ลอยด์ ออสติน ซึ่งนำทหารสหรัฐฯ บุกอิรักในปี 2003 และเติบโตในสายงานจนก้าวเป็นผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางแห่งกองทัพอเมริกา ได้รับเลือกจากว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมที่เป็นคนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน คนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ ตามรายงานของสื่อมวลชนแดนลุงแซมเมื่อวันจันทร์ (7 ธ.ค.)
นายพล 4 ดาวปลดเกษียณวัย 67 ปี ซึ่งผ่านสงครามความขัดแย้งทั้งในอิรัก และอัฟกานิสถาน ได้รับเลือกเหนือตัวเต็งอย่าง มิเชล ฟลัวร์นอย อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ ท่ามกลางแรงกดดันที่มีต่อ ไบเดน ให้เสนอชื่อชนกลุ่มน้อยเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ในคณะรัฐบาลของเขามากกว่าที่ผ่านๆ มา
สื่อมวลชนหลายสำนัก รวมถึงซีเอ็นเอ็น และนิวยอร์กไทม์ส รายงานข่าวดังกล่าวโดยอ้างแหล่งข่าวใกล้กับการตัดสินใจ หลังจาก ไบเดน เปิดเผยก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (7 ธ.ค.) ว่าเขาได้ตัดสินใจแล้วและจะแถลงยืนยันในวันศุกร์ (11 ธ.ค.) ทั้งนี้ การเสนอชื่อบุคคลใดดำรงตำหน่งรัฐมนตรีจำเป็นต้องผ่านการรับรองจากวุฒิสภาเสียก่อน
ออสติน รับราชการทหารในกองทัพมานานกว่า 4 ทศวรรษ โดยเขาจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ จากนั้นก็ได้รับมอบหมายหน้าที่ต่างๆ นานาไล่ตั้งแต่เป็นผู้บังคับการกองทหาร ดูแลกลุ่มโลจิสติกส์ และรับผิดชอบด้านเกณฑ์ทหาร จนกระทั่งก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงในเพนตากอน
ในเดือนมีนาคม 2003 เขาเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3 เมื่อครั้งกรีฑาทัพจากคูเวตเข้าสู่แบกแดด ส่วนหนึ่งในปฏิบัติการบุกอิรักของกองทัพสหรัฐฯ จากนั้นในช่วงปลายปี 2003 จนถึงปี 2005 เขาถูกส่งไปประจำการในอัฟกานิสถาน รับผิดชอบบัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจร่วมผสม 180 ในปฏิบัติการที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อหาทางคืนเสถียรภาพแก่สถานการณ์ความมั่นคงในอัฟกานิสถาน
ต่อมาในปี 2010 เขาก้าวเป็นผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ในอิรัก และอีก 2 ปีต่อมาได้เลื่อนขั้นเป็นผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางแห่งกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติการทั้งหมดของเพนตากอนในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน
ออสติน เกษียณอายุจากกองทัพในปี 2016 และเข้าร่วมเป็นบอร์ดบริหารของเรย์เธียน เทคโนโลยีส์ บริษัทคู่สัญญารายใหญ่ที่สุดของเพนตากอน
ทั้งนี้ ออสตินจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบเป็นกรณีพิเศษจากวุฒิสภา เนื่องจากตามกฎหมายของรัฐบาลกลางแล้ว ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารจำเป็นต้องเว้นระยะ 7 ปีหลังจากเกษียณอายุ ถึงจะมีสิทธิดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม
ก่อนหน้านี้ข้อกำหนดดังกล่าวได้รับการละเว้นมาแล้ว 2 ครั้ง โดยหนล่าสุดก็คือนายพลจิม แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมคนแรกในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นสมาชิกวุฒิสภาหลายคนแสดงความไม่พอใจ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับมุมมองของทรัมป์ที่มีต่อกองทัพ และหลายคนบอกว่าไม่อยากให้การละเว้นลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก
ออสติน จะเข้ามาดูแลรับผิดชอบกำลังพลในประจำการของกองทัพสหรัฐฯ 1.2 ล้านนาย ซึ่งในนั้นราว 16% เป็นคนผิวสี อย่างไรก็ตาม จำนวนทนายทหารผิวสีดูจะมีได้สัดได้ส่วนในชั้นยศล่างๆ และมีเพียงเล็กน้อยที่ประสบความสำเร็จในตำแหน่งบัญชาการระดับสูง
ประเด็นนี้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ครั้งที่นายทหารทั้งชายและหญิงอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน แสดงจุดยืนสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวชีวิตคนดำมีค่า (Black Lives Matter) ต่อต้านการเหยียดผิวและพฤติกรรมป่าเถื่อนของตำรวจ
(ที่มา : เอเอฟพี)