นักบวชในพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี หรือแม้กระทั่งสามเณร จะต้องมีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ 2 ด้านคือ
1. ด้านภายนอก จะต้องโกนผม โกนคิ้ว โกนหนวด นุ่งเหลืองห่มเหลือง สำรวมกาย และวาจา ฉันอาหาร 2 มื้อ คือ เช้ากับกลางวัน (ก่อนเที่ยง)
2. ภายในจิตใจ จะต้องถือศีลเพื่อควบกิเลส ซึ่งแสดงออกทางกาย และวาจา ฝึกสมาธิเพื่อกำจัดกิเลสกาย จิตใจ ทำจิตให้สงบไม่ฟุ้งซ่านตามกิเลสซึ่งเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ และภาวนาวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญากำจัดกิเลส ซึ่งนอนเนื่องในสันดาน
ดังนั้น ในทันทีที่เข้ามาบรรพชาอุปสมบท จะต้องเตือนตนเองตลอดเวลา ด้วยบรรพชิตอภิญหปัจจเวกขณ์ 10 ประการดังต่อไปนี้
1. เราถึงความมีเพศแตกต่างจากคฤหัสถ์แล้ว
2. เราเลี้ยงชีพเนื่องด้วยผู้อื่น
3. เรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นพึงทำ (ซึ่งแตกต่างจากคฤหัสถ์)
4. ตัวเราเองยังติเตียนตัวเองด้วยศีลได้อยู่หรือไม่
5. เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้เป็นวิญญูชนยังติเตียนเราโดยศีลได้อยู่หรือไม่
6. เราจักพลัดพรากจากของรัก ของชอบใจทั้งสิ้น
7. เรามีกรรมเป็นของตนดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น
8. วันคืนล่วงไปเราทำอะไรอยู่
9. เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่
10. คุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่เราบรรลุแล้ว มีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง
ธรรมะ 10 ประการข้างต้น คือ ข้อเตือนใจตนเองที่นักบวชต้องถามตนเองเป็นประจำ เพื่อมิให้ลืมตัว และกระทำในสิ่งที่นักบวชไม่พึงกระทำ
ดังนั้น เมื่อผู้อ่านเห็นภิกษุสามเณรเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองร่วมกับคฤหัสถ์ พึงเข้าใจเถอะว่านั่นคือ ผู้ที่บวชเพียงกาย คือ นุ่งเหลือง ห่มเหลือง แต่มิได้บวชใจ เพราะยังมีการแสดงออกทางกาย และวาจา เฉกเช่นคฤหัสถ์และนักบวชเยี่ยงนี้ มิใช่เนื้อนาบุญของโลก เพราะผู้ที่จะเป็นเนื้อนาบุญได้ จะต้องมีศีลสมบูรณ์จึงจะทำให้ผู้ที่มาทำทานคือถวายปัจจัย 4 แล้วได้บุญมาก ตามนัยแห่งพุทธพจน์ที่ว่า ทานที่บริจาคแล้วให้ผลเป็นเลิศ จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการคือ
1. เขตตสมบัติ คือ ปฏิคาหก หรือผู้รับทานเป็นผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยคุณธรรม
2. ไทยธรรมสมบัติ คือ สิ่งที่ให้เป็นของบริสุทธิ์ได้มาโดยชอบธรรม และสมประโยชน์แก่ผู้รับ
3. จิตตสมบัติ คือ ให้ด้วยความตั้งใจ มีเจตนาบริสุทธิ์ 3 กาลคือ ก่อนให้ยินดี ขณะให้จิตผ่องใส และให้แล้วใจเบิกบาน
โดยนัยแห่งการทำทานข้างต้น ท่านผู้อ่านจะต้องเลือกทำบุญกับผู้มีศีล จึงจะได้บุญมาก
แต่มิได้หมายความว่า ท่านเห็นพระเณรที่ประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนแล้วเลิกทำบุญ เพราะภิกษุ สามเณรที่ท่านเห็นในที่ชุมนุม มีเพียงส่วนน้อย และจะต้องเข้าใจว่านักบวชในพุทธศาสนามิใช่สถาบันศาสนา ซึ่งได้แก่คำสอนและมีองค์การสงฆ์เป็นผู้สืบทอดในการปกครอง ดังนั้น เมื่อภิกษุรูปใดรูปหนึ่งทำไม่ดีไม่งาม ก็เรื่องของปัจเจกมิใช่เรื่องขององค์กรโดยรวม และมิใช่ตัวศาสนาเป็นเพียงผู้สืบทอดเท่านั้น
อีกประการหนึ่ง นักบวชที่ทุศีลหรือล่วงละเมิดศีล จะอยู่ในธรรมวินัยของพระพุทธองค์ไม่ได้ จะต้องออกไปเฉกเช่นสันทรายภายในท้องทะเล จะต้องถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่ง