรษฐกิจในระยะยาวซึ่งรออยู่ข้างหน้าคณะบริหารไบเดนจะใช้วิธีการเช่นใดจึงจะสามารถระดมเม็ดเงินลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและในด้านอื่นๆซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเหลือเกินสำหรับการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา (ดูเพิ่มเติมได้ที่http://www.xinhuanet.com/english/2021-02/11/c_139738016.htm)

จีนวาดหวังว่า การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นในที่สุดแล้วย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นการเปิดไปสู่ “ความเป็นได้ต่างๆ” –ถ้าหากจะขอยืนคำพูดของไบเดนมาใช้ คำเตือนเพียงประการเดียวของฝ่ายจีนก็คือ ฝ่ายสหรัฐฯควรต้องเคารพสิ่งที่จีนถือเป็นผลประโยชน์แกนหลักของตน และ “กระทำอย่างสุขุมรอบคอบ” ด้วยความถูกต้องเหมาะสม ทั้งในเรื่องคำถามไต้หวัน และประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องพัวพันกับฮ่องกง, ซินเจียง, และอื่นๆ ซึ่งถือเป็นกิจการภายในของจีน และให้ความใส่ใจแก่อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน

ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น