xs
xsm
sm
md
lg

ข่มขวัญ! เรือดำน้ำรัสเซียโชว์ของยิงขีปนาวุธข้ามทวีป 4 ลูกรวด ท่ามกลางตึงเครียดสหรัฐฯ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำหนึ่งของรัสเซีย เมื่อวันเสาร์ (12 ธ.ค.) ประสบความสำเร็จในการยิงทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป 4 ลูก โชว์ความพร้อมของกองกำลังนิวเคลียร์ของพญาหมีขาว ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดกับสหรัฐฯ

กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า เรือดำน้ำ “วลาดีมีร์ โมโนมัค” แห่งกองเรือแปซิฟิก ทำการยิงขีปนาวุธ “บูลาวา” ต่อเนื่องอย่างรวดเร็วจากตำแหน่งใต้น้ำในทะเลโอคอตสค์ พร้อมเผยว่าหัวรบจำลองของขีปนาวุธพุ่งชนเป้าหมายที่กำหนดไว้ ณ สนามซ้อมรบในแคว้นอาร์คันเกลสก์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย กว่า 5,500 กิโลเมตร

“วลาดีมีร์ โมโนมัค” เป็นหนึ่งในเรือดำน้ำชั้นบอเรรุ่นใหม่ ที่สามารถบรรจุขีปนาวุธบูลาวาได้ 16 ลูก และรัสเซียมีเจตนาใช้มันเป็นแก่นกลางองค์ประกอบทางนาวีของกองกำลังนิวเคลียร์ของประเทศในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า หลังจากก่อนหน้านี้เรือดำน้ำรุ่นเดียวกันเคยทำการทดสอบแบบเดียวกันกับขีปนาวุธบูลาวา 4 ลูก ในปี 2018 การสาธิตราคาแพงที่แสดงถึงแสนยานุภาพในการป้องปรามทางนิวเคลียร์ของประเทศ ในกรณีที่ความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ปะทุขึ้น

เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซีย นำเสนอรายงานต่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ระบุว่า การทดสอบเมื่อวันเสาร์ (12 ธ.ค.) คือ การปิดฉากการซ้อมรบขนานใหญ่ของกองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์แห่งรัสเซีย ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เมื่อวันพุธ (9 ธ.ค.)


นอกเหนือจากการยิงดังกล่าว เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซียอีกลำยังได้ทำการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปจากทะเลแบเรนตส์, ทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปยิงจากภาคพื้น โดยเป็นการยิงจากฐานในเมืองเพลเซ็ตสก์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ส่วนเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ Tu-160 และ Tu-95 ก็ได้ปฏิบัติการยิงขีปนาวุธร่อนใสเป้าหมายบริเวณสนามซ้อมรบในอาร์กติก

รัสเซีย ยกระดับการซ้อมรบทางทหารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความตึงเครียดกับชาติะวันตก ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายดำดิ่งแตะระดับต่ำสุดในยุคหลังสงครามเย็น หลังจากมอสโกผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน

การทดสอบขีปนาวุธเป็นชุดในครั้งนี้มีขึ้นไม่ถึง 2 เดือน ก่อนที่สนธิสัญญาควบคุมอาวุธระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย หรือที่เรียกว่า New START จะหมดอายุลงในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ มอสโกและวอชิงตัน ได้พูดคุยหารือกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการขยายกรอบเวลา แต่จนถึงตอนนี้ยังล้มเหลวในการก้าวข้ามความเห็นต่าง

New START ลงนามในปี 2010 โดยผู้นำทั้งสองประเทศ ณ ขณะนั้น ได้แก่ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดี ดมิทรี เมดเวเดฟ แห่งรัสเซีย โดยมันจำกัดแต่ละประเทศห้ามมีหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครองเกินกว่า 1,550 ลูก ขีปนาวุธและระเบิดต่างๆ ไม่เกิน 700 ลูก และยังสามารถตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงของแต่ละฝ่ายได้

หลังจากทั้งมอสโกและวอชิงตันถอนตัวจากสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยปานกลาง 1987 สนธิสัญญา New START จึงเป็นข้อตกลงควบคุมอาวุธฉบับเดียวที่ยังเหลืออยู่ระหว่างสองชาติ ทำให้พวกผู้สนับสนุนควบคุมอาวุธ ส่งเสียงเตือนว่าการปล่อยให้ข้อตกลงใดๆ ที่ควบคุมกองกำลังนิวเคลียร์สหรัฐฯและรัสเซียหมดอายุลง จะก่อความเสียหายครั้งใหญ่แก่เสถียรภาพของโลก

(ที่มา: เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น