xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 14) เมื่อเงินของพระมหากษัตริย์ถูกดึงมาใช้ในธุรกิจของนักการเมือง / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลุ่มการเมืองบางส่วนที่มีรากฐานมาจากคณะราษฎร นอกจากจะมีการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ บริษัทกึ่งราชการ เพื่ออุปถัมภ์พวกพ้องแล้ว ยังได้มีการก่อตั้งธุรกิจของพวกพ้องเองโดยตรงขึ้นมาอีกด้วย เช่น ในปี พ.ศ.2482 มีการก่อตั้งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, ในปี พ.ศ. 2483 ได้มีการก่อตั้ง บริษัท ไทยนิยมประกันภัย, ในปี พ.ศ. 2484 ก่อตั้งธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทย เป็นต้น [1]

อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง คือ ในขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายชาตินิยม และต้องการที่จะลดบทบาทของพ่อค้าชาวจีนในหลายกิจการอย่างต่อเนื่องในหลายกิจการ แต่ก็ได้ปรากฏว่านักการเมืองซึ่งเป็นอดีตผู้ก่อการในคณะราษฎรหลายคน ก็ได้ไปลงทุนประกอบการค้ากับพ่อค้าชาวจีนเสียเอง

ตัวอย่างเช่น บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัดโดยนายวิจิตร ลุลิตานนท์ได้ร่วมกับนายโล่วเตี๊ยกชวนบูลสุข,นายตันจิวเก่ง,นายหวั่งหลีและนายเชวงเคียงศิริ[2],[3] บริษัท สากลการค้า จำกัด มีพลโทจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ร่วมกับนายเอื้อนกำปั่นทอง,นายประสิทธิ์พุ่มชูศรี,นายจุลินทร์ล่ำซำ,และนายมาบูลกุลเป็นต้น[2],[4]

นอกจากนี้พ่อค้าชาวจีนยังคงนิยมประเพณีทำการค้าที่มีมาแต่เดิม คือ การพึ่งพิง หรืออาศัยผู้ปกครองที่มีอำนาจเป็นผู้อุปถัมภ์ในธุรกิจการค้าของตนซึ่งก็คือคนในรัฐบาลขณะนั้น เช่น เมื่อปี พ.ศ.2489 นายจุลินทร์ ล่ำซำ ได้เชิญ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการบริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด[2],[5] และก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2488 นายจุลินทร์ ล่ำซำ ก็ได้เชิญอดีตผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ คือ นายทองเปลว ชลภูมิ, นายสงวน จูฑะเตมีย์, นายสวัสดิ์ โสตถิทัต ไปป็นกรรมการของธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น[2],[6]

ในขณะที่กลุ่มนักการเมืองได้รับผลประโยชน์จากพ่อค้าชาวจีนทั้งหลายแล้ว ก็ยังได้ปรากฏธุรกิจของกลุ่มนักการเมืองได้ร่วมทุนกันเพื่อก่อตั้งบริษัทของกลุ่มตัวเองขึ้น และขยายผลกลายเป็นหน่วยธุรกิจเครือข่ายทั่วประเทศไทย โดยมีการนำเงินจากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มาร่วมหุ้นแต่เพียงส่วนน้อย และได้เงินกู้จากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์เป็นส่วนใหญ่เพื่อเป็นเงินทุนให้กับกิจการของนักการเมืองขยายหน่วยธุรกิจเครือข่ายทั่วประเทศด้วย

นั่นก็คือ“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”!!!!

ในปี พ.ศ. 2482 ในขณะที่รัฐบาล “หลวงพิบูลสงคราม”กำลังรณรงค์นโยบายรัฐนิยมภายใต้ลัทธิชาตินิยมนั้นกลุ่มนักการเมืองซึ่งเป็นอดีตผู้ก่อการในคณะราษฎร ได้ก่อตั้งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000บาทในจำนวนนี้กลุ่มนักการเมืองซึ่งมาจากคณะราษฎรถือหุ้นร้อยละ 70 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 เป็นเงินลงทุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [1],[7]

โดยในขณะที่มีการลงทุนในกิจการบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ยังทรงเป็นยุวกษัตริย์และประทับอยู่ต่างประเทศ ประกอบกับในเวลานั้นได้มีการตราพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งประกาศบังคับใช้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480แล้วสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงอยู่ในความควบคุมของกระทรวงการคลัง ซึ่งในขณะนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยมีนายชุณห์ ปิณฑานนท์อดีตผู้ก่อการคณะราษฎรเป็นผู้อำนวยการ[1]

คณะกรรมการชุดแรกของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด มาจากผู้ที่เคยเป็นผู้ก่อการในคณะราษฎรทั้งสิ้น มีหลวงเชวงศักดิ์สงครามเป็นประธานและมีกรรมการประกอบไปด้วยพลโทประยูร ภมรมนตรี,นายตั้ว ลพานุกรม, พันตรีขุนนิรันดรชัย, นายเล้ง ศรีสมวงศ์, นายวิลาศ โอสถานนท์, นายชุนห์ ปิณฑานนท์, เรือเอกวัน รุยาพร, พันเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์
โดยในจำนวนนี้มีกรรมการ 5 คนจาก 9 คน เป็นรัฐมนตรีที่กำลังบริหารประเทศอยู่ในขณะนั้นด้วยได้แก่หลวงเชวงศักดิ์สงคราม,พลโทประยูรภมรมนตรี,นายวิลาศโอสถานนท์,และพันเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์ทั้งนี้บริษัทไทยนิยมพาณิชย์จำกัดมีวัตถุประสงค์ตามที่ปรากฏในหนังสือบริคนสนธิของบริษัทดังต่อไปนี้คือ

ก. ทำการค้าสรรพสินค้าทุกชนิด เช่น เครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ ตลอดจนการขายปลีกและขายส่ง

ข. รับทำการส่งสินค้าจากต่างประเทศทุกชนิด และรับส่งสินค้าในประเทศออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
ฯลฯ[1],[7]

ทั้งนี้รัฐบาลชาตินิยมได้เสนอมาตรการที่จะส่งเสริมให้การค้าภายในประเทศแปรจากมือของชาวต่างประเทศให้มาตกอยู่ในมือคนไทย[1],[8] ทั้งยังต้องการที่จะฝึกฝนให้คนไทยเกิดความชำนิชำนาญทางการค้า และจะเผยแพร่สินค้าพื้นเมืองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางอีกด้วย[1],[9] ฉะนั้นคณะราษฎรจึงได้ก่อตั้งบริษัทพาณิชย์จังหวัด (หรือที่เรียกว่าบริษัทจังหวัด) ขึ้นตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ

โดยในการดำเนินการขั้นแรกรัฐบาลได้มอบหมายให้บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทพาณิชย์จังหวัดต่างๆ ร้อยละ 51 โดยไม่ต้องลงทุนเอง เพราะ“ใช้เงินที่กู้จากสำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์”ส่วนหุ้นที่เหลือจะเปิดโอกาสให้ราษฎรสัญชาติไทยในท้องที่จังหวัดนั้นเข้าจองหุ้นได้แต่ต่อมาดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทพาณิชย์จังหวัดแทน[1],[10] ซึ่งโดยทั่วไปแล้วประธานกรรมการบริษัทแต่ละจังหวัดจึงมักจะเป็นข้าหลวง และข้าราชการของจังหวัดนั้นๆเป็นกรรมการ[1], [11]

เพื่อการนี้ รัฐบาลได้ให้คณะกรรมการของจังหวัดต่างๆ ดำเนินการชักชวนราษฎรให้เข้าจองหุ้นและก่อตั้งบริษัทจังหวัดขึ้นทั่วทุกจังหวัด[1],[12] ผลของการรณรงค์เพียงชั่วระยะเวลาประมาณ 2 ปี บริษัทจังหวัดก็สามารถก่อตั้งได้ทั่วประเทศถึง 67 จังหวัดในปี พ.ศ. 2484 ยกเว้นเพียงจังหวัดพระนคร ธนบุรี และแม่ฮ่องสอนเท่านั้น [1],[11]

การที่“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”ได้ถูกก่อตั้งมาในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามแต่ก็เป็นกิจการที่ผู้ก่อการของคณะราษฎรได้รวมตัวกันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายการเมืองจึงย่อมเป็นผู้กุมสภาพในอำนาจการบริหารทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8ทรงเป็นยุวกษัตริย์ที่ประทับอยู่ต่างประเทศอำนาจการบริหารเงินทุนของสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ย่อมตกอยู่ภายใต้อำนวยของฝ่ายการเมืองเช่นกัน

และเมื่อ“บริษัทจังหวัด”ถูกจัดตั้งขึ้นโดยให้“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”ถือหุ้นใหญ่เกินครึ่งหนึ่งอำนาจของบริษัทจังหวัดจึงย่อมถูกกำหนดตัวผู้บริหารและทิศทางจากผู้มีอำนาจใน“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”เท่านั้น ผู้ถือหุ้นรายย่อยย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายและเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายในบริษัทจังหวัดได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”ได้ลงทุนใน “บริษัทจังหวัด”ในจังหวัดต่างในสัดส่วนหุ้นร้อยละ 51ไม่ต้องใช้เงินของตัวเองแต่เป็นการใช้“เงินกู้”จากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ฝ่ายเดียวนั้นกลายเป็นฐานทุนให้ฝ่ายการเมืองมีอำนาจในเครือข่าย“บริษัทจังหวัด” ทั่วประเทศไทยเหนืออำนาจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องใช้เงินของฝ่ายนักการเมืองเพิ่มเติมอีกแต่ประการใด

คำถามมีอยู่ว่าสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยกว่าคณะฝ่ายการเมืองใน “บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด” แต่กลับต้องเป็นฝ่าย “ปล่อยเงินกู้ฝ่ายเดียว” เพื่อไปลงทุนในบริษัทจังหวัดซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด” อันกิจการส่วนตัวของโดยเสียงข้างมากของคณะนักการเมืองในยุคนั้น มีความเป็นธรรมในทางธุรกิจจริงหรือไม่

เพราะถ้าหาก “บริษัทจังหวัด” จะมีการขาดทุนหรือทุจริตจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือแม้ไม่มีการทุจริตแต่มีการใช้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองมากเกินสมควร
จะมีหลักประกันใดที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์จะเป็นฝ่ายทวงหนี้หรือได้รับการปันผลตามความเหมาะสมอย่างแท้จริง เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการซึ่งมาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรในระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิของคณะ คือมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 จำนวนครึ่งหนึ่ง ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเอง และเป็นฝ่ายเดียวกันกับผู้ถือหุ้นที่เป็นฝ่ายรัฐบาลเอง อีกทั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งก็เป็นฝ่ายการเมืองอีกเช่นกัน

ในขณะที่“ขุนนิรันดรชัย”ซึ่งเป็นราชเลขานุการก็เป็นผู้หาผลประโยชน์และส่งเงินเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับนายกรัฐมนตรีและอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามด้วย [13],[14]

และเนื่องด้วยการที่เงินทุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องถูกฝ่ายการเมืองดึงมาลงทุนในกิจการของกลุ่มนักการเมืองใน“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”อีกทั้งยังต้องปล่อยเงินกู้ให้กับ“บริษัทจังหวัด”ซึ่งเป็นบริษัทลูกโดยไม่มีอำนาจบริหารมากถึง 67จังหวัดดังนั้นจึงต้องใช้“เงินกู้อย่างมหาศาล”จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงเวลาที่ต้องใช้เงินจากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มาลงทุนทั้งในบริษัท“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด” รวมถึงการนำเงินจากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไปปล่อยกู้เพื่อการลงทุนก่อตั้ง “บริษัทจังหวัด” จำนวน 67 จังหวัดซึ่งเป็นบริษัทลูกของ“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”คือช่วงเวลา ปี พ.ศ. 2482-2484

และช่วงเวลา พ.ศ.2482-2484 ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาล“หลวงพิบูลสงคราม”โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยที่ 1และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นจำเลยที่ 2ต่อศาลแพ่งลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 และยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้องในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2482

โดย คดีดังกล่าวนี้มีศาลแพ่งคำพิพากษาให้สมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยที่ 1 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินถึงวันพิพากษารวมมูลค่าและดอกเบี้ยถึงวันพิพากษาเป็นเงินทั้งสิ้น6,272,712 บาท 92 สตางค์เมื่อวันที่ 30กันยายนพ.ศ. 2484 [15]

อย่างไรก็ตามในคดีนี้ได้ปรากฏว่า“หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ทำการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยการโยกย้ายอธิบดีศาลแพ่ง[16] ในขณะเดียวกันได้มีการนำพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 บังคับใช้ย้อนหลังเพื่อเอาผิดอายัด ยึดทรัพย์ และยึดวังของสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทั้งๆ ที่ทรงใช้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในขณะที่ทรงยังดำรงตำแหน่งฐานะพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีของประเทศไทยจึงย่อมมีสิทธิ์ใช้ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ได้เพราะมิใช่เป็นทรัพย์สินของรัฐบาล

อย่างไรก็ตามเมื่อ“บริษัทจังหวัด”จะเป็นศูนย์กลางของการค้าขนาดใหญ่ที่สุดของแต่ละจังหวัดกล่าวคือบริษัทจังหวัดจะเป็นแหล่งรับซื้อพืชผลและสินค้าอุตสาหกรรมในครัวเรือนทุกประเภทเป็นแหล่งขายสินค้าจำเป็นทุกชนิดเป็นเอเย่นต์ส่งสินค้าให้แก่ร้านค้าย่อยๆที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นและเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตอุตสาหกรรมในครัวเรือนของแต่ละจังหวัดอีกด้วย[1],[10]

ในส่วนของสัมพันธ์ทางการค้า ระหว่างบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดกับบริษัทจังหวัดนั้นนักการเมืองผู้ถือหุ้นกำหนดให้บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดเป็นตัวแทนติดต่อสั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาให้บริษัทต่างๆจำหน่ายส่วนบริษัทจังหวัดต่างๆก็ส่งพืชผลทางการเกษตรและสินค้าพื้นเมืองทั้งหมดให้แก่บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดเป็นตัวแทนส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ [1],[9]

หากสามารถปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลก็จะเป็นการขจัดอิทธิพลของพ่อค้าคนกลางและพ่อค้าชาวต่างประเทศได้ แต่โดยสาระของการดำเนินงานแล้ว ก็เป็นแต่เพียงการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากพ่อค้าชาวจีนมาเป็นนักการเมืองซึ่งเคยเป็นผู้ก่อการของคณะราษฎรเท่านั้นเอง[1]

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ผู้เขียนทุนนิยมขุนนางไทยพ.ศ. 2475-2504ได้ให้ความเห็นวิเคราะห์เอาไว้เมื่อปีพ.ศ. 2526ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อพิจารณาบทบาทของ“บริษัทไทยนิยมพาณิชย์จำกัด”แล้วก็มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับพระคลังสินค้าในสมัยเดิมเป็นอย่างมากแต่เดิมนั้นพระมหากษัตริย์ใช้เจ้าเมืองต่างๆและบรรดาเจ้าขุนมูลนายเป็นกลไกในการรวบรวมผลผลิตส่วนเกินของสังคมจากไพร่และทาสมาไว้ที่พระคลังสินค้าเพื่อนำไปใช้ในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างประเทศ

ใน ”ยุคประชาธิปไตย”คณะราษฎรก็ใช้ข้าหลวงนายอำเภอและข้าราชการของแต่ละจังหวัดเป็นกลไกการวบรวมผลผลิตของสังคมจากชาวนา-ชาวไร่มาไว้ที่บริษัทไทยนิยมพาณิชย์จำกัดเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศเช่นเดียวกัน

ข้อแตกต่างอยู่ที่ว่าในขณะที่พระมหากษัตริย์ทรงเก็บส่วยอย่างเปิดเผยแต่คณะราษฎรต้องใช้การตั้งบริษัทซึ่งเป็นวิธีการที่แยบยลและอำพรางสูงกว่าแต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นมีค่าอันเดียวกันคือส่วนเกิน(Surplus)”[17]

นโยบายการค้าเสรีนิยมที่มีผลกำไรเป็นแรงจูงใจในการประกอบการ ช่วยกระตุ้นให้ชนชั้นนายทุนมีจิตใจแห่งความมานะพยายามที่จะปรับปรุงเทคนิคการผลิต การบริหารงานและการบริการลูกค้าอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่สำหรับบริษัทจังหวัดที่บริหารงานโดยบุคคลที่อยู่ภายใต้ระบบราชการ ซึ่งเป็นองค์กรทางการปกครองที่มีอำนาจทางการเมือง กลับไม่สามารถยึดกุมปรัชญาแห่งการประกอบธุรกิจของชนชั้นนายทุนได้

ข้าราชการเหล่านี้ยังมีสำนึกของการเป็น “ผู้ปกครอง”ที่นิยมการข่มขู่ราษฎรอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นในการดำเนินงานของบริษัทจังหวัด จึงปรากฏว่า ข้าราชการมักจะข่มขู่และบังคับราษฎรที่เป็นลูกค้าของตน จนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรทั่วไป ดังที่หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษได้เคยรายงานวิธีการดำเนินงานของบริษัทจังหวัดเอาไว้ว่า:

“การดำเนินงานของบริษัทจังหวัดหลายจังหวัดได้ผันแปรไปจากประสงค์เดิมของทางราชการโดยแทนที่ราษฎรที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าขายจะได้รับความสะดวกสบายกลับมาได้รับความลำเค็ญในการค้าขึ้นเช่นถูกคุกคามมิให้นำสินค้าไปจำหน่ายให้แก่ใครนอกจากบริษัทพาณิชย์จังหวัด

และหากจะติดต่อค้าขายกับบริษัทโดยตรงก็ถูกกดราคาโดยเฉพาะสำนักงานนี้ก็เคยได้รับการร้องทุกข์ทำนองนี้ครั้งหนึ่งมาจากพ่อค้าเกลือจังหวัดสมุทรสาครอีกครั้งหนึ่งจากพ่อค้ามะพร้าวจังหวัดสมุทรสงคราม

และหนังสือพิมพ์บางฉบับเมื่อเร็วๆนี้ก็เคยได้นำจดหมายร้องทุกข์ของเจ้าของไร่ยาสูบในจังหวัดอุตรดิตถ์ลงพิมพ์ข้อความที่ร้องมาคงเป็นไปในทำนองเดียวกันทั้งสิ้นคือไม่ได้รับความพึงพอใจในการติดต่อกับบริษัทพาณิชย์จังหวัดซึ่งมีท่านพวกข้าราชการเป็นผู้ถือบังเหียนอยู่

จดหมายร้องทุกข์ที่มาถึงเราครั้งหลังคือคำร้องทุกข์ของราษฎรที่ค้ามะพร้าวที่จังหวัดสมุทรสงครามเราได้นำเสนอไปยังหลวงเชวงศักดิ์สงครามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้ควบคุมกิจการของบริษัทเหล่านี้ซึ่งการสอบสวนในเวลาต่อมาปรากฏว่าทางการของบริษัทได้กะเกณฑ์ให้ราษฎรนำเอามะพร้าวมาขายให้แก่บริษัทของตนเท่านั้นถึงแม้ผู้ขายจะไม่พอใจราคาที่บริษัทตั้งให้ก็จะขายให้แก่คนอื่นไม่ได้[8],[17]

รัฐบาลจึงได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว ในที่สุดแล้วหลวงเชวงศักดิ์สงครามต้องยอมรับกับหนังสือพิมพ์ว่า
“การใช้อิทธิพลและการหาเศษหาเลยได้มีอยู่เป็นความจริง”[8],[17]

อย่างไรก็ตามปรากฏว่ารัฐบาลก็มิได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในเรื่องนี้มากนัก บริษัทจังหวัดมา “เลิกกิจการ”เอาในปี พ.ศ. 2484 เพราะมีสาเหตุมาจากความขาดแคลนสินค้าอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะสงครามโลกโดยตรง มิใช่เพราะเหตุแห่งความเดือดร้อนของราษฎรแต่อย่างใด[17],[18]

ซึ่งการเลิกกิจการของบริษัทจังหวัดซึ่งได้เงินทุนมาจากบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ซึ่งใช้เงินกู้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น ไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่าได้มีการคืนเงินกู้จาก 67 จังหวัดให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือไม่และด้วยอัตราดอกเบี้ยเท่าใด หรือไม่ได้มีการคืนเงินกู้แต่ประการใด

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2484 ที่บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ตัดสินใจเลิกกิจการ “บริษัทพาณิชย์จังหวัด”ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ก็เป็นเวลาเดียวกัน ที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามซึ่งชนะคดีการฟ้องร้องสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2484 แต่กรมบังคับคดีได้ “เปลี่ยนใจ”ยุติการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ได้ยึดมาจากคดีการฟ้องร้องสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จนางเจ้ารำไพพรรณีในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นเวลา 9 วันภายหลังจากการที่รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484

แม้ว่าบริษัทพาณิชย์จังหวัดจะได้เลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2484 แต่ถึงกระนั้นบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ก็ยังมีผลกำไรจากการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ [17]

ทั้งนี้ปรากฏข้อมูลว่าบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดนั้นนอกจากจะมีกรรมการที่เป็นรัฐมนตรีถึง 5 คนจาก 9 คนแล้ว ก็ยังมีกรรมการที่อยู่ 2 บริษัท คือทั้งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด และบริษัท ไทยนิยมประกันภัยจำกัดในคราวเดียวกันถึง 8คนได้แก่พันเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (รัฐมนตรี),นายวิลาศ โอสถานนท์ (รัฐมนตรี),พันโทประยูร ภมรมนตรี (รัฐมนตรี),นายตั้ว พลานุกรม (รัฐมนตรี),พันตรีขุนนิรันดรชัย (รับราชการ),นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (รับราชการ) ,นายชุณห์ ปิณฑานนท์(รับราชการ),และเรือเอกวัน รุยาพรร.น. (รับราชการ) [17],[19],[20]ซึ่งทำให้บริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด เอื้อประโยชน์สนับสนุนกิจการของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดได้

ในขณะเดียวกันกรรมการ 2 คนในบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดก็เป็นกรรมการธนาคารของรัฐด้วย คือธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งจัดตั้งด้วยเงินทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้แก่นายวิลาศ โอสถานนท์(รัฐมนตรี)และนายเล้ง ศรีสมวงศ์(รับราชการ) [17],[19]​,[21] กิจการธนาคารของรัฐจึงได้สนับสนุนกิจการของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัด เช่นเดียวกัน

การที่บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัด มีเครือข่ายกิจการธนาคารของรัฐและประกันภัยของพวกตนเอง คอยให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก จึงช่วยให้บริษัทไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดอยู่ในสถานะที่มั่นคงมาก ประกอบกับแบบแผนการดำเนินงานของบริษัทไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดที่อาศัยการอิงระบบราชการเป็นสำคัญ โดยมีเครือข่ายบริษัทจังหวัดเป็นกลไกบริวารทำงานให้อีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่โดยนักการเมืองยังได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลให้เป็นผู้ผูกขาดจำหน่ายสุราของกรมสรรพสามิตอีกด้วย[17],[22]

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นได้ส่งผลทำให้ระหว่างปี พ.ศ. 2483-2492 บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัด ได้มีผลประกอบการมีกำไรสุทธิต่อเนื่องกันถึง 10 ปี จึงมีการนำเงินตอบแทนคณะกรรมการบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ เงินปันผล, โบนัส, เบี้ยประชุมประจำเดือน โดยปรากฏเป็นบันทึกรายงานการประชุมประจำปีของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ดังนี้ [23],[24]

พ.ศ. 2483 กำไรสุทธิ 112,017 บาท (ไม่ปรากฏเงินผลตอบแทนคณะกรรมการ)
พ.ศ. 2484 กำไรสุทธิ 502,649 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 160,000 บาท
พ.ศ. 2485 กำไรสุทธิ 658,342 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 450,342 บาท
พ.ศ. 2486 กำไรสุทธิ 748,640 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 233,000 บาท
พ.ศ. 2487 กำไรสุทธิ 1,189,448 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 350,000 บาท
พ.ศ. 2488 กำไรสุทธิ 851,346 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 230,000 บาท
พ.ศ. 2489 กำไรสุทธิ 692,274 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 100,000 บาท
พ.ศ. 2490 กำไรสุทธิ 101,945 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 50,000 บาท
พ.ศ. 2491 กำไรสุทธิ 461,809 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 200,000 บาท
พ.ศ. 2492 กำไรสุทธิ 352,867 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 200,000 บาท

อย่างไรก็ตามภาวะการตกต่ำของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2492ภายหลังจากนายปรีดี พนมยงค์ประสบความพ่ายแพ้จากการก่อกบฏวังหลวงพวกกบฏถูกปราบลงอย่างรวดเร็วและมีผู้เสียชีวิตและถูกคุมขังบางส่วนหนีไปอยู่ต่างประเทศและบางส่วนยังดำเนินบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดต่อไป

ในช่วงนี้เองที่เผ่า ศรียานนท์ผู้นำคนหนึ่งของคณะรัฐประหารปีพ.ศ. 2490ได้เข้าไปเป็นกรรมการบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดในปีพ.ศ. 2493[23],[24]เพื่อคอยควบคุมบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดไม่ให้เป็นอันตรายต่อรัฐบาลใหม่ ทั้งๆที่กิจการบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด เป็นกิจการที่ถือหุ้นโดยเอกชน

ส่วน ธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นกิจการของรัฐอันเกิดจากการลงทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งเคยเป็นแหล่งอุดหนุนทางการเงินของบริษัทฯ ก็ถูกเผ่า ศรียานนท์ โอนไปเป็นขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และกลายโอนหุ้นให้เป็นกิจการในบริษัทของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้สถาบันการเงินอื่นๆที่เคยเป็นของอดีตผู้ก่อการคณะราษฎรซึ่งอาจช่วยเหลือบริษัทได้ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารมณฑล, บริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด, ฯลฯ ก็ตกไปอยู่ในมือของคณะรัฐประหารจนหมดสิ้น

ด้วยเหตุผลนี้บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดได้เริ่มประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานซึ่งพลอยทำให้ธุรกิจการค้าของบริษัทเร่ิมฝืดเคืองมากยิ่งขึ้นผลที่ตามมาก็คือบริษัทกู้ยืมเงินได้เรียกชำระเงินคืน อีกทั้งงานชิ้นใหญ่ประมูลไม่ได้จึงต้องแยกบริษัทออกไปเป็นส่วนๆเพื่อให้แต่ละส่วนเลี้ยงตัวเองได้อันได้แก่แยกบริษัทไทยนิยมบางรักจำกัดทำการค้าสรรพสินค้าและแยกบริษัทไทยนิยมผ่านฟ้าจำกัดทำการจัดสถานที่ให้เช่าเหล่านี้เป็นต้น[23],[26]

โดยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2496 - 2505 บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ต้องกู้เงินเบิกเกินบัญชีมาแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จนมีภาวะทั้งขาดทุนสะสมและกู้เงินมากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ [23]

โดยในปี พ.ศ. 2497 ค่าดอกเบี้ย 599,652 บาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของค่าใช้จ่ายประจำปีจำนวน 1,765,703 บาท โดยมีภาระเงินกู้และเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารเป็นจำนวนเงิน 10,132,411 บาท

แต่ในปี พ.ศ. 2505 ค่าดอกเบี้ยได้เพิ่มเป็น 1,330,975 บาท คิดเป็นร้อยละ 79 ของค่าใช้จ่ายประจำปีจำนวน 1,695,210 บาท โดยมีภาระเงินกู้และเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารเพิ่มเป็นจำนวนเงิน 12,576,497 บาท [23]

ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายงานค่าดอกเบี้ยได้กลายเป็นรายจ่ายที่สำคัญที่สุดของบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดและเป็นปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งที่กำหนดให้บริษัทตกอยู่ภายใต้ภาวะการขาดทุนอย่างเรื้อรังโดยตลอดนอกจากนี้บริษัท ไทยนิยมบางรัก จำกัด และบริษัท ไทยนิยมผ่านฟ้า จำกัดก็ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนักเพราะค่าดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายที่มากเช่นเดียวกับบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดเช่นกัน[23],[27],[28] เพราะความจริงแล้วที่ผ่านมาบริษัทเหล่านี้อยู่ได้ด้วยอำนาจรัฐ ไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงในทางธุรกิจแบบเอกชนทั่วไป

ฉะนั้นบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด,บริษัท ไทยนิยมบางรัก จำกัดและบริษัท ไทยนิยมผ่านฟ้า จำกัดจึงต้องปิดกิจการไปในท้ายที่สุด[23]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง
[1] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 134-139

[2] สังศิต พิริยะรังสรรค์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 157-158

[3] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด, วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2485

[4] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัท สากลการค้า จำกัด, พ.ศ. 2486

[5] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด, พ.ศ. 2482

[6] สุภัทร สุคนธาภิรมย์, สัมภาษณ์ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2522, และ กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายนามคณะกรรมการชุดแรกของธนาคารกสิกรไทย พ.ศ. 2488

[7] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, พ.ศ. 2482

[8] หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ, วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2484

[9] หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ, วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2482

[10] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2521 หน้า 107-108

[11] หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ, วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2484

[12] หนังสือพิมพ์​สุภาพบุรุษ, ฉบับเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2492

[13]ผู้จัดการออนไลน์, ทายาท “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดากระทำมิบังควรสมัยร่วมคณะราษฎร 2475 เตือนเยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าเชื่อใครง่าย, เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2563 เวลา 13:43 น.
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000131996

[14] ผู้จัดการออนไลน์, คำสัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติมของพลโทสรภฏ นิรันดร, โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK, สัมภาษณ์เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยเปิดเผยเฉพาะครั้งที่ 1, ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้รอเวลาอันเหมาะสม)
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3727071230686152/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000133139

[15] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2482

[16] พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์) “บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ามาใหม่”, ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ พิมพ์ครั้งที่ 10, 1,000 เล่ม, พ.ศ. 2521 (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), เลขหมู่หนังสือ 915.9365 หน้า 61-65

[17] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 140-145

[18] ผาณิต รวมศิลป์,เรื่องเดิม, หน้า 111-112

[19] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด พ.ศ. 2483

[20] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด พ.ศ. 2483

[21] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม พ.ศ. 2483

[22] ผาณิต รวมศิลป์,เรื่องเดิม, หน้า 130

[23] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 147-156

[24] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด พ.ศ. 2483-2492

[25] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2493

[26] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, วันที่ 27 กุมภาพันธ์​พ.ศ. 2494

[27] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัทไทยนิยมบางรัก จำกัด พ.ศ.2493-2500
โดย บริษัทไทยนิยมบางรักจำกัดเร่ิมขาดทุนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2497ในระหว่างปีพ.ศ. 2497-2500บริษัทมียอดขาดทุนสุทธิประจำปีพ.ศ. 2497เท่ากับ 83,065บาท,พ.ศ. 2498ขาดทุนสุทธิ 1,382,236บาท,พ.ศ. 2499ขาดทุนสุทธิ 1,518,682บาทและพ.ศ. 2500ขาดทุนสุทธิ 557,632บาท
บริษัท ไทยนิยมบางรัก จำกัด ปี พ.ศ. 2496 จ่ายดอกเบี้ย 513,089 บาท, พ.ศ.2497 จ่ายดอกเบี้ย 550,202 บาท, พ.ศ. 2499 จ่ายดอกเบี้ยง 238,127 บาท, และ พ.ศ. 2500 จ่ายดอกเบี้ย 250,514 บาท

[28] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัทไทยนิยมผ่านฟ้า จำกัด พ.ศ.2494-2502
บริษัท ไทยนิยมผ่านฟ้า จำกัด เริ่มขาดทุนตั้งปี พ.ศ. 2501 โดยพ.ศ. 2497 บริษัทฯต้องชำระดอกเบี้ย 98,397 บาท, พ.ศ. 2498 ต้องชำระดอกเบี้ย 140,478 บาท, พ.ศ. 2499 ต้องชำระดอกเบี้ย 136,837 บาท, พ.ศ. 2500 ต้องชำระดอกเบี้ย 131,371 บาท, พ.ศ. 2501 ต้องชำระดอกเบี้ย 109,931 บาท
ค่าดอกเบี้ยเฉลี่ยของบริษัท ปี พ.ศ. 2497-2502 เท่ากับร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายอำนวยการในแต่ละปี
กำลังโหลดความคิดเห็น