พบข้อมูลและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานในโครงการจัดบริการคัดกรองสุขภาพจิตเด็กอายุ 6-15 ปี ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร (สสจ.ยโสธร) ว่าอาจเป็นการนำรายชื่อเด็กเข้ามาสวมเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการ โดยที่เด็กเหล่านั้นไม่ได้เข้าร่วมโครงการจริง
รายงานพิเศษ
เบื้องต้น มีคำยืนยันจาก “มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน” หรือ “บ้านโฮมฮัก” ซึ่งดูแลเด็กที่ป่วยใน จ.ยโสธร ซึ่งยืนยันว่า มีรายชื่อเด็ก 14 คน จากบ้านโฮมฮัก เข้าร่วมโครงการ ทั้งที่ไม่เคยได้รับการประสานงาน และยืนยันว่าไม่เคยส่งเด็กเข้าร่วมโครงการใดๆ ของสาธารณสุข และมีหลักฐานด้วยว่า โครงการนี้ปลอมลายเซ็นเด็กที่มีชื่อร่วมโครงการ
ภิกษุณีสุธาสินี น้อยอินทร์ ประธานมูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งดูแลบ้านโฮมฮัก จ.ยโสธร เปิดเผยกับทีมข่าว MGR Online ว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา ได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงในเอกสารการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการจัดบริการคัดกรองสุขภาพจิตในกลุ่ม (6-15 ปี) ของ สสจ.ยโสธร
โดยต้องการทราบว่ามีเด็กจำนวน 14 คน จากบ้านโฮมฮักเข้าร่วมโครงการด้วยตามที่มีรายชื่อจริงหรือไม่ ทำให้ทางบ้านโฮมฮักยืนยันกับทาง สตง. ไปว่า เด็กทั้ง 14 คนที่มีรายชื่อ ไม่เคยถูกส่งไปเข้าร่วมโครงการใดๆ ของทาง สสจ.ยโสธร อย่างแน่นอน
เพราะตลอด 30 ปีที่ก่อตั้งมูลนิธิมา ทางบ้านโฮมฮัก ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเด็กที่ป่วยด้วยอาการต่างๆ จนไม่สามารถเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้ มีแนวทางในการปกป้องเด็กกลุ่มนี้มาโดยตลอด จึงไม่เคยส่งเข้าร่วมโครงการใดๆ เลย แม้แต่การส่งไปเรียนหนังสือก็ต้องเลือกโรงเรียนที่เหมาะสม หรือการนำเด็กไปโรงพยาบาล ก็จะต้องนำไปโรงพยาบาลเอกชนที่ จ.อุบลราชธานี
ภิกษุณีสุธาสินี บอกด้วยว่า ในช่วงที่ สตง. ลงมาตรวจสอบ ได้ให้ทางบ้านโฮมฮัก ตรวจสอบลายมือชื่อของเด็กที่มีรายชื่อเบิกจ่ายงบประมาณ ว่าเป็นลายมือของเด็กเหล่านี้จริงหรือไม่ เพราะทุกลายมือชื่อที่อยู่ในเอกสารการเบิกจ่าย ถูกลงชื่อด้วยลายมือที่คล้ายกันมาก ทั้งน้ำหนัก เส้น และรูปแบบการเขียน
ทางมูลนิธิซึ่งมีลายมือชื่อของเด็กที่ต้องลงชื่อทุกวันก่อนไปโรงเรียนอยู่แล้ว จึงนำมาให้ สตง.ใช้เปรียบเทียบ และนำเด็กกลุ่มนี้มาเขียนชื่อให้ดูด้วยตัวเอง ก็พบว่า ลายมือชื่อในเอกสาร เป็นลายมือชื่อที่ถูกปลอมขึ้นมาอย่างแน่นอน จึงไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่า โครงการนี้ มีการแอบอ้างนำชื่อเด็กทั้ง 14 คน ไปเข้าร่วมโครงการ และมีการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยที่มูลนิธิไม่รับทราบ และเด็กทุกคนไม่ได้ไปเข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้ ได้แจ้งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศูนย์ดำรงธรรมด้วย
“ที่เราแจ้งความ ไม่ได้คิดว่าจะไปเรียกร้องอะไรกับทาง สสจ.ยโสธร แต่ไปแจ้งเพื่อจะบอกไปยังทุกหน่วยงานของรัฐว่าไม่ควรทำเช่นนี้ เพราะการนำชื่อเด็กไปแอบอ้าง ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และยังเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก ทั้งที่เด็กๆเหล่านี้เป็นเด็กที่มีอาการป่วยอยู่แล้ว และที่ผ่านมาเด็กๆต้องดิ้นรนในการช่วยเหลือตัวเอง ส่วนทางมูลนิธิก็เสียภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมาโดยตลอด และการที่เราเห็นเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทั้งโครงการนี้ซึ่งมีรายชื่อเด็กมากกว่าร้อยคน ซึ่งมีลายมือชื่อในเอกสารคล้ายกัน หรืออาจมีโครงการอื่นๆ มีคนของรัฐนำชื่อเด็กไปทำเช่นนี้อีกหรือไม่” ภิกษุณีสุธาสินี กล่าว
ทางบ้านโฮมฮัก ยังบอกด้วยว่า เด็กทั้ง 14 คน มีที่อยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกัน คือ ที่บ้านโฮมฮัก จ.ยโสธร แต่ทางบ้านโฮมฮักไม่เคยไปกรอกเอกสารใดๆกับทางสาธารณสุขจังหวัด เหตุใดในเอกสารการเบิกจ่ายงบประมาณ จึงมีรายชื่อ ที่อยู่ และเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ของเด็กปรากฎออกมา จึงตั้งข้อสังเกตว่า มีหน่วยงานใดให้ข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กกับผู้จัดทำโครงการนี้หรือไม่
ทีมข่าว MGR Online ตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายงบประมาณ “โครงการจัดบริการคัดกรองสุขภาพจิต ในกลุ่ม (6-15ปี) ของ สสจ.ยโสธร” พบว่า เอกสารอ้างถึงผู้จัดงาน คือ “กลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อสุขภาพจิตและยาเสพติด สสจ.ยโสธร” จัดทำโครงการโดยใช้งบประมาณในปี 2562 จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในวงเงิน 1 แสนบาท โดยจัดกิจกรรม 2 รอบ ในวันที่ 5 ,7 ,14 ,20 ,25 มีนาคม 2562
รอบแรก ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 11 มีนาคม 2562 ระบุว่า จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 จำนวนเงิน 69,750 บาท ส่วนนี้ไม่พบเอกสารที่มีรายละเอียดอื่นๆ
ส่วนรอบที่ 2 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 2 จำนวนเงิน 3 หมื่นบาท มีรายละเอียดตามเอกสารระบุจะจัดขึ้นในวันที่ 20 มีนาคม 2562 ที่โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว และวันที่ 25 มีนาคม 2562 ที่โรงพยาบาลป่าติ้ว จ.ยโสธร มีกิจกรรมที่อ้างตามเอกสาร
ในการจัดกิจกรรมครั้งที่ 2 งบประมาณ 3 หมื่นบาท เอกสารระบุว่า จัดกิจกรรมคัดกรองเด็ก 4 กลุ่มโรค (ADHD, LD, ID และ ASD) เบิกจ่ายค่าอาหารกลางวันเด็ก 84 คน คนละ 100 บาท 2 วัน เป็นเงิน 16,800 บาท, ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม มื้อละ 25 บาท จำนวน 84 คน 2 วัน วันละ 2 มื้อ เป็นเงิน 8,400 บาท และค่าวิทยากร 2 คน 2 วัน เป็นเงิน 4,800 บาท รวมเป็นเงิน 3 หมื่นบาทพอดี โดยมี “นางชนัญชิดา จุฑาสงฆ์ ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ” เป็นผู้ลงนามขออนุมัติ “เบิกจ่ายเงินโครงการ”
แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ เอกสารขออนุมัติเบิกจ่ายเงินโครงการ ฉบับนี้ ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ทั้งที่โครงการนี้อ้างว่าดำเนินการไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 แต่กลับมาขออนุมัติเบิกจ่ายข้ามปีงบประมาณ
โดยมีผู้ลงนามอนุมัติโครงการ คือ “นายจักราวุธ จุฑาสงส์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ยโสธร” ซึ่งเพิ่งโอนย้ายมาจากจังหวัดอื่นเมื่อเดือนตุลาคม 2562 และตรวจสอบพบว่า นายจักราวุธ และนางชนัญชิดา ผู้อนุมัติและผู้ขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน มีสถานะเป็น สามี - ภรรยา ตามกฎหมาย จึงมีข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงทำเรื่องขอเบิกจ่ายเงินล่าช้าไปหลายเดือน และขอเบิกจ่ายข้ามปีงบประมาณ
และเมื่อเข้าไปสำรวจรายชื่อเด็กตามเอกสารที่ถูกระบุว่าเป็นเด็กที่เข้าร่วมโครงการ ในวันที่ 25 มีนาคม 2562 ที่โรงพยาบาลป่าติ้ว นอกจากมีรายชื่อเด็ก 14 คน จากบ้านโฮมฮักที่ยืนยันว่า ไม่ได้มาร่วมโครงการอย่างแน่นอนแล้ว ยังพบข้อพิรุธอื่นอีก เช่น โครงการนี้ถูกระบุว่า มีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กอายุระหว่าง 6-15 ปี แต่ในรายชื่อ 22 คนแรก กลับเป็นเด็กที่มีอายุระหว่าง 2-5 ปี อายุน้อยที่สุดคือ 2 ปี 5 เดือน 7 วัน เท่านั้น แต่ในช่องลายมือชื่อของเด็กทั้ง 22 คน กลับลงลายมือชื่อเป็นลายมือผู้ใหญ่อย่างสวยงาม โดยเมื่อมาถึงลำดับที่ 22 แล้ว ยังกลับไปลำดับที่ 1 ใหม่ และจำนวนรายชื่อเด็กในเอกสาร ยังไม่ตรงกับจำนวน 84 คน ตามโครงการ โดยส่วนใหญ่ลงลายมือชื่อคล้ายกัน