xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่องกระแสศรัทธา “เงินทอดกฐิน” วิถีบุญที่เปลี่ยนไปตามบริบทสังคม?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังออกพรรษาเป็นช่วงงานบุญกฐิน วัดวาอารามหลายแห่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก เนืองแน่นด้วยสาธุชนร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน ยิ่งวัดดังๆ มักจัดพิธียิ่งใหญ่ ผู้คนแห่แหนร่วมบุญ ดาราคนดังในวงสังคมตบเท้าร่วมงานเพียบ เงินบุญกฐินสะพัดนับสิบๆ ล้าน ต่างกันลิบลับกับวัดโนเนมไร้ชื่อเสียง หลายแห่งไม่มีแม้แต่คนจองเป็นเจ้าภาพกฐินด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่างวัดดังวัดแรก ยอดบุญกฐินสามัคคี “วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่)”  จ.นครศรีธรรมราช พุ่งสูงกว่า 56 ล้านบาท โดยเจ้าอาวาสฯ บอกว่าปัจจัยที่เกิดขึ้นจากบริวารกฐิน ทางวัดฯ จะนำไปเพื่อสร้างอาคารกุฏิที่พักพระสงฆ์ และสมทบสร้างอุโบสถ และพัฒนาเสนาสนะของวัดเจดีย์ต่อไป

หรือที่เรียกเสียงฮือฮาไม่แพ้กัน คือ  “วัดท่าไม้”  จ.สมุทรสาคร กับงานกฐินสามัคคีสำเร็จพระนิพพานถวายโบสถ์สุดอลังการยอดเงินบุญล้นทะลัก ที่มีเจ้าภาพต้นบุญกฐินเป็นคนดังในวงสังคม อย่าง มล.ปิยาภัสร์ - จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ขึ้นเสลี่ยงแห่ถวายกฐินบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น เช่นเดียวกับ  วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ที่ยังคงจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เช่นเดิม

ห้วงเวลาเดียวกัน มีข่าวท่านเจ้าอาวาสแห่ง  “วัดท่ามะเฟือง” จ.ราชบุรี ขณะร่วมประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้ร้องไห้ออกมาเพราะไม่มีใครจองเป็นเจ้าภาพกฐิน ด้วยความรู้สึกเศร้าใจถ้าไม่มีกฐิน พระในวัดก็เท่ากับขาดพรรษา และคงไม่มีปัจจัยไปบำรุงวัด จนเกิดกลายเป็นดรามาย่อมๆ เพราะมีภาพเปรียบเทียบชัดระหว่างวัดดังๆ กับวัดโนเนมไร้ชื่อเสียง แต่อย่างไรก็ดีหลังตกเป็นข่าวครึกโครมเพียงข้ามวัน เกิดกระแสศรัทธาไหลหลาก สาธุชนแห่งจองโรงทานกฐินกว่า 300 ร้าน ยอดเงินทำบุญพุ่งกว่า 7 ล้าน


 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การทำบุญกฐินในปัจจุบันเน้นไปที่เรื่องของจำนวนเงิน หรือการรวบรวมเงินปัจจัยทำบุญ แจกซองกฐินชักชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญ สิ่งเหล่านี้ดูจะผิดเพี้ยนไปจากเจตนาที่แท้จริงของหลักพระธรรม เพราะตามประเพณีดั้งเดิมหลังจากวันออกพรรษาจะเข้าสู่ฤดูกาลการทำบุญอย่างการถวายผ้ากฐินแด่พระสงฆ์ เพื่อให้พระมีผ้าไตรจีวรนุ่งห่มอย่างพอเพียง ไม่ได้มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องแม่แต่น้อย 

ตามพระธรรมวินัยระบุว่า เรื่องกฐินเป็นเรื่องของผ้า ไม่เกี่ยวกับเงินทอง และสำหรับเพศบรรพชิตเงินทองเป็นสิ่งที่เป็นอกัปปิยะเป็นสิ่งไม่เหมาะสม

คำว่า “กฐิน” มีอยู่ 2 ความหมาย กฐินตามพระวินัย หมายถึงผ้าซึ่งเป็นผ้าสำหรับครองของพระภิกษุ เป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในบรรดา 3 ผืน (สบง หรือผ้านุ่ง, จีวร หรือ ผ้าห่ม, และสังฆาฏิ หรือ ผ้าซ้อนห่ม ผ้าพาด) และกฐินเป็นชื่อไม้สะดึง สำหรับขึงผ้าให้ตึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการเย็บผ้า

ตามประเพณีหลังวันออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นช่วงดูกาลทอดกฐิน หรือการถวายผ้ากฐิน จุดมุ่งหมายเพื่อถวายผ้าไตรจีวรแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้มีเครื่องนุ่งห่มอย่างเพียงพอ

ถามว่าทำไมต้องทอดกฐินหลังวันออกพรรษา ย้อนกลับไปดูในพุทธประวัติและพุทธบัญญัติต่างๆ ของพระพุทธเจ้า บันทึกไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ชื่อมหาวัคค์ เรื่อง กฐินขันธกะ (หมวดว่าด้วยกฐิน) ความเป็นมาตามตำนานเล่าว่า มีภิกษุจากเมืองปาฐา จำนวน 30 รูป เดินทางมาแรมไกล หวังว่าจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตอนนั้นจวนเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษา ไม่สามารถเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษา ครั้นเมื่อออกพรรษา ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทันที แต่ในช่วงนั้นยังไม่หมดฤดูฝน ทำให้จีวรเปียกชุ่มด้วยน้ำ เกิดความลำบาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภในเรื่องนี้ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว ทำการกรานกฐินเพื่อเปลี่ยนผ้าในช่วงจีวรกาล ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้ว 1 เดือน

โดยการถวายผ้ากฐินมีอยู่ 3 ลักษณะใหญ่ๆ ได้แก่ 1.  กฐินหลวง  ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะและเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ผู้แทนเสด็จฯ แทนพระองค์นำไปถวายยัง 16 พระอารามหลวงสำคัญ

2.  กฐินพระราชทาน โดยปัจจัยต่างๆ ผ้าพระกฐิน บริขาร และบริวารกฐิน เป็นของหลวง แต่เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กร หรือบุคคลที่สมควร ขอรับพระราชทานอัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่างๆ นอกเหนือจาก 16 พระอารามหลวงของงานกฐินหลวง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 265 พระอาราม

และ 3.  กฐินราษฎร์ หรือ กฐินทั่วไป การถวายผ้ากฐินที่พุทธศาสนิกชนทั่วไป มีความประสงค์จะนำไปถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดใดวัดหนึ่งที่เป็นวัดราษฎร์ ทั้งนี้ หากในหลวง เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน แด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในวัดราษฎร์ จะเรียกว่าพระกฐินต้น

จะเห็นว่าประวัติตามเป็นมาของการทอดกฐิน หรือถวายผ้ากฐิน ไม่มีเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง แตกต่างจากงานบุญกฐินที่เน้นไปที่เงินทอง นิยมแจกซองเรี่ยไร่เงินทำบุญ รวบรวมเงินเพื่อถวายวัด จัดพิธีกันอย่างเอิกเกริก กล่าวได้ว่าการแจกซองกฐินเป็นสิ่งไม่ถูกต้องตามกฐินในพระธรรมวินัย เพราะกฐินเป็นเรื่องของการถวายผ้าแด่พระภิกษุเท่านั้น

บทความเรื่อง “กฐินเงิน ไม่ได้บุญ ทำลายพระพุทธศาสนา”  โดย อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ นักบรรยายธรรม มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.) เผยแพร่เนื้อหาสร้างความเข้าใจประเพณีหลังออกพรรษาอย่างการถวายผ้ากฐิน ตอนหนึ่งความว่า

“กฐินเป็นเรื่องของผ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเงินทอง ตามพระธรรมวินัย และชาวพุทธไม่รู้ว่าผ้าป่า คืออะไร และ ไม่เข้าใจว่าภิกษุห้ามรับเงินและทอง พระพุทธเจ้าปรับอาบัติและติเตียนภิกษุรับเงินทอง แม้จะมาในรูปกฐิน หรือ ผ้าป่า ปักเงินมาถวายวัด คฤหัสถ์สำคัญว่าได้บุญ แต่ทำลายพระภิกษุผู้รับเงินนั้น ส่วน พระภิกษุ ใช้คำว่าบุญ หลอกชาวบ้าน เรี่ยไรเงิน ด้วยคำว่ากองกฐินสร้างโบสถ์ ผ้าป่าสามัคคี สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างสำนักปฏิบัติธรรม สร้างห้องน้ำ สร้างโรงเรียน ไม่ใช่หน้าที่พระภิกษุ พระภิกษุเรี่ยไรเงิน รับเงิน ต้องอาบัติ เป็นภิกษุมิจฉาชีพ อลัชชี พระพุทธเจ้าทรงติเตียน ทั้งคฤหัสถ์และภิกษุผู้ไม่รู้ ก็สามัคคีกันช่วยกันทำลายพระพุทธศาสนา เพราะเหตุจากความไม่รู้และไม่ศึกษาพระธรรม แม้คำว่า ผ้าป่า คือ อะไร ภิกษุไม่พึงรับและยินดีในเงินและทอง พระพุทธเจ้าตรัสคำนี้ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร สนใจแต่ คำว่า ได้บุญ แต่ ไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจว่าสิ่งใดควร ไม่ควร”

พิจารณาตามพระธรรมวินัยแล้ว เรื่องกฐินเป็นเรื่องของผ้าไม่เกี่ยวกับเงินทอง เพราะเงินทองเป็นสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ ไม่เหมาะไม่ควรกับเพศบรรพชิต ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้

ทั้งนี้ การทอดกฐินปัจจุบันเป็นพิธีกรรมที่มุ่งเน้นไปที่การเรี่ยไรบริจาคเงินเป็นสำคัญ มีเป้าหมายการสร้างศาสนวัตถุบำรุงวัดเป็นหลัก ทำให้หัวใจของการทอดกฐินผิดเพี้ยนไป สร้างความเข้าใจผิดเป็นการทำลายศาสนากลายๆ เพราะกฐินเป็นเรื่องการถวายผ้าไตรจีวรเครื่องนุ่งห่มแด่สงฆ์ กฐินไม่ใช่การทำบุญเรี่ยไร่เงิน


 สุดท้ายอาจต้องกลับมาทบทวนกันสักหน่อยว่า การทอดกฐินนั้นควรแยกเรื่องการทอดกฐิน ออกจากการเรี่ยไรเงินเพื่อสร้างศาสนาสถานบำรุงวัด เพื่อให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยหรือไม่? หรืออะลุ่มอล่วยไปตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป? เพราะเป็นเรื่องของ “ศรัทธา” และ “ความเชื่อ” ที่สืบต่อกันมานานจนยากที่จะแก้ไข 


กำลังโหลดความคิดเห็น