xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ทุ่ม6หมื่นล้านประกันราคาข้าว-ยางพารา - ต่อยอดคนละครึ่ง-เที่ยวด้วยกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360 -ครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้ “ข้าว-ยางพารา” ปี 2 วงเงินรวม 61,193 ล้านบาท เผยข้าวใช้เงื่อนไขเดิม ประกัน 5 ชนิด พร้อมมีมาตรการเสริม ดึงผลผลิตส่วนเกิน เป้า 7 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนเงินค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพ จ่ายก่อนไร่ละ 500 ไม่เกิน 20 ไร่ ขณะที่ยางพารา ประกันยางแผ่นดิบ 60 บาท น้ำยางสด 57 บาท ยางก้อนถ้วย 23 บาท พร้อมสั่งศึกษาขยายวง 2 มาตรการ “คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน”หลังกระแสนิยมดี

วานนี้ (3 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.สัญจร ที่จ.ภูเก็ต ว่า ได้มีการอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 และโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี63-64 รอบที่ 1 ประกอบด้วยมาตรการอื่นๆ วงเงินรวม 61,193.96 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท ส่วนโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวฯ และมาตรการคู่ขนาน วงเงิน 51,248.14 ล้านบาท

ขณะนี้ เราโชคดีที่ราคายางพาราเริ่มดีขึ้น มีเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 1.8 ล้านราย ซึ่งโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวน มีความมั่นใจในการประกอบอาชีพ และลดความเสี่ยงเรื่องการขาดรายได้จากการปลูกยางพารา

ส่วนกรณีของชาวนาทั่วประเทศ มีประมาณ 4.6 ล้านครัวเรือน รัฐบาลได้อนุมัติการช่วยเหลือชาวนาไปแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบที่ 1 วงเงิน 18,096 ล้านบาท 2. มาตรการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาในช่วงเก็บเกี่ยว 5,105.26 ล้านบาท 3. การสนับสนุนค่าบริหารจัดการพัฒนาคุณภาพผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563-2564 วงเงิน 28,046.82 ล้านบาท

สิ่งที่สำคัญที่สุดวันนี้ คือ เราจะต้องทำอย่างไรให้ธุรกิจที่ยังมีโอกาส มีสภาพที่ไม่ใช่เรื่องของการบริการท่องเที่ยวอย่างเดียว สามารถที่จะเดินต่อได้ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน ทางรายได้ มีเงินอยู่ในระบบหมุนเวียน ทั้งนี้ สิ่งที่ตนได้รับแจ้งมา จากมาตรการของรัฐบาลคือเรื่องของโครงการ “คนละครึ่ง”และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”ซึ่งได้รับความนิยม จึงได้สั่งการว่าในเมื่อวงเงินเรายังเหลืออยู่ ให้ลองดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป จะปรับปรุงอะไรให้มากขึ้นได้หรือไม่ มีมาตรการอื่นเสริมหรือไม่ในตรงนี้

"ที่ผ่านมา เป็นเรื่องของรัฐกับประชาชนช่วยกัน ต่อไปนี้อาจมีภาคเอกชนธุรกิจมาร่วมมือกันด้วยได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสถานประกอบการ หรือสายการบินต่างๆ ที่จะมาร่วมในโครงการเหล่านี้ ซึ่งรัฐบาลก็จะหามาตรการที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ได้มีการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น"

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รายละเอียดโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2 ได้กำหนดราคาประกันและปริมาณข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนต.ค.2563-พ.ค.2564

ส่วนมาตรการคู่ขนานที่จะดำเนินการ ได้แก่ 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เกษตรกรจะได้รับสินเชื่อไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และเกษตรกรที่มียุ้งฉาง จะได้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท กรณีสหกรณ์จะได้รับตันละ 1,000 บาท และสมาชิกจะได้รับ ตันละ 500 บาท 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดยเสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 และ 3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก 2-6 เดือน ได้รับชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 โดยมีเป้าหมายดูดผลผลิตช่วงออกสู่ตลาดมากเป้าหมาย 7 ล้านตัน

สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 จะเริ่มเดือนพ.ย.2563 โดยในช่วงแรกจะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ในรอบแรก อัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ และในช่วงต่อไปจะได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอ ครม.เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม

ทางด้านโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางปี 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท ได้กำหนดราคาประกันรายได้ ยางแผ่นดิบ กิโลกรัม (กก.) ละ 60 บาท น้ำยางสด กก.ละ 57 บาท ยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ ให้คนกรีดร้อยละ 40 และเจ้าของสวนร้อยละ 60 วงเงิน 10,042 บาท ระยะเวลาดำเนินการเดือนต.ค.2563-มี.ค.2564

ทั้งนี้ ในส่วนของยาง มีมาตรการเสริม คือ 1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ 2.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินเดิม) วงเงินรวม 25,000 ล้านบาท 4.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) เป็นการเพิ่มกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง ในสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้วงเงินเดิมของโครงการ 20,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น