เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องขออนุญาตชวนไปฟังการแถลงข่าวช่วงสิ้นปี ของผู้นำรัสเซีย ท่านประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” เอาไว้สักนิด เพราะนอกจากอาจถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดทางยุทธศาสตร์ของประเทศหมีขาว หรือความเป็นไปของ “แนวรบด้านยุโรปตะวันออก” ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ยังประกอบไปด้วยสีสันบรรยากาศ แห่งการ “ออกอาวุธโต้” นักข่าวฝรั่งชนิดดอกต่อดอก อันเป็นอะไรที่น่าซี๊ดๆ ซ๊าดๆ ซู๊ดๆ ซ๊าดๆ พอสมควร...
คือนักข่าวฝรั่งที่ว่า...ก็คือ “นายสตีฟ โรเซนเบิร์ก” ชาวอังกฤษเชื้อสายยิว ที่บรรพบุรุษเคยอพยพจากรัสเซียมาอยู่ในอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ.1894 แต่พอตัวเองโตๆ ขึ้นมาแถวใจกลางกรุงลอนดอน จบมหาวิทยาลัยพอหางาน หาการทำ ได้มั่งแล้ว ก็เลยกลับไปหาลำไพ่ ด้วยการเร่สอนภาษาปะกิตให้กับชาวรัสเซีย ณ มหาวิทยาลัย “Stankin” เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1991 หรือหลังจากจักรวรรดิสังคมนิยมโซเวียตได้ล่มสลายลงไปแล้ว จนกระทั่งจับพลัด-จับผลู ค่อยๆ เขยิบฐานะขึ้นมาเป็นคนแปลข่าวให้กับสำนักข่าว “CNBC” จนสามารถไต่เต้าขึ้นเป็นนักข่าวของสำนักข่าว “BBC” ที่ชอบโม้ ชอบคุย ว่าเต็มไปด้วยพวก “มืออาชีพ” อะไรประมาณนั้น เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1997 และหลังจากย้ายไปทำข่าวอยู่แถวๆ กรุงเบอร์ลินได้สักพัก ก็กลับมาประจำอยู่ที่สำนักข่าว “BBC” ประจำกรุงมอสโกมาโดยตลอด โดยได้ลุกขึ้นมา “โชว์พาว” หรือโชว์ความเป็นมืออาชีพ ด้วยการตั้งคำถามแบบค่อนข้างยั่วยวนกวนส้นตีนผู้นำรัสเซียอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ นั่นคือถามหาถึง “ความรับผิดชอบ” ของการอยู่ในฐานะผู้ “จุดชนวนสงครามเย็นยุคใหม่” ไปจนถึงเรื่องการวางยาพิษสายล๊ง สายลับรัสเซีย ไปโน่นเลย...
และก็อาจด้วยเหตุนี้นี่เอง...ที่ทำให้ผู้นำรัสเซีย เลยต้องออกอาวุธโต้แบบดอกต่อดอก คือนอกจากจะย้ำถึง “ความรับผิดชอบ” ต่อการอยู่ดี-กินดี ของบรรดาปวงชนชาวรัสเซียในแบบ...“ผมคงต้องทำทุกสิ่งทุกอย่าง ภายใต้อำนาจของผม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขาเหล่านั้น” ยังได้ลากยาวไปถึงฉากเหตุการณ์ที่ถูกเหมารวมว่าเป็น “สงครามเย็นยุคใหม่” คือฉากเหตุการณ์แถวๆ คาบสมุทรไครเมีย ที่กำลังร้อนเร่า ร้อนแรงสุดๆ ใน “แนวรบด้านยุโรปตะวันออก” โดยได้กล่าวถึงการตัดสินใจของบรรดาปวงชนชาวไครเมีย ผ่านกระบวนการลงมติตามแนวทางประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ในอันที่จะผนวกตัวเองรวมเข้ากับรัสเซีย ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี ค.ศ. 2014 พร้อมกับตั้งคำถามกลับไปว่า “แต่แล้วทำไม?...ประเทศตะวันตกถึงต้องแซงชั่นรัสเซียและชาวไครเมีย ทั้งๆ ที่เป็นการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระของผู้ที่เคยต้องการหลุดพ้นจากอำนาจเผด็จการโซเวียต อาจเพราะเราเคยได้ยินคำสัญญาว่า...นาโต...จะไม่ขยายอำนาจไปยังแถบตะวันออก แต่สุดท้าย...พวกคุณนั่นแหละ ที่ไม่ทำตามสัญญา พวกคุณที่ช่างฉลาดเหลือเกิน แต่ทำไมถึงได้คิดว่าเราโง่ไปได้ถึงปานนั้น” ไปจนกระทั่ง “ดังนั้น...เมื่อเปรียบเทียบกับพวกคุณแล้ว...เรายังน่าจะสะอาดกว่า (squeaky clean) เป็นไหนๆ” นี่...ต้องเรียกว่า ประมาณ “ควันออกหู” ทำนองนั้น...
แต่เหตุที่ทำให้ท่านประธานาธิบดี “ปูติน” ท่านหวิดๆ จะน็อตหลุด น็อตหลวม ขึ้นมาในการแถลงข่าวคราวนี้...อาจไม่ใช่แต่เฉพาะคำถามของนักข่าว “BBC” ที่พยายามยั่วยวนกวนส้นตีนอย่างเป็นระบบและเป็นกิจการเท่านั้น เพราะช่วงหลังๆ...ความร้อนแรงของ “แนวรบ” ด้านนี้ มันออกจะเอาเรื่อง-เอาราวยิ่งเข้าไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นการออกมากล่าวย้ำ ตอกย้ำของเลขาธิการนาโต “นายJens Stoltenberg” เมื่อไม่กี่วันมานี้ ถึง “ภัยคุกคามจากรัสเซีย” ที่ทำให้องค์กรพันธมิตรทางทหารแห่งแอตแลนติกเหนือ จำต้องเร่งเพิ่มศักยภาพและแสนยานุภาพในการรับมือกับรัสเซีย ไปจนตลอดถึงปี ค.ศ. 2030 เป็นอย่างน้อย การออกเอกสารทางยุทธศาสตร์ของ “US Navy’s new strategy” เมื่อช่วงวันพฤหัสฯ (17 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ที่ได้ระบุถึง “ความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้น” ของทั้งรัสเซียและจีนซึ่งอาจเป็นภัยต่อสันติภาพและความรุ่งเรืองของโลก ไปจนถึงการปฏิบัติการทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ ในโรมาเนีย ที่ได้ทดสอบการยิงขีปนาวุธเข้ามาแถบทะเลดำ การส่งเรือรบลาดตระเวนเข้ามาในน่านน้ำรัสเซีย โดยอ้างว่าเป็นน่านน้ำสากล หรือแม้กระทั่งหัวหน้าเสนาธิการทหารอังกฤษ “นายNick Carter” ที่ได้ออกมาแถลงข่าวถึงการล่วงล้ำน่านน้ำอังกฤษของกองเรือรัสเซีย โดยไม่พยายามกล่าวถึงการล่วงล้ำของเครื่องบินอังกฤษเข้าไปน่านฟ้ารัสเซีย...ฯลฯ ฯลฯ...
อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้นี่แหละ...ที่อาจเป็นเหตุให้ผู้นำรัสเซียหวิดน็อตหลุด น็อตหลวม ในระหว่างการแถลงข่าวประจำปี แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ภายใต้แรงกดดันที่มุ่งเข้าสู่รัสเซียในแต่ละด้าน ประธานาธิบดี “ปูติน” ท่านก็เลยอดไม่ได้ที่จะต้อง “โชว์พาว” ไว้มั่ง ด้วยการย้ำถึงความมั่นอก มั่นใจ ในความเป็น “มหาอำนาจทางทหาร” ของรัสเซีย ที่แม้จะมีงบประมาณกลาโหมอยู่เพียงแค่อันดับ 6 ของโลก แต่ด้วย “พลังแห่งมันสมอง” และ “ความเชี่ยวชาญของผู้คนของเรา” ทำให้รัสเซียพร้อมแล้วที่จะรับมือกับ “การแข่งขันด้านอาวุธ” กับบรรดาประเทศตะวันตก หลังจากที่ “การพักรบชั่วคราว” ถือเป็นอันสิ้นสุดลงไปแล้ว นับจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2019 หรือหลังจากที่รัฐบาลอเมริกันได้ฉีกสนธิสัญญาจำกัดอาวุธพิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Force Treaty-INF) ที่อดีตประธานาธิบดี “โรนัลด์ เรแกน” ของสหรัฐฯ และอดีตประธานาธิบดี “มิคฮาอิล กอร์บาชอฟ” แห่งโซเวียต ได้เคยร่วมลงนามเอาไว้เมื่อปี ค.ศ. 1987 อันถือเป็นช่วงเวลาที่ประธานาธิบดี “ปูติน” ท่านเลยสรุปว่า “การแข่งขันทางอาวุธได้เริ่มต้นตั้งแต่บัดนั้น...”
และภายใต้บรรยากาศที่ประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ เป็นผู้เริ่มต้นก่อน หรือเป็นผู้ “จุดชนวนสงครามเย็นยุคใหม่” ขึ้นมาเป็นอันดับแรก ด้วยการ “ทรยศ” ต่อสนธิสัญญาที่ตัวเองเคยให้ไว้นี่เอง...ดังนั้น “แต่ละประเทศจึงจำต้องสร้างร่มเงาแห่งการปกป้องตัวเอง ไม่ว่าคุณและเรา ต่างต้องมีระบบป้องกันขีปนาวุธ หรืออาวุธที่ฝ่ายตรงข้ามไม่อาจขัดขวางและป้องกันได้ และนั่นเอง...ที่ทำให้รัสเซียถึงได้มีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก รวมทั้งจรวดร่อนอย่าง Avangard เพื่อตอบสนองต่อการที่สหรัฐฯ ได้พยายามนำเอาระบบป้องกันขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้ แต่สิ่งเหล่านั้น...ล้วนแล้วแต่มีศักยภาพเท่ากับศูนย์ สำหรับการป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเรา...” นี่...ต้องเรียกว่า ฟังแล้วขนหัวลุก ขนคอตั้งอยู่พอสมควร...
เพราะนับตั้งแต่ช่วงระยะเวลาแห่งการ “พักรบชั่วคราว” ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว...ว่ากันว่ารัสเซียได้เริ่มทดสอบขีปนาวุธ “Hypersonic Zircon missile” หรือ “3M22 Zircon Hypersonic missile” ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 8 ครั้งซ้อนๆ จนพอที่จะมั่นอก มั่นใจ ว่าเป็นอาวุธที่ฝ่ายตรงข้ามมิอาจป้องกันได้ หรือมีศักยภาพการป้องกันเท่ากับ “ศูนย์” นั่นเอง ความน่าเกลียด น่ากลัว น่าขนลุกขนพองของรัสเซีย จึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกนำมากล่าวขวัญกันอย่างครึกโครมในหมู่บรรดาประเทศตะวันตกในช่วงนี้ เพราะอาจโดยลักษณะทาง “ภูมิรัฐศาสตร์” ตั้งแต่ยุคโบร่ำโบราณมาแล้วนั่นแหละ ที่ผู้คนใน “จักรวรรดิรัสเซีย” มักรวมตัวกันอยู่เลยแถบเทือกเขาอูราลซะเป็นส่วนใหญ่ หรือเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของ “ความเป็นรัสเซีย” นั้น เชื่อมต่อ เชื่อมโยง อยู่กับบรรดาประเทศยุโรปทั้งหลายขณะพื้นที่เกือบ 75 เปอร์เซ็นต์ของประเทศด้านที่พ้นเทือกเขาอูราลไปอีกด้าน มีชาวรัสเซียอาศัยอยู่แค่ 22 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ จึงทำให้ “แนวรบด้านยุโรปตะวันออก” สำคัญเอามากๆ ต่อประเทศรัสเซียมาแต่อ้อน แต่ออก ความพยายามเข้ายุ่มย่าม ยุ่งเหยิงกับพื้นที่เหล่านี้ จึงอาจกลายเป็นการ “จุดชนวนสงคราม” กับรัสเซียขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ย่อมได้...
อีกทั้งโดย “สัญชาตญาณ” ของ “หมีขาว” แล้ว...ก็คงเป็นไปอย่างที่ “นายTim Marshall” เหยี่ยวข่าวชาวอังกฤษแท้ๆ โดยไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชาวยิวเอาเลยแม้แต่น้อย ได้บรรยายเอาไว้ในหนังสือเรื่อง “Prisoners of Geography” นั่นแหละว่า... “sometimes hibernating, sometimes growling, majestic, but ferocious” หรือ “บางครั้งก็จำศีล บางครั้งก็ลุกขึ้นมาคำราม เต็มไปด้วยพลังอำนาจ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ...ดุฉิบหาย!!!” อะไรประมาณนั้น ด้วยเหตุนี้...แนวรบด้านนี้จึงออกจะเป็นอะไรที่ค่อนข้าง “อ่อนไหว” เอามากๆ และคงต้องพยายามจับตาอย่างมิอาจกะพริบตา โดยเฉพาะในอนาคตนับจากปี ค.ศ. 2021 เป็นต้นไป...